โรคสมาธิสั้น

by kadocom @3-5-54 14.18 ( IP : 203...34 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x129 pixel , 16,958 bytes.

โรคสมาธิสั้น พบในเด็กและวัยรุ่น โดยผู้ป่วยจะมีอาการขาดสมาธิ (attention deficit) และ/หรือ อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactive) ซึ่งอาจหมายถึงการซนมากผิดปกติ ร่วมกับการขาดการยับยั้งชั่งใจ (impulsive) จึงมักเรียกย่อๆ ว่า ADHD เริ่มเป็นก่อนอายุ 7 ขวบ อาการเป็นทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน

อาการขาดสมาธิ (attention deficit) ได้แก่

  • ไม่สนใจรายละเอียดของงาน
  • ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน ใจลอย
  • มักไม่ฟังคนอื่นพูด
  • ทำงาน หรือการบ้านไม่ครบถ้วน
  • ไม่สามารถทำงานให้เป็นระบบ
  • มักเลี่ยงงาน ที่ต้องการความเอาใจใส่
  • มักทำของหาย
  • ว่อกแว่กต่อสิ่งเร้าภายนอก
  • หลงลืมงานประจำวัน

อาการอยู่ไม่นิ่ง (hyperactive)

  • มือเท้ายุกยิก นั่งไม่ติด ลุกจากที่นั่งในห้องเรียน
  • มักวิ่ง ปีนป่ายไปมา ในที่ไม่เหมาะสม
  • เล่นหรือทำกิจกรรมอดิเรกอย่างเงียบๆไม่ค่อยได้
  • อยู่ไม่นิ่ง เหมือนติดเครื่องยนต์
  • พูดมากเกินควร
  • ขาดการยับยั้งชั่งใจ (impulsive)
  • ชิงตอบคำถามก่อนจะถามจบ
  • มักไม่สามารถรอคิวได้
  • ขัดหรือแทรกการสนทนา อาจถึงขั้นก้าวร้าว

สาเหตุ

ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่ามีภาวะของสมองทำงานผิดปกติ จากพันธุกรรม จากภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์/คลอด หรือจากสารบางอย่างในอาหาร เช่น น้ำตาล สารถนอมอาหาร สีสังเคราะห์

การดำเนินโรค

จะสังเกตเห็นว่าผิดปกติ ตั้งแต่เพิ่งเดินได้ แต่อาการยังไม่ชัดเจน บางครั้งแยกไม่ออกว่าเด็กซนตามปกติหรือไม่ อาการจะชัดตอนเข้าเรียนชั้นประถม ถ้าไม่รักษาอาการก็จะดำเนินต่อไปอย่างคงที่ และจะลดน้อยลง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย และวัยผู้ใหญ่ โดยอาจจะมีอาการหลงเหลือเพียงเล็กน้อย

การรักษา

เนื่องจากถ้าเป็นถึงขั้นเป็นโรคสมาธิสั้น จะไม่ใช่เป็นการซนธรรมดา การรักษาควรทำร่วมกันทั้งพฤติกรรมบำบัด และการใช้ยารักษา แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยารักษายังมีการถกเถียงกันอยู่

พฤติกรรมบำบัด

  • ให้รางวัล หรือชมเชย เมื่อเด็กมีความประพฤติดี
  • ลงโทษเด็กอย่างเหมาะสม ไม่ทำโทษรุนแรง เพราะอาจจะทำให้เด็กก้าวร้าวมากขึ้น และขาดความมั่นใจในตนเอง
  • จัดสถานที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โต๊ะเรียนไม่ควรอยู่ใกล้หน้าต่าง หรือสิ่งเร้าอื่น จัดเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ ให้สม่ำเสมอ

การรักษาด้วยยา

ยาที่นิยมใช้ในการรักษามากที่สุดคือ methylphenidate รองลงมาคือ dextroamphetamine โดยให้กินช่วงเช้า หรืออาจให้มื้อเที่ยง ด้วยอาการข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมอาจหยุดยา เพื่อเด็กจะไดัรับประทานอาหารได้มากขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามดารา

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล