ยาซูโดเอฟิดรีน และทางเลือกของผู้ป่วยโรคหวัด

by kadocom @10-1-56 09.54 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x188 pixel , 22,920 bytes.

ซูโดเอฟิดรีน (Pseudoephedrine)
ถูกใช้เป็นยาที่ผสมอยู่ในตำรับยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูกมายาวนาน ซึ่งมีจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาเม็ดและยาน้ำ (ตัวอย่างเช่น Actifed® , Nacolin® , Telfast-D® , Decongestent®) ในทางเภสัชวิทยาได้จำแนกยาซูโดเอฟิดรีนอยู่ในกลุ่มกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทธิค (Sympathomimetic drug) โดยยาจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับของยาในร่างกายที่เรียกว่า อัลฟ่าอะดรีเนอร์จิก (α -adrenergic receptor) ในอดีตผู้ป่วยด้วยโรคหวัดคัดจมูก ภูมิแพ้ สามารถหาซื้อยาเหล่านี้ได้ในร้านขายยาทั่วไป โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์แต่อย่างไร
แต่ปัจจุบันจากปัญหาของการนำยาไปใช้ผิดประเภทเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ทำให้องค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขจำต้องประกาศให้ตำรับยาทุกตำรับที่มีซูโดเอฟิดรีนผสมอยู่กลายเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจำกัดให้ใช้ได้แต่ภายในโรงพยาบาลเท่านั้น
ยาแก้หวัดที่มีซูโดเอฟิดรีนผสมอยู่จึงไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาอีกต่อไป และรวมทั้งไม่อนุญาตให้ประชาชนมีไว้ครอบครอง (พกติดตัวติดบ้านไว้ก็ไม่ได้) เว้นเสียแต่ต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยัน เช่น ใบสั่งยา ใบรับรองแพทย์ หรือเอกสารกำกับบนซองยาที่ระบุชื่อผู้ป่วยและโรงพยาบาลอย่างชัดเจน


ปัญหาการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์
ยาทั้งหลายทั้งปวงแม้ว่าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือความเป็นพิษขึ้นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่โดยทั่วไปเมื่อรู้จักใช้ยาล้วนมีคุณมากกว่ามีโทษ การขาดความรู้ ขาดคุณธรรมความรับผิดชอบต่างหากที่เป็นสาเหตุแห่งการเกิดโทษ ตัวอย่างการนำยาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้วก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น ยาซูโดเอฟิดรีนมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการหวัด และจำกัดการใช้ไม่เกิน 3 กรัมต่อคนต่อวันในผู้ใหญ่ และไม่มากกว่า 9 กรัมในหนึ่งเดือน
ด้วยเหตุที่ยาอาจก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง และการเต้นของหัวใจผิดจังหวะได้ นอกจากนี้ยายังมีผลต่อจิตประสาท หากได้รับปริมาณมากเกินไป จะทำให้กระสับกระส่าย กระวนกระวาย แต่ในปริมาณพอเหมาะ สามารถทำให้จิตใจตื่นตัวกระปรี้กระเปร่า ประสาทสัมผัสเฉียบคม ไม่มีสมาธิ และไม่มีความต้องการอาหาร
ผลดังกล่าวจึงถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น กระตุ้นนักกีฬาก่อนการแข่งขัน หรือใช้เพื่อเป็นยาลดน้ำหนัก แม้ว่าในรูปของซูโดเอฟิดรีนจะไม่ก่อให้เกิดการเสพติด แต่การใช้ยาเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดความทนทานของยาเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้ยาจะต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกเช่นเดิม ขณะที่ระบบหมุนเวียนเลือดต่างๆ คงได้รับผลกระทบต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด


จากยาแก้หวัดสู่สารเสพติด
จากที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ซูโดเอฟิดรีนไม่ได้เป็นสารเสพติดโดยตรง แต่ได้มีความพยายามนำยาซูโดเอฟิดรีนไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาแอมเฟตามีน (Amphetamine) หรือยาบ้าที่เป็นสารเสพติด เนื่องจากสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก การกำจัดหมู่ไฮดดรอกซิล (OH) ออกเพียงตำแหน่งเดียวทำให้ยาซูโดเอฟิดรีนกลายเป็นสารเมธแอมเฟตามีนหรือสารสำคัญในยาบ้าไปทันที ด้วยเหตุนี้จึงมีการลักลอบซื้อยาแก้หวัดจำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นยาน้ำเพื่อไปสกัดและเปลี่ยนแปลงให้เป็นยาบ้าด้วยกระบวนการทางเคมี


ทางเลือกอื่นๆ สำหรับผู้ป่วยหวัดและภูมิแพ้
สำหรับการรักษาโรคหวัดหรือภูมิแพ้นั้น หากไม่สะดวกไปพบแพทย์เพื่อรับการจ่ายยาซูโดเอฟิดรีนได้ที่โรงพยาบาล ท่านสามารถเลือกใช้ยาตัวอื่นๆ ได้อีกเพื่อบรรเทาอาการหวัดดังนี้ •ยาคลอเฟนนิรามีน (chlorpheniramine) เป็นยาแก้แพ้ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารอิสตามีน และสามารถช่วยลดน้ำมูกใส •ยาฟินิลเอฟรีน (phenylephrine) สามารถบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้จมูกโล่ง แต่ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่ายาซูโดเอฟิดรีน •ยาเทอร์บิวทาลีน (terbutaline) มีฤทธิ์ขยายหลอดลม โดยกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทธิค แต่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับยาบีต้าอะดรีเนอร์จิก จึงทำให้มีความจำเพาะต่อการขยายหลอดลมมากกว่ายาซูโดเอฟิดรีน
นอกจากนี้ยังสามารถเลือกใช้ยาสมุนไพรที่บรรเทาอาการหวัด ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อนซึ่งมักประกอบด้วยน้ำมันหอมระเหยต่างๆ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ดีปลี ซึ่งมีสาระสำคัญหลายตัวที่สามารถช่วยให้หลอดลมขยายตัวได้ กลุ่มสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวฝาดช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ เช่น มะแว้ง มะขาม มะขามป้อน มะนาว และกลุ่มสมุนไพรแก้ไข้หรือมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ฟ้าทะลายโจร เมล็ดเพกา แก่นจันแดง เป็นต้น
ดังจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยยังคงสามารถหายาทดแทนอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด ซึ่งมีประสิทธิภาพดีไม่ด้อยไปกว่ายาซูโดเอฟิดรีนเลย แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าปริมาณการสั่งจ่ายยาซูโดเอฟิดรีนให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน แต่โดยส่วนตัวที่ตนเองหรือคนรอบข้างป่วยเป็นหวัด รวมทั้งประสบการณ์การทำงานรักษาคนไข้ตัวเล็ก จะได้เห็นขวดยาซูโดเอฟิดรีนน้อยครั้งกว่าการได้เห็นภาพคนเสพยาบ้าคลุมคลั่งก่ออาชญากรรมในจอโทรทัศน์เสียอีก ถ้าหากว่าจะทำให้สังคมของเราดีขึ้น ก็เก็บมันไปเถอะ






ที่มา : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

http://www.thaihealth.or.th/node/32461

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล