​อาการผิดปกติทางจิต ไม่ได้หมายถึงโรคจิตเสมอไป

by cgduke1 @23-7-61 10.15 ( IP : 1...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 639x350 pixel , 63,399 bytes.

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “โรคจิต” ”โรคประสาท” หรือ “ปัญญาอ่อน” เวลามีการพูดถึงคนที่มีพฤติกรรมแปลก ๆ หรือบางคนที่มีรสนิยมชอบอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น อาจจะถูกเรียกด้วยคำเหล่านี้เสียเอง แต่แท้จริงแล้วคำพวกนี้มีความแตกต่างกัน แม้ว่าจะถูกจัดว่าเป็น “ความผิดปกติทางจิตใจ” (Mental Disorder) เช่นเดียวกันก็ตาม


ความผิดปกติทางจิตใจนั้น จากการจัดประเภทโดยองค์การอนามัยโลกครั้งที่ 9 (ICD-9) ในปี พ.ศ. 2522 สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ เพื่อง่ายต่อการวินิจฉัยทางการแพทย์ ได้แก่ โรคจิต โรคประสาทรวมถึงความผิดปกติอื่น ๆ ที่มิใช่โรคจิต และภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียดต่างกันไป ดังต่อไปนี้

1 โรคจิต (Psychoses) เป็นความผิดปกติทางจิต ที่ทำให้บุคคลไม่สามารถดำเนินชีวิตในสังคม แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน อาการทั่วไปมีสามประการ คือการที่บุคลิกภาพเปลี่ยนไป การหลงผิดไม่อยู่ในโลกของความจริง การไม่รู้สภาวะตนเอง ทำให้ต้องใช้ยาในการรักษา ซึ่งจากการแบ่งประเภทครั้งที่ 10 โดยองค์การอนามัยโลก (ICD-10) ได้แบ่งประเภทย่อยออกเป็น

1.1 กลุ่มอาการทางจิตเนื่องจากความผิดปกติของสมอง (Organic, Including Symptomatic, Mental

Disorders) ได้แก่

  • โรคสมองเสื่อม (Dementia) คือการที่โครงสร้างสมองด้านสรีรวิทยาหรือด้านสารเคมีเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สูญเสียความคิดที่ซับซ้อน ความทรงจำ การเรียนรู้ต่างๆ และการตัดสินใจไป แต่ยังรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ปกติ

  • โรคความจำเสื่อมอันไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์หรือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือการเสียความทรงจำระยะสั้นหรือระยะยาว บางครั้งอาจสูญเสียความสามารถในการจำบุคคลและสถานที่ อาจมีอาการสร้างความจำมาต่อเติมส่วนที่จำไม่ได้ (Confabulation)

  • โรคทางจิตเวชเนื่องจากความผิดปกติอื่นของสมอง คือโรคจิตที่มีสาเหตุทางกายภาพอื่น ๆ เช่นฮอร์โมน

  • โรคบุคลิกภาพและพฤติกรรมแปรปรวนเนื่องจากความผิดปกติของสมอง คืออาการผิดปกติทางบุคลิกภาพจากแบบหนึ่งไปอีกแบบเพราะสมองได้รับความกระทบกระเทือน

1.2 กลุ่มโรคจิตเภทและโรคจิตหลงผิด (Schizophrenia, Schizotypal and Delusional Disorders) เป็นอาการที่ยังมีระดับสติปัญญาเป็นปกติ แต่ความคิดและการรับรู้ผิดปกติไป อาจมีอาการหวาดระแวง พฤติกรรมก้าวร้าว ประสาทหลอน หูแว่ว ฯลฯ

1.3 กลุ่มโรคจิตที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์ (Mood or Affective Disorders) เช่นมีอารมณ์ดี สนุกสนานมากเกินไป ร่าเริงจนควบคุมตนเองไม่ได้ ขาดความยับยั้งชั่งใจ โกรธง่าย ต้องการการนอนน้อยลง (Manic Episode) หรือซึมเศร้าที่มากเกินมนุษย์ปกติ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร กังวล (Depressive Episode) หรือทั้งสองแบบสลับกันหรือปนในเวลาเดียวกัน (Bipolar Affective Disorder)

2 โรคประสาทและความผิดปกติอื่น ๆ ที่มิใช่โรคจิต (Neurotic Disorders, Other Nonpsychotic Mental Disorders) สามารถรักษาได้ด้วยการทำจิตบำบัด แบ่งเป็นสองประเภท คือ

2.1 โรคประสาท (Neurotic, Stress-Related and Somatoform Disorders) ความผิดปกติ หรือความแปรปรวนทางจิตใจ ไม่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือการเข้าสังคมอย่างเห็น ไม่มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน มีสาเหตุสำคัญมาจากเรื่องของจิตใจ มีความขัดแย้งทางใจถูกกดเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก

อาการของโรคประสาทได้แก่ อาการกังวลเพราะความตึงเครียดจนหายใจไม่ออกหรือเจ็บหน้าอก (Anxiety States) อาการกังวลหรือเครียดจนเกิดอาการชัก อัมพาต หรือเสียการทรงตัว (hysteria) การย้ำคิดย้ำทำซ้ำๆ โดยไม่มีเหตุผล (Obsessive - Compulsive Disorders) อาการกลัวสิ่งต่าง ๆ ซึ่งคนทั่วไปจะไม่กลัว จนใจสั่น (Phobic States) อาการกังวลเกี่ยวกับความเจ็บปวด จนปวดตามร่างกายโดยไม่มีความผิดปกติทางพยาธิสภาพ (Hypo-chondriasis)

2.2 กลุ่มอาการบุคลิกภาพและพฤติกรรมแปรปรวน (Disorders of Adult Personality and Behavior) เป็นความผิดปกติที่ ทำให้มีลักษณะบางอย่างต่างจากคนทั่วไปอย่างสุดโต่ง ซึ่งมักแสดงออกทางพฤติกรรมที่เริ่มในระยะต้นของพัฒนาการทางบุคลิกภาพตั้งแต่วัยเด็ก แต่จะปรากฏชัดเจนในวัยรุ่น มีสาเหตุมาจากโครงสร้างทางชีวเคมี กรรมพันธุ์ ประสาทสรีรวิทยาของบุคคล จากการเลียนแบบบุคคลใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ คนเลี้ยง หรือประสบการณ์บางอย่างตั้งแต่วัยเด็ก

ความผิดปกติประเภทดังกล่าว ได้แก่ การมีอาการแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป คือการก้าวร้าว การหวาดระแวง การเรียกร้องความสนใจ การต้องการคนให้พึ่งพิง การอ่อนแอสมยอมโดยง่าย การต่อต้านสังคม การชอบผัดผ่อนงาน

3 ภาวะปัญญาอ่อน (Mental Retardation) คือ ภาวะที่สมองหยุดพัฒนาหรือพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความบกพร่องของทักษะต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา และการปรับตัวเข้ากับสังคม อาจเกิดจากสาเหตุภายนอก เช่น ติดเชื้อในครรภ์มารดา การเสียหายของเนื้อสมอง อุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์ โรคอันเกิดจากพันธุกรรม หรือการขาดวิตามินบี 6 และธาตุเหล็กในวัยเด็ก

เมื่อรู้จักความผิดปกติทางจิตและสามารถแยกประเภทความผิดปกติกันได้ง่ายขึ้น ก็คาดหวังว่าทุกคนจะสามารถเข้าใจผู้มีความผิดปกติทั้งหลาย และเห็นอกเห็นใจพวกเขา ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อผู้มีความผิดปกติทางกายอื่น ๆ ไม่นำมาล้อเลียนหรือดูถูกเหยียดหยามกัน เพื่อที่ผู้มีความผิดปกติทางจิตที่ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น จะอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมได้อย่างสงบสุข

BY นายรักต์ศรา

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล