ความรู้เบื้องต้นโรคจิตเวช

by kadocom @16-12-56 08.55 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x230 pixel , 41,811 bytes.

โรคทางจิตเวช คือกลุ่มอาการทางจิตหรือพฤติกรรมที่ทำให้บุคคลนั้นเกิดความทุกข์ทรมาน หรือมีความบกพร่องในกิจวัตรประจำวัน โรคทางจิตเวชมีอยู่หลายประเภท โดยถือเอาสาเหตุและอาการเป็นตัวกำหนดโรคนั้นๆ โรคทางจิตเวชที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่

1.โรคซึมเศร้า (Ma jor Depressive Disorder)

2.โรควิตกกังวล  (Anxiety Disorder)

3.โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

4.โรคจิตเภท (Schi zophrenia)

5.โรคทางจิตเวชที่เกิดจากการใช้สารเสพติด (Substance-related Disorder)

6.โรคสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งแบ่งได้หลายชนิด เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)

สาเหตุทั่วไปของการเกิดโรค...

1.ปัจจัยโน้มเอียงที่มีอยู่ก่อน ได้แก่ พันธุกรรม พื้นอารมณ์ ลักษณะนิสัยและบุคลิกภาพ

2.ปัจจัยที่เร่งให้เกิดอาการ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวล ความผิดปรกติในการหลั่งฮอร์โมนและสารเคมีในสมอง รวมทั้งการที่สมองถูกกระทบกระเทือนหรือการทำงานของ สมองเสื่อมถอย

3.ปัจจัยที่ทำให้อาการป่วยดำเนินต่อไป ได้แก่ การ ไม่ได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมและต่อเนื่อง บรร ยากาศความตึงเครียด การขาดทักษะการจัดการอารมณ์และการสื่อสารที่ไม่ดี

การวินิจฉัยโรค...

การตรวจวินิจฉัยโรคทางจิตเวช คือ การตรวจ วิเคราะห์หาสาเหตุของโรค หรือปัญหาทางจิตเวช โดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกจะอาศัยการสังเกตอาการของผู้ป่วยและการบอกเล่าอาการจากผู้ป่วยและญาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งบางกรณีอาจจะต้องให้ผู้ป่วยทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกเพื่อประเมินอาการและระดับความรุนแรง หรืออาจมีการตรวจ ร่างกายร่วมด้วยเพื่อให้สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำขึ้น ตัวอย่างเช่น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยตรวจเลือดเพื่อแยกแยะว่าปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นสา เหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าหรือไม่

เมื่อไรควรพบจิตแพทย์...

ผู้ที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่อาจมาพบเพื่อขอคำแนะนำหรือปรึกษาเรื่องครอบครัว การปรับตัวกับความเครียด การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ปัญหาการเรียน หรือการดำเนินชีวิตก็เป็นได้

ดังนั้น เมื่อไรที่ตัวเราเองหรือคนใกล้ชิดรู้สึกไม่มีความสุข มีความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปรกติไปจากเดิมจนมีผลกับการเข้าสังคมหรือการใช้ชีวิตประ จำวันเป็นเวลานานเกินกว่าที่บุคคลนั้นจะทนได้ เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ไม่อยากไปเรียน ไม่อยากทำงาน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย วิตกกังวลมากจนมีผล ต่อการตัดสินใจ หรือการกระทำหลายๆ อย่างผิดปรกติอย่างเห็นได้ชัด เช่น พูดคนเดียว หรือใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายแต่ใช้มากเกินควร ก็สามารถตัดสินใจไปพบจิตแพทย์ได้

โรคทางจิตเวชก็เหมือนโรคอื่นๆที่ต้องรักษา และสามารถบำบัดรักษาให้อาการดีขึ้นได้ ทั้งนี้บุคคลที่มีปัญหาทางจิตเวชอาจต้องพบนักจิต วิทยาเพื่อทำจิตบำบัดและปรับพฤติกรรมร่วมด้วย

เมื่อไรที่ตัวเราเองหรือคนใกล้ชิดรู้สึกไม่มีความสุข มีพฤติกรรมที่ผิดปรกติไปจากเดิมจนมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถไปพบจิตแพทย์ได้



ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย ดร.อภันตรี สาขากร

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/38055

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล