ปรับจิตใต้สำนึกเปิดประตูความสุขอย่างยั่งยืน

by kadocom @8-12-52 09.39 ( IP : 202...24 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 73,205 bytes.

นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลนารมย์แนะนำดึงจิตใต้สำนึกมาสู่วิธีคิดเชิงบวกที่จะช่วยให้ความสุขอยู่กับตัวคุณตลอดไปสุขได้โดยไม่ง้อเงินทอง ถ้าจะถามว่าใครอยากมีชีวิตที่มีความสุขบ้าง ทุกคนคงจะตอบว่าต้องการ คงไม่มีใครอยากมีความทุกข์ แต่ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร คำตอบของแต่ละคนคงจะแตกต่างกันออกไปมากมาย บ้างความสุขก็เกิดจากการมีทรัพย์สินเงินทองมากๆ ได้เป็นคนมีชื่อเสียง มีอำนาจ มีเกียรติยศ มีบ้าน มีรถหรูๆ มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีแฟนสวย แฟนหล่อ ได้ขับรถเร็วๆ ได้เที่ยว ทั่วโลก ได้กินอาหารอร่อย มีเสื้อผ้าสวยๆ ดูหนัง ฟังเพลง มีความสุขทางเพศ มีครอบครัวที่น่ารัก หรือการมีลูกเรียนหนังสือเก่งๆ เป็นต้น

มนุษย์มีความสุข 2 ประเภท คือ ความสุขทางกาย และความสุขทางใจ ความสุขทางกาย ส่วนใหญ่จะเป็นการเสพเพื่อตอบสนองความต้องการทางกาย ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ซึ่งเป็นความสุขส่วนบุคคล เกิดขึ้นไม่นานก็หายไป เมื่อไม่มีสิ่งเร้าเป็นตัวกระตุ้น เช่น การลิ้มรสอาหาร ดูหนัง ฟังเพลง การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

ความสุขทางใจ เช่น การมีทรัพย์สมบัติมากๆ มีอำนาจ มีชื่อเสียง มีหน้ามีตาในสังคม มีแฟนสวย แฟนเก่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นความสุขที่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกจึงจะมีความสุขได้ แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน จึงหาความยั่งยืนได้ยาก ความสุขทางใจที่กล่าวมานี้ ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอาจจะมองได้ว่า เป็นการหลีกหนีความทุกข์ใจมากกว่า ความทุกข์ที่ว่านี้ก็คือ ความรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองดีพอหรือยัง มีความสำคัญ มีคุณค่าพอหรือยัง ความรู้สึกไม่มั่นใจที่พูดถึงนี้ มิใช่ความรู้สึกในระดับจิตสำนึกแต่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึกที่อยู่ในจิตใจระดับลึกมาก เราทุกคนจะไม่รู้ตัว เมื่อรู้สึกไม่สุขใจก็จะพยายามแก้ปัญหาและสร้างความมั่นใจให้กับตนเองโดย อาศัยปัจจัยภายนอก

ยิ่งถ้าระดับความมั่นใจในคุณค่าตัวเองขาดแคลนมากความพยายามให้เกิดความมั่นใจก็ยิ่งต้องมากตามไปด้วย จำเป็นต้องแสวงหาปัจจัยภายนอกมาเสริมให้มากยิ่งขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าไม่รู้จักพอ เกิดอาการโลภ ต้องทำทุกวิถีทาง แม้แต่การโกง ทุจริต ต้องดิ้นรนตะเกียกตะกาย แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน เงินทอง ลาภยศ สรรเสริญ เพราะไม่มั่นใจว่าตัวเองรวยพอหรือยัง ดีพอหรือยัง มีคุณค่าพอหรือยัง

นอกจากนี้ผู้ที่มีความมั่นใจในคุณค่าตัวเองต่ำ บางรายนอกจากพยายามตะเกียกตะกายเรื่องวัตถุแล้ว ยังอาจใช้วิธีที่จะทำให้ตัวเองอยู่ได้ รู้สึกมั่นใจขึ้นโดยวิธีการมองดูคนอื่นว่า ก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าฉันเท่าไหร่ คอยจ้องมองหาข้อเสียของคนอื่นมากกว่าจะมองหาข้อดี เพื่อความสบายใจของตัวเองว่าฉันก็โอเค ไม่ได้แย่เท่าไหร่วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการแก้ปัญหา ที่ไม่สร้างสรรค์และสร้างปัญหาต่อไปอีกมากมาย ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การขัดแย้งทะเลาะเบาะแว้ง ดังนั้น ความสุขทางใจที่ยั่งยืนน่าจะเป็นความสุขจากภายในที่ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากนัก แต่เป็นความรู้สึกมีคุณค่า มั่นใจในคุณค่าของตนเองจากภายใน

ยกตัวอย่างเช่น เราเคยเห็นดาราหรือนางงาม ทั้งที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามแต่กลับอยากตายและกินยาฆ่าตัวตาย เพราะอกหัก แฟนทิ้ง หรือไปมีคนอื่นแล้วตัวเองทำใจไม่ได้ รู้สึกไร้ค่า จึงกินยาฆ่าตัวตายในขณะที่คนที่พิการไม่มีแขน ไม่มีขา หน้าตาไม่ได้สวยสดงดงามแต่ก็ไม่ได้คิดอยากตาย รู้สึกว่าตัวเองมีค่าสามารถ ทำมาหากินเลี้ยงตัวเองด้วยการพึ่งตนเอง ใช้ปากคาบพู่กันวาดรูปขาย ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะคนพิการผู้นี้สามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเอง มั่นใจในคุณค่าตนเอง จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ ดำเนินชีวิตต่อไปได้ สามารถสร้างสรรค์และทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้ คนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะมีภาวะซึมเศร้าและถึงที่สุดมีความคิดมั่นใจว่าตนเองไม่มีคุณค่า รู้สึก ไร้ค่า

การเห็นคุณค่าในตนเอง รู้สึกดีต่อตนเอง ไม่ใช่เรื่องง่าย ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เนื่องจากคนหนึ่งคนมีบทบาทหลายด้านมาก สวมหมวกหลายใบ และต้องการที่จะให้ดีไปทุกๆด้าน ตั้งแต่เป็นลูกที่ดี เป็นพี่ที่ดี เป็นน้องที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี พนักงานที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี ลูกน้องที่ดี หัวหน้าที่ดี พ่อที่ดี แม่ที่ดี ลุงป้าน้าอาที่ดี ปู่ย่าตายายที่ดี เป็นหลานที่ดี เป็นประชาชนที่ดี พลเมืองที่ดี ซึ่งด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดของแต่ละคน โดยเฉพาะเรื่องเวลา

การจะทำให้ดีเต็มร้อยได้ในทุกบทบาทโดยไม่มีข้อตำหนิหรือบกพร่องเลยแทบจะเป็นเรื่อง ที่เป็นไปไม่ได้ การที่จะต้องทำให้ได้เต็มร้อย ทุกบทแล้วจึงจะมีความสุขได้ ก็คงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ดังนั้น แต่ละคนอาจจะต้องมากำหนดเป้าหมายของตัวเองเป็นเป้าหมายที่เป็นจริง มีความเป็นไปได้ จัดลำดับความสำคัญ และจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อตัวเองจะได้ทำได้สำเร็จตามเป้าในระดับที่คิดไว้และไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกบกพร่องหรือเป็นคนไม่ดี

ความสามารถมองเห็นคุณค่าในตนเองและยอมรับตนเองได้มากหรือน้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนเรามีความสุขได้ง่ายหรือยาก คนที่เติบโตมาในบรรยากาศครอบครัวที่ดี ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงครอบครัวที่ฐานะดี แต่หมายถึงครอบครัวที่บรรยากาศอบอุ่นเข้าใจกัน เอาใจใส่ความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัว ให้เกียรติกันให้ความสำคัญของกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อตนเอง มั่นใจ (ในระดับจิตใต้สำนึก) ว่า “ฉันมีค่า ฉันใช้ได้ ฉันมีข้อดี ฉันมั่นใจว่าฉันสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตฉันได้” ก็ถือว่าโชคดี มีโอกาสมีความสุขในชีวิตได้ง่าย แต่สำหรับคนที่ครอบครัวเตรียมทุนด้านจิตใจ มาให้น้อยก็มีโอกาสเกิดปัญหามากกว่า แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะความสามารถมองเห็นค่าและยอมรับตนเองเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ แต่การพัฒนาตอนโตอาจจะยากกว่าช่วงวัยเด็ก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ถ้าพยายามและเมื่อทำได้สำเร็จก็ถือว่าคุ้ม เพราะจะช่วยให้ชีวิตคนผู้นั้นทุกข์น้อยลงมีความสุขง่ายขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นความดีส่งผลถึงคนรอบข้างด้วย เพราะคนเราทุกคนเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน คนที่มีความสุขก็จะส่งผลให้คนที่อยู่รอบข้างมีความสุข อารมณ์ดีไปด้วย

คนที่สามารถมองเห็นและยอมรับคุณค่า ในตนเองได้ ก็ไม่ต้องคอยเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา สามารถมองโลกแง่บวกได้ง่าย โกรธยาก แค้นยาก ให้อภัยง่าย มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันได้ง่าย จึงมีความสุขในชีวิตได้ง่าย

ดังนั้น ใครที่อยากมีความสุขในชีวิตก็ควรที่จะเริ่มจากการหาเวลาในแต่ละวัน แล้วแต่สะดวก สัก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เวลากับตนเองจริง ๆ ในการฝึกผ่อนคลาย ทำสมาธิ โยคะ ซี่กง หรืออะไรก็แล้วแต่เพื่อเป็นการพักสมองผ่อนคลายและฝึกสติ

ทบทวน พิจารณาตนเอง พิจารณาอารมณ์และวิธีคิดของตนเอง มีจุดใดที่สมควรปรับปรุง ถ้าปฏิบัติและศึกษาหาความรู้เพื่อเติมเป็นมุมมองชีวิตให้กว้างขึ้นเป็นประจำ ก็คงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สามารถช่วยให้เกิดความสุขทางใจที่เกิดจากภายในที่มีความยั่งยืนได้ไม่ยากนัก

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล