หญิงไทยตกเป็นเหยื่อบุหรี่ด้วยค่านิยม

by kadocom @18-8-53 11.34 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 250x159 pixel , 32,296 bytes.

"ด้วยความเป็นผู้หญิง สูบบุหรี่แล้วมันดูเท่ เพราะไม่ค่อยมีผู้หญิงดูดเท่าไหร่จะเหมือนแสดงให้เห็นว่าเราเก๋า แนวอะไรแบบนั้น"ทัศนคติของสาวนักเที่ยวกลางคืนคนหนึ่งที่บอกเล่าเหตุผลของการสูบบุหรี่จากงานวิจัย "เรื่องบุหรี่ในสถานบันเทิงจากนโยบายสู่การปฏิบัติ" ของทีมนักวิจัยศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข ม.มหิดล

โดยมีพิมพวัลย์ บุญมงคลเป็นหัวหน้าโครงการซึ่งงานวิจัยได้นำมาเปิดเผยในงานประชุม"บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ" ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ ม.มหิดล(ศจย.) ร่วมกับ เครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ ซึ่งประเด็นหลักการประชุมครั้งนี้ เน้นเรื่อง "เพศกับบุหรี่" จุดเน้นการตลาดในผู้หญิง และบทบาทของผู้หญิงกับยาสูบ สืบเนื่องจากในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้เตือนให้นานาประเทศระวังภัยจากอุตสาหกรรมบุหรี่ที่รุกคืบ ด้วยการขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้หญิงด้วยกลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อเน้นภาพลักษณ์เปรี้ยวเท่

สอดคล้องกับงานวิจัยดังกล่าวข้างต้นในประเทศไทยที่พบว่าสถานบันเทิงเป็นพื้นที่ให้ผู้หญิงสูบและติดบุหรี่ มีผู้หญิงที่สูบบุหรี่ในขณะเที่ยวสถานบันเทิงถึงร้อยละ 28 ของจำนวนนักเที่ยวที่สูบบุหรี่ทั้งหมด แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้ออกกฎหมายการห้ามสูบบุหรี่ในสถานบันเทิง แต่ผู้หญิงที่เที่ยวเหล่านี้ก็ยังคงสูบบุหรี่ในสถานบันเทิง ซึ่งมีแบบแผนการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 5 มวน-2 ซองในการเที่ยวแต่ละครั้ง มากกว่าการสูบในชีวิตประจำวันถึง 1 เท่าตัว โดยจะสูบบุหรี่ในผับบาร์พร้อมกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเมื่อเห็นคนข้าง ๆ สูบบุหรี่ สูบเพื่อฆ่าเวลาเมื่อต้องนั่งรอเพื่อนอยู่คนเดียว สูบแก้เขิน สูบเมื่อเริ่มคุยกับเพื่อนๆสูบก่อนและหลังการกินอาหาร

ดร.พิมพวัลย์ กล่าวต่อว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ในสถานบันเทิงจะให้คุณค่าเชิงสังคมของการสูบบุหรี่มากกว่าการคำนึงถึงประเด็นความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของตนเองและคนข้างเคียง เพราะการสูบบุหรี่ในสถานบันเทิงทำให้ผู้หญิงไม่ถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นผู้หญิงขายบริการ เนื่องจากสูบกันทั้งกลุ่ม

อีกเหตุผลที่สำคัญผู้หญิงหลายคนสูบบุหรี่ในสถานบันเทิงเพราะคิดว่าเป็นเรื่องของการสร้างอิมเมจเป็นความเท่ ทำให้ดูดี ดูก๋ากั่น ดูแรง เป็นเด็กแนว มีความเป็นแบบฉบับ และชนิดบุหรี่ที่สูบจะถูกเลือกให้ผูกโยงกับ เสื้อผ้า กระเป๋า และรองเท้าที่ใส่ ท่าทางการเต้นรำ

นอกจากนี้บริษัทบุหรี่ยังหาช่องทางการจดจำแบรนด์สินค้าแบบใหม่ด้วยการใช้พริตตี้แต่งตัวที่มีโลโก้หรือสีสันของบุหรี่ยี่ห้อนั้น ๆ กลายเป็นที่สนใจของคนที่มาเที่ยวผับจนต้องใช้มือถือมาถ่ายรูปแล้วส่งต่อกลายเป็นช่องทางโฆษณาทางสื่อโซเชี่ยลมีเดียไปอย่างไม่รู้ตัว

"แคมเปญรณรงค์การหยุดสูบบูหรี่ที่ให้ข้อมูลว่าผู้หญิงสูบบุหรี่แล้วแก่เร็วปรากฏว่าไม่ได้ผลสำหรับกลุ่มผู้หญิงที่นิยมสูบบุหรี่ในผับบาร์ เพราะบริษัทบุหรี่ใช้กลยุทธ์โฆษณาบุหรี่ในตระกูล light mild mint สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ชนิดดูอ่อนกว่าบุหรี่ปกติ แต่แท้จริงมีสารนิโคตินก่อให้เกิดโรคร้ายเท่ากัน"

ด้าน นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าผู้หญิงต้องรู้เท่าทันอุตสาหกรรมบุหรี่ โดยสถานการณ์การสูบบุหรี่ของผู้หญิงประเทศไทย จากข้อมูลของ สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่ประมาณ 800,000 คน คิดเป็น ร้อยละ 3.1 ของจำนวนผู้หญิงไทยทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าบุหรี่ที่ซื้อมาสูบในแต่ละปีสูงถึง 1,763 ล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้คงพอทำให้เห็นว่า หากขยายตลาดไปสู่ลูกค้าเพศหญิงให้มากขึ้น จะทำกำไรได้มากมายมหาศาล

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยกรมสรรพสามิตต้องจับกุมบุหรี่ที่ผลิตสำหรับผู้หญิงที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้า แต่มีการวางขายตามที่ต่าง ๆ อย่างผิดกฎหมายเช่น ตลาดนัดจตุจักร สยามสแควร์ และสะพานพุทธ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า วัยรุ่นหญิงจำนวนมากเริ่มติดบุหรี่ที่ผับบาร์ ตำรวจจึงต้องกวดขันการห้ามสูบบุหรี่ในผับบาร์ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินคดีกับบริษัทบุหรี่ที่ใช้พริตตี้ส่งเสริมการขายตามผับบาร์ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดงานอีเวนต์ แนะนำบุหรี่ยี่ห้อต่างๆ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล