‘สารพิษ’ ภัยร้ายต่อจิต

by kadocom @10-3-58 10.19 ( IP : 1...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x333 pixel , 27,831 bytes.

เหตุการณ์การทำร้ายตนเองและผู้อื่นที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้  ส่วนหนึ่งมาจากผู้มีความผิดปกติทางจิต  บางรายมีสภาวะจิตผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด  หรืออาจเกิดจากความเจ็บป่วย  แต่มีจำนวนไม่น้อยที่มีอาการมาจากการที่ร่างกายได้รับสารที่มีผลต่อจิต


มันอยู่ไหนนะ  เจ้าสารพิษตัวร้าย


มีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อาทิ ใบกระท่อมเห็ดเมา ใบฝิ่น (ใบยาสูบที่นำมาผลิตเป็นส่วนประกอบของบุหรี่ก็มีสารพิษนะครับ)

ส่วนสารสังเคราะห์และยา โดยเฉพาะยา อาจเป็นยาที่ใช้ในการรักษาพยาบาลทั่วไป เช่น  ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาโรคจิตประสาท

สารสังเคราะห์ที่พบบ่อย คือ สารกล่อมประสาท  ยากระตุ้นประสาท  ยาเสพติดชนิดกินหรือฉีด และยารักษาโรคที่นำมาใช้ผิดวิธีเป็นต้น


สารที่มีผลต่อจิตประสาท แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่  3  กลุ่ม  คือ


1.สารกระตุ้นประสาท ที่พบบ่อย คือ ยากลุ่มแอมเฟตามีนหรือยาบ้า  ยาอี ยาไอซ์ ยาเลิฟ ซึ่งเป็นสารที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกัน ออกฤทธิ์ต่อประสาทคล้าย ๆ กัน โดยกระตุ้นให้ไม่ง่วงนอน กระฉับกระเฉง มีแรงทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน รู้สึกเป็นสุข สนุกสนานมากกว่าปกติ ผลกระทบ อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวายคลุ้มคลั่ง จนถึงชักเกร็งกระตุกได้ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นวงการแพทย์พบว่ายาลดน้ำหนัก (กลุ่มเฟนเทอมีน)  ที่คนทั่วไปนิยมใช้ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงและมีผลกระทบคล้าย ๆ กับผู้ได้รับสารกระตุ้นประสาทข้างต้น


2.สารกดประสาท ที่พบบ่อย คือ ยากลุ่มยานอนหลับต่าง ๆ  ยารักษาโรคจิตประสาทซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะกดประสาทร่วมด้วยยารักษาโรคลมชักบางตัว  นอกจากนี้ยังรวมถึงยาเสพติดเช่น ใบกระท่อม ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ผู้ที่ได้รับสารดังกล่าวจะง่วงนอน  เคลิ้มฝัน เห็นภาพที่มีความสุข รู้สึกร่างกายเบาสบาย  หากได้รับผลต่อเนื่องทำให้เกิดการติดยา  การกดประสาทลึกเกินไปจนกดการหายใจ การเกิดอุบัติเหตุจากการง่วงนอน  การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการใช้ยาในรูปยาฉีดเข้าสู่ร่างกาย  การตรวจสอบจากการตรวจปัสสาวะ  และตรวจเลือดสามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยชนิดของสารดังกล่าว


3.สารหลอนประสาท พบใน เห็ดเมา แอลกอฮอลล์ สาร GHB (Gamma  hydroxybutylic  acid) และโคเคน ผู้ได้รับสารจะมีอาการจิตหลอน เห็นภาพเสมือนจริง ภาพผิดธรรมชาติ ภาพหน้ากลัว รู้สึกตนเองใหญ่หรือเล็กกว่าปกติ จำสิ่งไปทำมาไม่ได้ หลงลืม ส่งผลให้เกิดอันตรายทั้งจากกรณีทีไปทำร้ายผู้อื่น หรืออาจเกิดความกลัวและหนีจากความกลัวจนเกิดอุบัติเหตุจากการปีน หกล้ม กระโดดจากที่สูง และอาจการติดเชื้อทางกระแสเลือดในกรณีใช้ฉีดสารเข้าทางกระแสเลือด


วิธีรักษาเป็นอย่างไรนะ


โดยปกติหากเกิดกรณีฉุกเฉิน  จะต้องช่วยให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะสงบ  จากนั้นจะช่วยในเรื่องการหายใจ  ให้ยานอนหลับ ให้ยาระงับชัก  ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร  แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการบำบัดระยะยาว ( สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับสารเสพติด) เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ


การรักษาสามารถทำให้หายขาดหรือไม่ อย่างไรและต้องอาศัยปัจจัยเรื่องใดบ้าง


ปัญหาการรักษาทั้งระยะสั้นและระยะยาวต้องได้รับความร่วมมือจากครอบครัวจึงจะสำเร็จทั้งในด้านการสังเกตอาการของผู้ป่วยและการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ การพัฒนาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะชุมชนที่ผู้ป่วยอยู่อาศัย ก็เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการดูแลรักษา


โปรดจำไว้นะครับ สารหรือยาทุกชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษ ไม่ควรใช้โดยไม่จำเป็น ถ้าจะให้ปลอดภัยแน่ ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนและที่ลืมไม่ได้  คือ ยา สารพิษต่างๆ รวมถึงยาเสพติดมีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา หากบ้านไหนมีลูกหลานตัวเล็ก ๆ อย่าประมาทเผลอวางยา หรือสารที่เป็นพิษในที่ที่พวกเขาเอื้อมถึง เพราะอาจส่งผลต่อชีวิตได้นะครับ



ที่มา : ผศ.นพ.ธีระ  กลลดาเรืองไกร ภ.เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


http://www.thaihealth.or.th/Content/27563-%E2%80%98%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E2%80%99%20%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95.html

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล