กรดไหลย้อน 3 ระยะ กับการรักษา
เคยพูดถึงโรคกรดไหลย้อนกันหลายเที่ยวหลายครา แต่ยังมีคนไข้เข้ามาไถ่ถามวิธีการรักษาอย่างสม่ำเสมอ หลายท่านมาถกเถียงว่า ไม่ได้เป็นโรคกรดไหลย้อน แต่เป็นโรคกระเพาะ โรคลำไส้แปรปรวน โรคท้องผูก บ้างก็บอกว่าเป็นโรคหัวใจ โรคเครียด จึงได้มีโอกาสได้อธิบายเรื่องโรคกรดไหลย้อนในวันหนึ่งหลายๆ รอบ
ขอรวบรวมการเดินทางของโรค "กรดไหลย้อน" ออกเป็น 3 ระยะว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร แล้วจะต้องปรับปรุงพฤติกรรมอย่างไร สามารถทานสมุนไพรชนิดใดได้บ้าง เพื่อให้หายจากอาการอันแสนทรมานนี้
โรคกรดไหลย้อนในบทความนี้หมายถึง กระบวนการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์จนเกิดปัญหาขึ้น แบ่งเป็นระยะตามความหนักของอาการที่สร้างปัญหากับร่างกาย
กรดไหลย้อน ระยะที่ 1 โรคกระเพาะอาหาร คือโรคกรดไหลย้อนระยะแรกๆ นั่นเอง วิธีการรักษา ทานอาหารให้ตรงเวลา โดยเฉพาะการทานอาหารเช้าไม่ควรเกิน 9 โมงเช้า ก่อนทานอาหารสามารถทาน ขมิ้นชัน ขิง หรือ พริกไทยดำ ก่อนอาหารทุกมื้อ10 นาทีประมาณ 2 แคปซูล เพื่อให้กระเพาะอาหารได้รับธาตุไฟเพิ่มขึ้นจนกลับมาแข็งแรงย่อยอาหารต่างๆ ได้ดี หากมีลมในท้องมากให้ทานยาหอมเข้มๆ เพื่อขับลมออกไป
กรดไหลย้อน ระยะที่ 2 ลำไส้มีขยะอยู่มาก เมื่อกระบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์เป็นเวลานานจะเกิดอาหารที่ย่อยได้ไม่หมดตกค้างอยู่ในลำไส้ปริมาณมาก ผู้ป่วยจะมีอาการจุกแน่น เริ่มมีกลิ่นปาก ผายลมเหม็น มีลมในท้องได้ตลอดเวลา ขับถ่ายไม่ตรงเวลา หรืออาจจะมีอาการท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วย
วิธีการรักษา ต้องขับอุจจาระออกอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความแข็งแรงให้กระเพาะอาการและเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดี (Probiotics) เข้าสู่ลำไส้ เพื่อลดการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ที่ไม่ดี (ใช้เวลารักษาประมาณ 2 เดือน)
1. ขับอุจจาระออก โดยทานยาธรณีสัณฑะฆาต (ยากษัยเส้น) ขับลมและอุจจาระออกโดยการทานก่อนนอน 2-3 แคปซูล หรือทำการ Detox แบบสวนประมาณ 1 สัปดาห์ติดต่อกัน
2. เพิ่มความแข็งแรงให้กระเพาะอาหาร ด้วยขมิ้นชัน ขิง พริกไทยดำ จะทานพร้อมกันหรือแยกทานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ทานก่อนอาหาร 15 นาทีเพื่อเพิ่มธาตุไฟในการย่อยอาหารให้กับกระเพาะอาหาร
3. เติมจุลินทรีย์ที่ดีเข้าสู่ลำไส้ โดยการทานน้ำหมักชีวภาพ หรือ Probiotic แบบผง หลังอาหารทุกมื้อให้จุลินทรีย์ที่ดีเข้าสู่ลำไส้ไปควบคุมไม่ให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดีมีปริมาณมากเกินไป เมื่อลมและอุจจาระในลำไส้ไม่มากเกินไป จะทำให้ลมในลำไส้ที่พัดดันขึ้นสู่กระเพาะอาหารและหลอดอาหารน้อยลง ลดอาการจุกแน่นที่ท้องรวมถึงลดอาการแสบร้อนช่วงอกของผู้ป่วยได้ กรดไหลย้อนระยะที่ 3 สารอาหารในเลือดเหลือน้อย จากกระบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์เป็นเวลานาน จนทำให้อ่อนเพลีย หมดแรง มึนศีรษะบ่อย จุกแน่น แสบร้อนช่วงอกมากขึ้น ทานอาหารไม่ค่อยลงแต่มีอาการหิวบ่อย เม็ดเลือดของผู้ป่วยระยะนี้จะมีขนาดเล็กลงจนทำให้ออกซิเจนและน้ำในเลือดน้อยลงตามไปด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการนอนหลับไม่สนิท ปากแห้ง ลิ้นแห้ง หายใจได้ไม่เต็มปอด
วิธีการรักษา ควรเพิ่มสารอาหารในเลือดให้มากพอ ร่วมกับการปรับปรุงกระเพาะอาหาร ลำไส้ (ใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือน)
1. เติมสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดด้วยอาหารที่ย่อยสลายได้เร็ว เช่น สาหร่ายเกลียวทอง โสม กระชาย ธัญพืชชง ฯลฯ ทานทุกๆ เช้าตอนตื่นนอนเพื่อสร้างเม็ดเลือดให้พร้อมใช้งาน
2.ปรับปรุงการย่อยอาหารด้วยการเติมธาตุไฟให้กระเพาะอาหาร และเติมจุลินทรีย์ที่ดีเข้าสู่ลำไส้เหมือนกับโรคกรดไหลย้อนระยะที่ 2 ผู้ป่วยกรดไหลย้อนที่เดินทางมาถึงระยะนี้เกิดจากพฤติกรรมที่ทำให้สารอาหารในเลือดน้อยลงอย่างรวดเร็ว เช่น การนอนดึกตีหนึ่งตีสองแทบทุกคืน ดื่มกาแฟแทนอาหารเช้าเป็นกิจวัตร ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน หากไม่ปรับปรุงพฤติกรรมร่างกายจะบังคับตัวเราให้หยุดทำงานด้วยอาการ "บ้านหมุน" จนยืนอยู่ไม่ได้
พฤติกรรมที่ไม่ควรทำ สำหรับผู้ที่มีปัญหากับระบบย่อยอาหารไม่ว่าระยะใดก็ตาม คือ ลดการทานน้ำเย็น น้ำอัดลม นม ชาเย็น ชาเขียว น้ำเต้าหู้ น้ำมะพร้าว ให้ได้มากที่สุด งดการทานอาหารมื้อดึก งดการทานกาแฟเพราะทำให้น้ำย่อยของเราออกมาไม่ตรงเวลา งดการทานยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะเป็นเวลานาน เพราะทำให้น้ำย่อยของเราขาดประสิทธิภาพ หันมาทานอาหารสดใหม่ เช่น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว เคี้ยวอาหารให้นานขึ้น เนื่องจากการเคี้ยวสัมพันธ์กับการบีบตัวของกระเพาะอาหารของเรา เมื่อกระบวนการย่อยดีลมใหม่ๆ ไม่เกิด ลมและอุจจาระเก่าๆ หายไป โรคกรดไหลย้อนจะทุเลาลงอย่างเห็นได้ชัด
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
http://www.thaihealth.or.th/Content/23603-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99%203%20%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B0%20%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2.html
Relate topics
- แนวปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
- คู่มือการใช้งาน Hosoffice
- คู่มือการใช้งานโปรแกรม HRMS
- อาการผิดปกติทางจิต ไม่ได้หมายถึงโรคจิตเสมอไป
- มาตราฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ
- ดูแลสมองไว้ ห่างไกลโรค
- ‘สารพิษ’ ภัยร้ายต่อจิต
- คุณรู้จัก `ออร์แกนิก` ดีแค่ไหน?
- รู้ได้อย่างไรว่าลูกเสพยาเสพติด
- ต้นอ่อนทานตะวัน แหล่งสารอาหารสุขภาพ