'ทุกข์' นั้นสำคัญไฉน?
"ทุกข์" คำเดียวช่างทำให้มีผลต่อชีวิตมนุษย์เรามากมายได้เพียงนี้ คำนี้คำเดียวสามารถทำลายชีวิต ทำลายโลก ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างได้ เพราะทุกข์หมายถึงความเจ็บปวดทรมาน ความเครียด ความขัดแย้ง ความย่ำแย่ ความน่าเกลียดน่ากลัว ความชั่วร้าย ความไม่พึงพอใจ ทุกข์มากับโศก และโศกตามมาด้วยความสลด
ฉะนั้นใครต่อใครในโลกนี้จึงดิ้นรนพยายามจะหาทาง "ดับทุกข์" บ้างก็ไหว้พระ, ทำบุญ, บ้างก็ขอน้ำมนต์, บ้างก็เข้าหาไสยศาสตร์, บ้างก็นึกว่าถ้าโยนบาปให้คนอื่นแล้วตนจะพ้นทุกข์, และอีกบางคนก็แก้ปัญหาด้วยการเด็ดชีวิตตัวเองเสีย
วันก่อน, ผมอ่านหนังสือชื่อ "มองชีวิตและสังคมด้วยความว่าง" ของ สันติกโร ที่แปลโดยคุณชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ เขียนถึงชีวิตของท่านพุทธทาสและกล่าวถึงหลักคิดแห่งการดับทุกข์ของพระพุทธเจ้าแล้ว, ก็เริ่มเข้าใจว่า "ทุกข์นั้นสำคัญไฉน"?
ถ้าถามว่าหากจะเลือกคำสอนของพระพุทธองค์ที่สำคัญที่สุดข้อเดียวคืออะไร, ท่านก็จะบอกว่าคือ เรื่องทุกข์ นี่แหละ อาจารย์สันติกโรเขียนว่า พระพุทธเจ้าเองได้ทรงประกาศและชี้ชัดถึงความมุ่งหมายและขอบเขตของคำสอนของพระองค์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย, แต่ก่อนนี้ก็ดี, เดี๋ยวนี้ก็ดี, เราบัญญัติเฉพาะเรื่องทุกข์กับเรื่องความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น..."
พุทธทาสภิกขุ ก็ได้ตอกย้ำถึงพุทธพจน์นี้อยู่เสมอ การหาทางพ้น "ทุกข์" จึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พยายามจะดิ้นรนให้พ้นตลอดชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะยืนยันได้ว่าสามารถหาทางพ้นทุกข์อย่างถาวรหรือมีสูตรสำเร็จได้
ท่านพุทธทาสภิกขุ อธิบายว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านี่แหละที่ทำให้คนทุกข์, ทุกข์น้อยลงหรือพ้นทุกข์ได้หากทำตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน
หากจะดับทุกข์ให้เด็ดขาดนั้น อาจารย์พุทธทาสภิกขุบอกว่าต้อง "ลด, ละ, เลิก" ซึ่งความเห็นแก่ตัว และการยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น ถ้าทำไม่ได้ทั้งสองอย่าง, จะมีเงินมากเท่าไหร่, จะมีอำนาจใหญ่โตเพียงใด, จะมีตำแหน่งแห่งหนน่าเกรงขามอย่างไร, ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ เพราะทุกข์ไม่ได้หายไปพร้อมกับตำแหน่ง, อำนาจหรือเงิน
ตรงกันข้าม, คนใดยิ่งมีเงินเยอะ, แสวงหาอำนาจและบารมีมาก, ก็ยิ่งจะเพิ่มพูนความทุกข์มากขึ้นตามลำดับ, ก็จะยิ่งตกอยู่ในฐานะที่จะต้องทุกข์หนักขึ้นกว่าคนธรรมดาเสียอีก
อาจารย์พุทธทาส บอกว่า ถ้าเราไม่รู้สึก, ไม่คิดว่าสิ่งใด ๆ ในจักรวาล, รวมถึงจิตสำนึกของตัวเราเองด้วยนั้นเป็น "ตัวกู" หรือ "ของกู" ความทุกข์ก็หมดไปความทุกข์หมดหมายถึงไม่มีการเกิด, ไม่มีการตาย
ท่านบอกด้วยว่าสังคมจะสันติได้นั้นขึ้นอยู่กับว่าคนในสังคมไม่เห็นแก่ตัว, เลิกเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ผมชอบที่ท่านสันติกโรเขียนว่าสำหรับพุทธทาสภิกขุแล้วไม่มีอะไรในศาสนาพุทธสำคัญกว่าเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ "สำหรับท่านแล้ว, อะไรก็ตามที่ดับทุกข์ได้ล้วนเป็นพุทธศาสนาทั้งสิ้น..."
นี่คือสัจจะที่ทำให้ผมเข้าใจได้อย่างชัดแจ้ง...โดยที่ไม่ต้องท่องบนคัมภีร์หรือคำสอนหนักๆ ที่บ่อยครั้งสติปัญญาน้อยๆ ของเราไม่อาจจะนำมาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เมื่อมีผู้ถามอาจารย์พุทธทาสว่าอะไร "ดี" อะไร "ถูกต้อง" ? ท่านจะถามกลับง่ายๆ ชัดๆ ว่า "แล้วมันดับทุกข์หรือไม่ ?" ความหมายก็คือว่าถ้าอะไรดับทุกข์ได้, นั่นแหละคือสิ่งที่ "ดี" และ "ถูกต้อง" อะไรที่ดับทุกข์ไม่ได้หรือเพิ่มทุกข์เพิ่ม "ความหนัก" ให้กับจิตใจ, ไม่ว่าจะพูดจาให้ไพเราะหรือเรียกมันด้วยถ้อยคำสวยหรูเพียงใด, ก็ไม่ดีและไม่ถูกต้องเป็นแม่นมั่น ดังนั้น, "ทุกข์" จึงเป็นดัชนีใหช้ตรวจสอบทุกความคิดทุกประสบการณ์
พูดภาษาชาวบ้านก็คือว่าสิ่งใดที่ยังมีทุกข์อยู่, สิ่งนั้นก็ไม่ถูกต้อง แต่หากสามารถพบความไม่มีทุกข์, สิ่งนั้นก็ "ใช่" และ "ถูกต้อง" อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่ง ก็ย่อมจะมีคำถามต่อว่า, ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าชีวิตที่ปราศจากความทุกข์คือชีวิตอันพึงแสวงหา, คำถามต่อมาก็คือว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรเพื่อ "ดับทุกข์" หรือลดระดับของความทุกข์นั้นเสีย อาจารย์พุทธทาสยกคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจง่ายๆ ว่าหากจะดับทุกข์ก็ต้องเข้าใจบทสรุปบทเดียวจากคำสอนของพระองค์ท่าน นั่นคือก็ "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่พึงยึดมั่นคือมั่นว่าเรา, ว่าของเรา..." คำสอนมีสั้นๆ เท่านั้นแหละ
แต่ทางปฏิบัติทำได้ยาก (เป็นบ้า) และนั่นแหละคือสิ่งที่ท้าทายคนไทยที่อ้างว่านับถือศาสนาพุทธทั้งหลายทั้งปวงว่ามีความเข้าใจในเนื้อหาสาระแก่นแท้ของคำสอนของพระองค์ท่านแค่ไหน เพราะที่เห็นอยู่วันนี้, คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนนั้นไม่ได้เข้าใจหรือพยายามจะเข้าใจคำสั่งสอนที่เป็นหัวใจของศาสนาพุทธเท่าไหร่
ตรงกันข้าม, กลับพยายามจะยึดมั่นถือมั่น, เข้าวัดก็จะสร้างเรื่อง "ยึดมั่นถือมั่น" มากขึ้นกว่าเดิมอีก, ต้องอาจารย์ท่านนี้, ต้องอาจารย์ท่านนั้นจึงจะแม่น, ต้องเข้าใกล้พระรูปนี้รูปที่ดังจึงจะเท่และคุยโอ้อวดกับใครต่อใครได้
สำหรับบางคน, ยิ่งเข้าวัด, เข้าไหว้พระ, ยิ่งสร้างการ "ยึดมั่นถือมั่น" ดังนั้น, ท่านพุทธทาสจึงสอนว่าเราสามารถเข้าใจ "ทุกข์" ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเรื่องการยึดมั่นถือมั่นหรือ "อุปาทาน" เท่านั้น สรุปว่าการดับทุกข์จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อการยึดมั่นถือมั่นสิ้นสุดลงเท่านั้น ยึดอะไรอยู่, ถืออะไรอยู่ก็ยังเป็นทุกข์ วางมันลงเสีย, เพราะทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ และทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงวางลงได้เมื่อไหร่, ความทุกข์หายไปเมื่อนั้นรู้แล้วหรือยังว่า "ทุกข์" นั้นสำคัญไฉน ?
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย สุทธิชัย หยุ่น http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/35730
Relate topics
- แนวปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
- คู่มือการใช้งาน Hosoffice
- คู่มือการใช้งานโปรแกรม HRMS
- อาการผิดปกติทางจิต ไม่ได้หมายถึงโรคจิตเสมอไป
- มาตราฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ
- ดูแลสมองไว้ ห่างไกลโรค
- ‘สารพิษ’ ภัยร้ายต่อจิต
- คุณรู้จัก `ออร์แกนิก` ดีแค่ไหน?
- รู้ได้อย่างไรว่าลูกเสพยาเสพติด
- ต้นอ่อนทานตะวัน แหล่งสารอาหารสุขภาพ