ดื่มให้เป็น ไม่มีเมา ไม่มีแฮงค์ จริงหรือ??

by kadocom @6-11-55 09.02 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 300x205 pixel , 66,126 bytes.

วัยรุ่นมักเป็นนักคิดค้นวิจัย สร้างหลักการอะไรใหม่ๆ ได้ดีเยี่ยมแต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป โดยเฉพาะการคิดค้นวิธีดื่มแปลกๆ เพื่อป้องกันอาการเมาและแฮงค์ ที่นักวิจัยตัวจริงแอบงง แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักกับผลกระทบของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทส่วนกลางกันก่อน ซึ่งมีหลายรูปแบบ แต่มีกลุ่มอาการคล้ายๆ กัน

กลุ่มแรก ภาวะการมึนเมาแบบเฉียบพลัน (Alcohol Acute Intoxication) โดยจะมีอาการขาดสติสัมปชัญญะ ขาดการยับยั้งชั่งใจอารมณ์แปรปรวน ความสามารถในการจดจำ ความเฉลียวฉลาด การจัดการเรียบเรียงข้อมูลข่าวสารลดลง การควบคุมกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวบกพร่อง ง่วงซึม และขาดการประสานงานระหว่างระบบประสาทส่วนต่างๆ

กลุ่มที่สอง อาการแฮงค์ (Hangover) มีอาการปวดศีรษะ คลื่นใส้ อาเจียน อ่อนแรง สูญเสียความสามารถในการจดจำ การมองเห็น การตัดสินใจ การเคลื่อนไหว

การประสานงานของระบบประสาทส่วนต่างๆ และการปฏิบัติงาน

วัยรุ่นที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คงจะร้องอ๋อ เพราะเคยพบกับอาการเหล่านี้มาแล้วอย่างแน่นอน อาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่ผลของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่มีต่อความมึนเมานั้น ไม่ได้มาจากผลของแอลกอฮอลล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากอีกหลายกลไก เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผลจากภาวะขาดน้ำ การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนบางชนิด และผลจากการขาดวิตามินบีชั่วคราว

นอกจากนั้นสารเคมีจากวัตถุดิบในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ก็มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางเช่นกัน แต่ที่สำคัญกลไกหลักของความมึนเมานั้นมาจากผลของแอลกอฮอล์โดยตรง เมื่อผู้บริโภคดื่มสุราแอลกอฮอล์ก็จะดูดซึมมากที่สุดที่ลำใส้เล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสารอเวตาลดีไฮด์ (Acetaldehyde) และจะถูกกำจัดด้วยอัตราคงที่ โดยเกือบทั้งหมดถูกกำจัดที่ตับ ดังนั้นในการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายจึงต้องใช้เวลา และหากตับมีปัญหาก็ยิ่งกำจัดได้ช้าลง

ต่อไปเรามารู้จักกับวิธีการดื่มแบบแปลกๆ เพื่อป้องกันอาการเมาและแฮงค์จากวัยรุ่นกันบ้าง โดยวิธีการเหล่านี้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ต้องพลิกตำรา ค้นหาสารพัดวิธี สอบถามได้จากนักดื่มตามร้านเหล้าชั้นนำทั่วไป (ที่เมาจนจำบ้านเลขที่ไม่ได้) และวิธีที่นักดื่มนิยมมากที่สุดติดอันดับ Top 5 มีดังนี้

  1. ดื่มน้ำเกลือแร่ วิธีนี้ค่อนข้างง่าย ทำเองได้ที่บ้าน หยิบน้ำเปล่ามาดื่มซัก 1 ขวด แล้วดื่มเหล้าตามปกติ แน่นอนว่าเราจะดื่มเหล้าได้น้อยลงเพราะเราจะอิ่มน้ำ 1 ขวดนั้น แต่ความสามารถในการดูดซึมแอลกอฮอลล์นั้นไม่ได้น้อยลงไปด้วย ยังไงก็เมาอยู่ดี ในขณะที่การดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่หลังจากการดื่มเหล้าเสร็จ อาจจะช่วยชดเชยภาวะขาดน้ำได้ แต่ไม่ได้ลดผลของความมึนเมาลง

    เพราะฉะนั้นวิธีนี้ ไม่ได้ผล

  2. ดื่มกาแฟหรือน้ำชา เพิ่มระดับความยากกว่าวิธีแรก อาจต้องใช้ความสามารถในการชงและประคองแก้ว ดื่มเหล้าไป ดื่มกาแฟไป สารคาเฟอีนในกาแฟ จะช่วยให้ผู้ดื่มมีอาการมึนเมาพร้อมกับตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้ดื่มเหล้าได้มากขึ้น แต่สุดท้ายก็เมาแบบไม่รู้ตัว บางสำนักบอกให้ดื่มกาแฟแก้อาการแฮงค์ แม้ว่าดื่มแล้วจะรู้สึกตื่นตัวจากฤทธิ์ของคาเฟอีน แต่อาการบกพร่องของระบบประสาทยังคงอยู่

    เพราะฉะนั้นวิธีนี้ ไม่ได้ผล

  3. กินวิตามิน สมุนไพร ฮอร์โมน ฯลฯ รุ่นพี่ที่เจนจัดในการดื่มบอกว่าสมัยนี้ไม่ต้องกลัวเมา ไม่ต้องกลัวแฮงค์ อัพวิตามิน อาหารเสริม อะไรที่มีขายตามร้านสะดวกซื้อ หาตุนไว้ แต่อาจจะเป็นการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่พบว่าตัวยาเหล่านี้แก้อาการเมา หรืออาการแฮงค์ ถึงมีอาการศึกษาเล็กๆ ที่แสดงว่าวิตามินบีป้องกันการแฮงค์ แต่ก็มีความยุ่งยากในการรักษาและพบกับคนบางกลุ่มเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นวิธีนี้ ไม่ได้ผล

  4. ดื่มน้ำหวาน ผลไม้รสหวาน หรือกลูโคส วิธีนี้ผู้ที่ไม่ชอบทานอะไรหวานๆ อาจจะไม่ถูกใจนัก แต่ถึงจะทำให้หวานแค่ไหนก็ช่วยได้เพียงชดเชยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นมาได้บ้าง แต่ไม่ได้ลดผลจากแฮลกอฮอล์ และกลไกอื่นๆเลย

    เพราะฉะนั้นวิธีนี้ ไม่ได้ผล

  5. ออกกำลังกาย จะวิ่ง จะวิดพื้น ตีลังการาวดอร์ฟ หรือทำอะไรก็ได้ขอให้เหงื่อออก เหงื่อจะได้เป็นตัวขับแอลกอฮอล์ออกมาด้วย ดูเหมือนมีเหตุผล แต่เราอาจจะเข้าใจอะไรบางอย่างผิด เพราะแอลกอฮอล์กว่าร้อยละ 90 ถูกกำจัดที่ตับ น้อยมากที่จะถูกขับออกทางรูขุมขนและไต อีกทั้งถ้าเราเคลื่อนไหลตัวมากขณะดื่ม ก็ยิ่งทำให้เราเมามากขึ้นอีกหลายเท่า

    เพราะฉะนั้นวิธีนี้ ไม่ได้ผล

สรุปแล้วนักดื่มทั้งหลายก็ยังคงเมาจนจำบ้านเลขที่ไม่ได้ต่อไป เพราะไม่มีวิธีใดที่แก้อาการเมาและแฮงค์ได้เลย นอกจากจะเสียสุขภาพแ้ล้ว สำหรับผู้ที่ดื่มแล้วขับยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ลด ละ เลิกเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล