อยาก 'คิด' อย่า 'เครียด'

by kadocom @28-11-55 08.55 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 11,189 bytes.

จุดเริ่มต้นของการรับมือกับความเครียดคือ แยกให้ออกว่าเรากำลัง "เครียด" เฉยๆ หรือ "เครียดเรื้อรัง" ถ้าเครียดเฉยๆ เช่น อยู่ด้วยกันมานานทะเลาะกันมั่ง เห็นต่างแต่ไม่เห็นแตก มีเป้าหมายที่ท้าทายไม่เคยทำมาก่อน อันนี้ไม่เป็นไร ดีเสียอีกสมองจะได้กระตือรือร้น

แต่ถ้าเครียดเรื้อรัง ทะเลาะกันอยู่ได้ทุกวัน บางทีกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้น ไม่มีทางออกเอาเสียเลย เช่น งานที่ไม่บอกให้ชัดว่าจะเอาไงแน่ เป้าหมายที่ยังไม่รู้ว่าจะถึงได้อย่างไร หัวหน้าที่ต้องการอะไรเยอะแยะมากมายไร้สาระ หรือระบบที่ขั้นตอนซับซ้อนไร้เหตุผล สำคัญคือรู้สึกว่าเป็นอย่างนี้มานานแล้วไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นซะที

การเครียดเรื้อรังนี่แหละ ที่มีผลอย่างมากต่อร่างกายและภาวะผู้นำของมนุษย์ มีการทดลองหนึ่ง ทำไว้เมื่อนานมาแล้ว ค่อนข้างโหดร้ายทารุณสักหน่อย คนรักสัตว์อาจอยากอ่านข้ามตอนนี้ไปนะครับ

นักวิจัยคนหนึ่ง เอาสุนัขตัวหนึ่งไปขังกรงไว้แล้วทรมานด้วยไฟฟ้า ซึ่งไม่ว่ามันจะทำอย่างไร ร้องโหยหวน วิ่งพล่านไปมา กัดทุกสิ่งอย่างรอบตัว หรือลงนอนนิ่งๆ ความเจ็บปวดนี้ก็ยังอยู่ ไม่นานสุนัขตัวนี้ก็รับรู้ความจริงอันโหดร้ายว่า ไม่ว่ามันจะทำอย่างไร ความทรมานนี้จะไม่มีวันหยุด ไม่มีวันหายไป นี่คืออนาคตของมัน

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากการทดลองที่ไม่น่าจดจำครั้งนี้คือ หลังจากนั้นพฤติกรรมของสุนัขตัวนี้เปลี่ยนไปอย่างถาวร แม้เราจะเปิดประตูกรงให้มันสามารถหนีออกมาจากไฟฟ้าได้ มันก็จะนอนร้องครางหงิงๆอยู่ที่มุมกรงนั่น ไม่มีวันที่จะลุกขึ้นแล้วเดินออกมาได้ด้วยตัวเอง

นี่คือผลลัพธ์สุดท้ายของความเครียดเรื้อรัง เป็นสภาพที่สมองยอมจำนนต่อสถานการณ์และยอมที่จะ "หยุดคิด" สิ่งที่เกิดขึ้นกับสุนัขตัวนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Learned Helplessness แปลตรงตัวคือ การยอมรับสภาพที่ไร้ทางออก ไม่อยากเชื่อว่าผมเคยเห็นอาการนี้เกิดขึ้นกับคนในหลายองค์กรที่ "หยุดคิด" และ "หยุดหวัง"

Learned Helplessness เกิดจากความเครียดเรื้อรัง และแน่นอน เมื่อเกิดขึ้นกับสมองสุนัขได้ ก็เกิดขึ้นกับสมองมนุษย์ได้เช่นกัน

หากพบว่าตัวคุณหรือทีมของคุณ อาจมีสภาพความเครียดเรื้อรัง สามารถทดลองสิ่งต่อไปนี้ได้ครับ อย่าลืมว่าเราไม่ได้จะกำจัดความเครียด แค่กำจัดความ "เรื้อรัง" ของความเครียด

แนวทางที่ 1: เปิดใจ เอาสิ่งที่เครียดออกมาพูด

ความเครียดเรื้อรังหลายครั้งเกิดจากการคิดไปเองของมนุษย์ ลูกน้องมักคิดเองว่าหัวหน้าต้องรู้สึกหรือมีคำตอบแบบนี้โดยไม่เคยถาม วิธีหนึ่งในการทำให้ความเครียดระยะยาวกลายเป็นเรื่องระยะสั้น คือเอามันออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมา ลูกน้องสงสัยให้ถาม หัวหน้าถูกถามก็ตอบ ผลจะลบหรือบวกอย่างน้อยก็จบ

แนวทางที่ 2: สร้างวิสัยทัศน์ที่จูงใจ

ความเครียดเรื้อรังสำหรับคนในทีมบางทีเกิดจากการไม่รู้ว่าตนเองกำลังจะไปไหน ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสมองเป็นเพื่อนสนิทกับอดีตแต่ไม่ค่อยอยากคบกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง เจ้าของกิจการแห่งหนึ่งเพิ่งบอกผมวันก่อนว่า "ไม่เคยมีวิสัยทัศน์" สำหรับผู้นำอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะคุณรู้ว่าเรือลำนี้กำลังแล่นไปทางใด แต่สำหรับผู้ตามเขาอาจต้องการอะไรที่จับต้องได้ไว้เตือนสมอง

แนวทางที่ 3: ตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อทำให้สำเร็จ

หากความเครียดเป็นมุมแดง ความสำเร็จคงเปรียบเหมือนมุมน้ำเงิน ดังนั้นการถ่วงดุลความเครียดไม่ให้เรื้อรังคือให้สมองได้ประสบกับความสำเร็จบ้าง อย่าลืมว่าสิ่งที่ "เสร็จ" กับสิ่งที่ "สำเร็จ" ไม่เหมือนกัน งานเสร็จคือคนทำรู้สึกว่าหมดไปอีกหนึ่งเรื่อง งานสำเร็จคือคนทำรู้สึกภูมิใจและกระตือรือร้นที่จะทำงานต่อไป ผู้นำมีหน้าที่ทำให้เขารู้สึกอย่างหลัง

สมองยอมจำนนต่อสถานการณ์และยอมที่จะ "หยุดคิด" ไม่อยากเชื่อว่าผมเคยเห็นอาการนี้ เกิดขึ้นกับคนในหลายองค์กรที่ "หยุดคิด" และ "หยุดหวัง"

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย  ดร.ธัญ ธำรงนาวาสวัสดิ์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล