ข้อควรรู้ คุุณและโทษของ ‘เมือกหอยทาก’

by kadocom @25-12-57 08.18 ( IP : 1...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x364 pixel , 35,373 bytes.

ส่วนกรณีที่นำเอาหอยทากสด ๆ มาไต่บนผิวหน้าโดยยึดหลักคุณประโยชน์เดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพูดยาก เพราะเมือกที่หอยทากปล่อยออกมาเพื่อช่วยซ่อมแซมตัวเองนั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด


          เทรนด์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของเมือกจากหอยทากกำลังมาแรง เพราะมีการโหมกระแสว่าช่วยเรื่องการบำรุง คืนความอ่อนวัยให้กับผิวพรรณ จนล่าสุดเกิดเป็นธุรกิจ “สปาหอยทาก” ขึ้นกลางเมืองเชียงใหม่ ที่จัดบริการหอยทากตัวเป็นๆ ซึ่งอ้างว่า นำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส มาไต่ไปตามผิวหน้าให้ปล่อยน้ำเมือกออกมาบำรุงผิว กระทั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องรุดเข้าไปตรวจสอบถึงความเป็นคุณเป็นโทษ


          เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผิวพรรณ อย่าง นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง อธิบายให้ได้เข้าใจว่า การเอาเมือกหอยทากมาบำรุงผิวพรรณนั้น มาจากการสังเกตธรรมชาติของตัวหอยทากเองที่สามารถปล่อยเยื่อเมือกออกมาเพื่อสร้างเซลล์ผิวหนังให้งอกขึ้นใหม่เมื่อได้รับการบาดเจ็บ คนเราจึงพยายามศึกษาหาสารที่มีอยู่ในเมือกหอยทากว่าตัวใดที่ช่วยเรื่องการฟื้นฟูสภาพผิว และนำมาผสมเป็นเครื่องสำอางในที่สุด จากนั้นก็ทำการโฆษณาว่าสารสกัดจากตัวหอยทากสามารถช่วยฟื้นฟูผิวได้


          ส่วนกรณีที่นำเอาหอยทากสดๆ มาไต่บนผิวหน้า โดยยึดหลักคุณประโยชน์เดียวกันนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างพูดยาก เพราะเมือกที่หอยทากปล่อยออกมาเพื่อช่วยซ่อมแซมตัวเองนั้นเราไม่สามารถรู้ได้ว่า มีความเข้มข้นมากน้อยเพียงใด เรื่องความสมดุลของภาวะเป็นกรดเป็นด่าง เหมาะกับผิวของคนเราหรือไม่ อย่าลืมว่า ผิวหนังของคนแตกต่างจากผิวหนังของหอยทากอย่างสิ้นเชิง การตอบสนองย่อมแตกต่างกัน ดังนั้น ตรงนี้ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะเรื่องความสะอาดที่แม้แต่การเลี้ยงแบบพิเศษเราก็ไม่สามารถวางใจได้ เพราะที่สกัดมาทำเครื่องสำอางยังต้องผ่านการตรวจสอบตั้งหลายกระบวนการ


          สิ่งสำคัญเลยคือเรื่องความสะอาด เมือกสดๆ แบบนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับผิวหน้าคนเรา จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบ เช่น การระคายเคือง ผื่นแดงคัน สิวเห่อ ถ้าเป็นมากๆ อาจจะแสบ ลอกเป็นขุยๆ ได้ ยิ่งพอเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่าในเมือกหอยทากมีเชื้อโคลิฟอร์ม หรือเชื้ออีโคไล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะถ้าผิวหนังบริเวณนั้นมีแผลแม้เพียงเล็กน้อยเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้จนทำให้เกิดการติดเชื้อ เป็นหนอง เป็นฝีตามมาได้ ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่ปัญหาหลักคือการติดเชื้อที่ผิวมากกว่า


          มาถึงตรงนี้ นพ.จินดา ได้ให้คำแนะนำเคล็ดลับในการดูแลผิวหน้าให้ดูสุขภาพดี เริ่มต้นที่การพักผ่อนให้เต็มที่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ตามมาด้วยการทำความสะอาดที่ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะกับสภาพผิว เช่น ถ้าเป็นคนผิวมันสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฟองนิดหน่อยได้ แต่ถ้าเป็นคนผิวแห้งเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่ไม่มีฟอง และควรใช้เพียงน้ำเย็นธรรมดาเท่านั้น อย่าใช้น้ำอุ่นล้างหน้า โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว เพราะน้ำอุ่นจะทำให้ผิวแห้ง เกิดการระคายเคืองได้ง่าย


          ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังยังย้ำว่า หลังล้างหน้าต้องทาครีมบำรุงสม่ำเสมอเพื่อให้คงความชุ่มชื้นและผิวหนังไม่เหี่ยวย่น แต่ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพผิว คนผิวแห้งก็ควรใช้ครีมบำรุงผิวที่มีความเข้มข้น แต่ถ้าคนผิวมันก็ต้องใช้แบบที่เข้มข้นไม่มาก เช่น เป็นเจล เป็นโลชั่น เพื่อไม่ให้เกิดไขมันอุดตัน ที่สำคัญควรทาครีมกันแดดด้วยเสมอ เพราะแสงแดดเป็นตัวการจะทำให้ผิวเปลี่ยนแปลงไป


          สำหรับคนที่รักและใส่ใจในสุขภาพผิวของตัวเองจริง ๆ ควรเลือกผลิตภัณฑ์หรือวิธีการดูแลที่ได้มาตรฐาน พิสูจน์ได้จริง ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะผลลัพธ์อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย




          ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/Content/26867-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%20%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A9%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E2%80%98%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%81%E2%80%99%20.html

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล