เปิดเผยความในใจกันในเฟซบุ๊ก : บอกระดับอารมณ์

by kadocom @17-7-56 14.28 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x193 pixel , 23,222 bytes.

วันนี้ถ้าอยากทราบว่าใครเกลียดใคร หาคำตอบได้ในเฟซบุ๊กแทบทั้งหมด แต่ก่อนกว่าจะรู้ใจว่าใครชอบใครไม่ชอบใครต้องตั้งวงสนทนากันหลายครั้งกว่าที่จะสนิทสนมพอจะบอกกล่าวได้ว่าชอบใคร ไม่ชอบใคร

บนเฟซบุ๊กควันนี้ แม้ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว แต่เข้าไปดูเฟซบุ๊คของคนนั้นได้ ดูแล้วก็เกือบจะทราบในทันทีว่าใครชอบใคร ถ้ามีเลือกตั้งใครจะเลือกใคร ก็เห็นมีการป่าวประกาศกันบนเฟซบุ๊คให้เห็นกันจนชินตา ทำไมคนบางคนจึงยอมใช้เฟซบุ๊คเป็นที่บอกกล่าวความในใจ ทั้งๆ ที่เฟซบุ๊คไม่ใช่วงสนทนาส่วนตัวที่คนอื่นมาพูดมาพังไม่ได้ บนเฟซบุ๊ควันนี้ใครๆ ก็รับทราบความในใจของเราได้ทั้งนั้น

แต่เดิมมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พยายามหาคำตอบว่า ทำไมผู้คนจึงใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือมองในอีกมุมหนึ่งว่า คนใช้เครือข่ายสังคมทำอะไรบ้าง งานวิจัยให้คำตอบว่า คนเราใช้เครือข่ายสังคมเพื่อทำหลายอย่างผสมกันไป ไล่มาตั้งแต่ใช้ในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันสาระในเรื่องต่างๆ ในระหว่างคนที่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน แทนที่จะไปหาที่ตีพิมพ์เผยแพร่สาระนั้นเพื่อแบ่งปันกับคนอื่น แบ่งปันสาระต่างๆ ระหว่างกันบนเครือข่ายสังคม ถัดมาก็เป็นการใช้หาเพื่อนร่วมแนวคิด หรือหาพรรคพวกที่คิดคล้ายๆ กับฉันบ้าง

ถ้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าถามกันต่อหน้าว่าใครคิดการเมืองเหมือนฉันบ้าง ถ้าโชคไม่ดีอาจมีเรื่องได้ บนเฟซบุ๊กถามได้ ประกาศให้ทราบได้ โดยไม่ต้องกังวลเหมือนคุยกันต่อหน้า เฟซบุ๊กช่วยให้ได้พบ ได้พูดคุยกับคนที่ชอบเหมือนกัน เกลียดเหมือนกัน ซึ่งคุยแล้วสบายใจกว่าไปคุยกับคนต่างความคิดต่างความเห็น

เฟซบุ๊ควันนี้เลยกลายเป็นเวทีการเมืองไปแล้วในหลายบ้านเมือง การใช้งานเฟซบุ๊กในทำนองนี้แหละที่ทำให้คนเรายอมเปิดเผยความในใจบนเฟซบุ๊ค มากกว่าที่จะกล้าบอกกล่าวกันต่อหน้า

มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับคนไทยโดยตรงบอกว่า ผู้คนในบ้านเราบอกกล่าวความในใจกันในเฟซบุ๊ก เพราะรู้สึกว่าเฟซบุ๊กเป็นที่ระบายความเครียดได้ โดยกลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมจึงชอบบอกกล่าวความในใจกันในเฟซบุ๊ก บอกความในใจในชั้นเรียนมีโอกาสถูกอาจารย์เล่นงานได้ บอกกล่าวในที่สาธารณะอื่นก็ไม่แน่ใจว่าจะไม่มีความเครียดใหม่โผล่ตามมาอีก เด็กไทยบอกความในใจกันในเฟซบุ๊กโดยถือว่าเป็นการระบายความเครียดของตน ในสถานที่ที่เหมาะสม

ต่อมามีงานวิจัยของฝรั่ง ที่มีเครื่องมือตรวจสอบการทำงานของสมองได้ พบว่า ถ้าอ่านหรือเขียนข้อความอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับความในใจของตนเอง สมองก็ไม่ได้มีอาการอะไรที่ชัดเจนออกมา แต่พอเป็นการเปิดเผยความในใจในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีอาการตอบสนองของสมองเหมือนกับกำลังกระทำสิ่งที่เป็นสุขอยู่ในขณะนั้น อาการที่เกิดขึ้นในสมองในขณะที่กำลังเปิดเผยความในใจในเฟซบุ๊กเหมือนกับสมองในระหว่างฟังเพลงที่ถูกใจ รับประทานอาหารที่ถูกใจ

พูดง่ายๆ ว่าเปิดใจในเฟซบุ๊กแล้วได้ความสุข เมื่อเปิดใจในเฟซบุ๊คไปแล้วมีคนมาแสดงความเห็นด้วยหลายๆ คน ก็เลยยิ่งสร้างความสุขเพิ่มขึ้นไปอีกจากการที่รู้สึกว่าความในใจของตนมีคนคิดเหมือน ชอบเหมือนกัน เฟซบุ๊กให้ความสุขตรงนี้ได้ดีกว่าการเปิดใจในหมู่เพื่อนฝูงสนิทๆ เพียงสองสามคน

สอดคล้องกับงานวิจัยในบ้านเราที่บอกว่าเปิดใจในเฟซบุ๊ก เพื่อลดความเครียด ฝรั่งต้องใช้เครื่องมือตรวจสมองในการวิจัย แต่บ้านเราใช้แค่แบบสอบถามแต่ได้ผลในทำนองเดียวกัน ซึ่งน่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่าที่จะเป็นความตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

คำตอบว่าทำไมคนบ้านเราชอบเปิดเผยความในใจกันในเฟซบุ๊กก็คือ ทำแล้วได้ความสุข ทำแล้วลดความเครียด มากกว่าเรื่องของการหาพวก หรือแบ่งปันสาระต่างๆ ในระหว่างกัน

ในระหว่างคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ กับคนที่อารมณ์วูบวาบ งานวิจัยอีกงานหนึ่งบอกว่า คนที่อารมณ์มั่นคงนั้น มีการเปิดใจผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยกว่า ทั้งในเชิงจำนวนครั้ง และแนวโน้มที่จะเกิดการเปิดใจครั้งต่อไป

ใครที่พบว่าตนเองลดความเครียดด้วยการเปิดใจผ่านเฟซบุ๊คเป็นประจำ อาจต้องย้อนมองดูตัวเองว่าอารมณ์มั่นคงแค่ไหน ถ้าอยากลดเวลาใช้งานเฟซบุ๊กลง ก็ต้องปรับตัวให้วูบวาบน้อยลงเสียก่อน ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือคนที่อารมณ์มั่นคงจะมีระดับความสุขสูงกว่าคนที่อารมณ์วูบวาบ

หลังจากที่ต่างคนต่างเปิดใจผ่านเฟซบุ๊กไปแล้ว เป็นผลให้คนที่อารมณ์วูบวาบเปิดใจในรายละเอียดที่มากกว่าคนอารมณ์มั่นคง ชอบใครเกลียดใครฉันเปิดใจหมด ใครอ่านเฟซบุ๊กของฉันแล้วจะรู้ไส้รู้พุงฉันหมดไม่เหลือ ลองสังเกตตนเองดูว่าในยามที่ไม่สบายอารมณ์นั้น ท่านเปิดใจในเฟซบุ๊กบ่อยครั้งขึ้น และเปิดใจบอกกล่าวรายละเอียดเกี่ยวกับตนเองมากขึ้นด้วยหรือไม่

สรุปได้ง่ายๆ ว่าถ้าคนกลุ่มไหนชอบเปิดใจกันผ่านเฟซบุ๊กกันอยู่เป็นประจำ และเปิดเผยในรายละเอียดมากกว่าปกติ คนกลุ่มนั้นมีความสุขน้อยในชีวิตจริง พวกเขาจึงต้องพึ่งพาเครือข่ายสังคมเป็นพื้นที่ลดความเครียด หรือเพิ่มความสุข และพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อารมณ์วูบวาบเห็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยเป็นเรื่องใหญ่ไปหมด พวกเขาจึงต้องพึ่งพาเฟซบุ๊กบ่อยครั้งกว่าคนที่อารมณ์มั่นคง

ถ้าทราบความจริงนี้แล้ว ท่านสามารถวินิจฉัยกันเองว่า กลุ่มเฟซบุ๊คที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้นเป็นกลุ่มคนแบบไหน และในขณะนั้นพวกเขาอารมณ์มั่นคงแค่ไหน รู้แล้วถ้ายังพอใจจะอยู่ในเครือข่ายสังคมนั้นอยู่ต่อไปก็ขอให้ระลึกไว้เสมอว่ามีวิธีทำให้ตนเองมีความสุขมากมายหลายวิธีก็จริง แต่มีอยู่บางวิธีที่ทำแล้วเราได้ความสุข แต่คนอื่นทุกข์ ถามตนเองต่อไปด้วยว่าการหาความสุขใส่ตนแต่ทำให้คนอื่นทุกข์เพราะตนนั้น ท่านเลือกจะทำหรือเลือกที่จะไม่ทำ

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.บวร ปภัสราทร

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล