คุณรู้จัก `ออร์แกนิก` ดีแค่ไหน?

by kadocom @4-2-58 09.37 ( IP : 1...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x334 pixel , 52,468 bytes.

พูดถึง "ออร์แกนิก" หลายคนคงนึกถึงอาหารสุขภาพที่มีทั้งความสด สะอาด อร่อย  และรู้เพียงว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง แต่ รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบันออร์แกนิกยังสามารถทำเงินให้แก่ผู้ผลิตที่สนใจสินค้าออร์แกนิกได้อย่างมากมายมหาศาล ด้วยการประยุกต์เป็นอาหารแปรรูปหรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก อาทิเช่น เนื้อสัตว์ นม เครื่องสำอาง เสื้อยืด กระเป๋าผ้า เป็นต้น


          แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่าคนส่วนมากรู้จักกับออร์แกนิกแค่ในมุมกว้างเท่านั้น สรรหามาขยาย ฉบับนี้จึงนำสาระดีๆ ตั้งแต่ความรู้เกี่ยวกับชนิดของผัก การเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกที่ไม่ปนเปื้อนสารสังเคราะห์ใดๆ มาบอกต่อกัน เผื่อว่าเวลาไปเดินตามซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดจะได้คุ้นหู คุ้นตา "ออร์แกนิก" กันมากขึ้น


          ผักออร์แกนิก


          ผักออร์แกนิกหรือผักเกษตรอินทรีย์ถือเป็น อีกหนึ่งทางเลือกที่ดีต่อคนรักสุขภาพ เพราะผักออร์แกนิกนั้นมากด้วยคุณประโยชน์ คุ้มค่าสมราคา ปลูกขึ้นมาโดยไม่ผ่านการใส่ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือฮอร์โมนสังเคราะห์เข้ามาปนเปื้อน ซึ่งบ่อยครั้ง ยังเข้าใจกันผิดว่าผักออร์แกนิก ผักปลอดสาร ผักอนามัย และผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นผักชนิดเดียวกัน มีวิธีการปลูกที่เหมือนกัน ขอแจงว่า ผักออร์แกนิกจะไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย เพียงแต่มีการดัดแปลงวิธีการปลูก เช่น ปุ๋ยในดิน การบำรุงดิน ความชื้น น้ำ อากาศ ฯลฯ เพื่อให้พืชเติบโตด้วยวิธีแบบธรรมชาติ 100% ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นให้ผลผลิตต่างๆ ออกตามฤดูกาล ขณะที่ผักปลอดสารจะใช้สารเคมีระหว่างการปลูก แต่จะไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเว้นการให้สารเคมี จึงจัดว่าเป็นผักที่ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้ฆ่าแมลง ผักอนามัยก็ใช้วิธีปลูกที่คล้ายกับผักปลอดสาร เช่นกัน แต่ต่างกันที่ผักอนามัยมีการใช้สารเคมีป้องกันและปราบศัตรูพืช ส่วนผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นผักที่ไร้ดิน ใช้วัสดุในการปลูก เช่น น้ำ ทราย กรวด ดินเผา เป็นต้น ซึ่งพืชจำเป็นต้องพึ่งพาเคมี ไม่ว่าจะทางน้ำหรือทางใบ ผลผลิตที่ได้อาจจะมีสารพิษตกค้างอยู่บ้าง แต่จะไม่เกินมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดเท่านั้นเอง


          ใครที่ชื่นชอบการทานเนื้อ นม ไข่ อยู่เป็นประจำ ก็ไม่ควรพลาดที่จะสร้างสรรค์เมนูในจานให้มีผักผลไม้ออร์แกนิกเสริมอยู่ด้วย เพราะนอกจากจะได้รับทั้งวิตามิน เกลือแร่ เอนไซม์แล้ว ยังสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยง โรคมะเร็ง โรคหัวใจและความดันได้


          สัตว์เลี้ยงออร์แกนิก

          เมื่อเราได้ดินที่อุดมสมบูรณ์จากการปลูกพืช ที่ปราศจากการใช้สารเคมีใดๆ ที่ทำลายหน้าดินและ สิ่งมีชีวิตในดิน หรือปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช แล้ว ระบบการผลิตปศุสัตว์ออร์แกนิกที่คำนึงถึงความสมดุลของ ดิน พืช สัตว์ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบ นิเวศเกษตรในฟาร์มที่เกื้อกูลกัน เพราะการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ พืชและเศษที่เหลือจะเป็นอาหารสัตว์ มูลสัตว์ก็เป็นอาหารของพืชและจุลินทรีย์


          ฉะนั้นการที่เลี้ยงสัตว์ให้อยู่สุขสบายตามธรรมชาติ ใช้มาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์เป็นกรอบนำในการปฏิบัติ จัดสัดส่วนอาหารที่เหมาะสม ปล่อยให้สัตว์ได้สัมผัส ดิน แสงแดด มีคอก โรงเรือนที่ คุ้มแดด คุ้มฝน และความร้อน รวมถึงมีพื้นที่ให้สัตว์ ออกกำลัง จะส่งเสริมสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติ และไม่ทำให้สัตว์เครียด ทั้งนี้เนื้อสัตว์ที่มียีนเครียดแฝงอยู่ เมื่อรับประทานเข้าไปเราจะได้รับสารที่ก่อมะเร็งจากเนื้อสัตว์ดังกล่าว ขณะเดียวกันหากพูดถึงน้ำนมที่ได้จากสัตว์ที่กินหญ้าออร์แกนิก หรือนมออร์แกนิก เมื่อเทียบกับนมทั่วไป ในปริมาณที่เท่ากัน นมออร์แกนิกจะมีความหอมมันกว่า มีคุณค่าและสารอาหารที่สูงกว่า และมีโอเมก้า 3 มากเป็นพิเศษ


          ส่วนการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ออร์แกนิก ยกตัวอย่าง เช่น การเลือกซื้อเนื้อหมูออร์แกนิก ต้องมีสีแดงสด แต่ไม่ใช่แดงเข้ม เนื้อแน่น ดูมีกล้ามเนื้อแข็งแรง เพราะถ้าหากเป็นหมูที่มียีนเครียดเนื้อจะแฉะและซีดดูไม่น่ารับประทาน เป็นต้น หมูออร์แกนิกนั้นสามารถกินได้ทุกส่วน เพราะไม่มีสารตกค้างในร่างกาย สำหรับเนื้อหมูทั่วไปควรเลือกรับประทานเนื้อสันก่อนเป็นอับดับแรก เพราะปลอดภัยจากการฉีดยาทุกชนิด และไม่ควรทานคอหมูเพราะเป็นส่วน ที่ฉีดยามากที่สุด


          ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก

          ปัจจุบันสินค้าออร์แกนิกไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มอาหารเท่านั้น แต่ขยายไลน์สินค้าที่ตรงต่อความต้องการของตลาดมากขึ้น เช่น สินค้าประเภท ชา กาแฟ ผ้าฝ้าย ที่นำไปทำเสื้อผ้าเด็กอ่อน สินค้าบริการเช่น ธุรกิจสปา ร้านอาหาร และเครื่องสำอาง สินค้าสำหรับทำความสะอาดบ้าน เช่น น้ำยาล้างพื้นห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาซักผ้า น้ำยาซักชุดชั้นใน น้ำยาล้างจาน และน้ำยาใช้สำหรับเครื่องครัว เป็นต้น


          ซึ่งขบวนการผลิตทั้งหมดล้วนแล้วแต่ใช้วัตถุดิบที่เป็นออร์แกนิก 100% และปลอดภัยไร้สารสังเคราะห์ที่อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้สินค้าที่สามารถขอ ปิดฉลาก แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิก 100% และสินค้าที่มีส่วนผสมเป็นออร์แกนิกไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ส่วนผลิตภัณฑ์ใดมีส่วนประกอบที่เป็นออร์แกนิกเพียง 70-95% จะไม่สามารถติดฉลากว่า เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก แต่สามารถระบุปริมาณส่วนประกอบออร์แกนิก บนฉลากได้ เช่น ตัวอย่างตรารับรอง


          แม้ว่าสินค้าออร์แกนิกในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม แต่เราก็สามารถเลือกสิ่งที่ดี มีประโยชน์ให้กับตัวเองได้ การกินอาหารและ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิกจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับคนทุกบ้าน เพราะนอกจากจะส่งผลดี ต่อสุขภาพของทุกคนแล้ว ยังสามารถดึงให้คนเข้ามามีส่วนช่วยด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกร และพัฒนาสังคมเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้โดยปริยาย



          ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/Content/27310-%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%20%27%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%27%20%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99.html

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล