แนะถูกทาง บุหรี่ก็เลิกได้

by kadocom @19-10-52 08.54 ( IP : 202...24 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 73,428 bytes.

บุหรี่ยังเป็นปัญหาที่สำคัญของระบบสาธารณสุขของทั่วทุกมุมโลก และเป็นต้นเหตุของโรคต่างๆ มากมาย ยังพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่นั้นจะอยู่ในกลุ่มของวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่

          จากการสำรวจพบว่า 35% ของผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ส่วนผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความชำนาญขึ้น จะพบเปอร์เซ็นต์ของผู้สูบบุหรี่ลดลงเป็น 14% โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านเรานั้นจะอยู่ที่ 9.9 มวนต่อวัน โดยชนิดของบุหรี่ที่สูบนั้น 98% เป็นบุหรี่ที่ผลิตในประเทศ ส่วนบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศมีเพียง 1.3% เท่านั้น

          นพ.พิเชษฐ์ เจริญศิริวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบทางเดินหายใจ จากโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง มาตรฐานการรักษาของโรคถุงลมโป่งพอง ในปัจจุบันนั้นการรักษาด้วยยาต่างๆ เป็นเพียงการรักษาเพื่อบำบัดอาการของโรคเป็นส่วนใหญ่ แต่การรักษาที่พบว่าสามารถเปลี่ยนแปลงพยากรณ์ของโรคได้ และมีผลทำให้ชีวิตของผู้ป่วยยืนยาวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินั้น คือ การหยุดบุหรี่และการให้ออกซิเจนในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง

          ดังนั้น โดยมาตรฐานของการรักษาผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองในปัจจุบันนั้น จะต้องมีหมวดของการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเพื่อเลิกสูบบุหรี่รวมอยู่ด้วยเสมอ ในขณะนี้เริ่มมีการให้ความสำคัญและความรู้สู่ประชาชนเป็นวงกว้างมากขึ้น เป็นผลให้ผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดมากขึ้น และประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเช่นกัน

          ปัจจัยในการเลิกบุหรี่
          หลักการทั่วไปในการทำให้ผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่นั้น ประกอบด้วยหลักการใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้ คือ 5A ซึ่งประกอบด้วย

          1. Ask-ถาม ถือเป็นหัวข้อสำคัญและถือเป็นกระบวนการแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเก็บข้อมูลขั้นพื้นฐานว่า ผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความยากง่ายในการที่จะประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ได้หรือไม่อย่างไร โดยทั่วไปสำหรับคลินิกหยุดบุหรี่ถามอะไรบ้าง

          - ข้อมูลทางคลินิกทั่วไป เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ประวัติโรคระบบหายใจ หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ ที่มี เป็นต้น

          - ข้อมูลเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ของผู้ป่วย เช่น จำนวนมวนที่สูบต่อวัน ระยะเวลาที่สูบ ประวัติการเลิกสูบบุหรี่ก่อนหน้านี้ หรือประวัติการบำบัดการติดบุหรี่ก่อนหน้านี้

          - ข้อมูลหรือปัจจัยที่เป็นตัวชักนำให้ผู้ป่วยตัดสินใจในการเลิกสูบบุหรี่ เช่น เพราะตั้งครรภ์ ป่วยหนักจากโรคเบาหวาน หรือหัวใจ หรือถุงลมโป่งพองเอง เพราะตระหนักถึงภัยของบุหรี่ขึ้นมาเอง ต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น

          2. Advise-ให้คำแนะนำ ในการบำบัดการติดบุหรี่นั้น ผู้ป่วยที่มารับการบำบัดนั้นถือว่ามีภาวะจิตใจที่ต้องการความมั่นใจจากแพทย์ หรือทีมงานที่ดูแลรักษาเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยควรจะต้องเป็นคำแนะนำที่หนักแน่น ชัดเจน และเป็นกันเองในระดับหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจมากขึ้น และกล้าพอที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วจากรายงานทางการแพทย์ต่างๆ ได้ยืนยันว่า ผู้ป่วยที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากการหักดิบมากกว่าการค่อยๆ ลดลง ซึ่งโดยหลักจิตวิทยานั้นเป็นไปได้มาก เพราะการหักดิบนั้นอาศัยความตั้งใจสูง และใจที่พร้อมจะทนต่อความรู้สึกอยากสูบที่ตามมาภายหลัง แต่ที่สำคัญนั้นในประสบการณ์ของแพทย์

          3. Assess-ประเมินผู้ป่วย ความหมายในขั้นตอนนี้ คือ การที่แพทย์หรือทีมแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องประเมินถึงความต้องการในการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วยแต่ละรายอย่างตรงไปตรงมา เพราะในบางรายพบว่าตัวผู้ป่วยมาด้วยความเกรงใจพ่อแม่ สามี/ภรรยา ฯลฯ มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ ซึ่งก็เป็นหลักตรรกะง่ายๆ ว่า ตัวผู้ป่วยไม่ได้อยากเลิกด้วยตัวเอง การประเมินความตั้งใจของผู้ป่วยทำให้แพทย์พอจะทำใจได้ล่วงหน้าแล้ว แต่หลักการนั้นไม่สมควรที่จะบอกปัดผู้ที่พาผู้ป่วยมาโดยไม่ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยเลย เพราะพบว่าในบางรายนั้น ญาติกลับมีอิทธิพลมากพอที่จะชี้นำผู้ป่วยจนใจอ่อนและกลับมาร่วมมือมากขึ้นในภายหลัง ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้จะพบได้น้อยแต่ก็คุ้มค่า

          4. Assist–ให้ความช่วยเหลือ ในกรณีนี้ประกอบด้วยการให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม รวมถึงการช่วยเหลือต่างๆ ที่สำคัญ คือ

          - การช่วยเหลือผู้ป่วยกำหนดวันที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งถ้าผู้ป่วยรู้สึกลังเล แพทย์อาจจะเป็นผู้แนะนำตามความเหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปควรอยู่ในเกณฑ์ 1-2 สัปดาห์หลังการพบแพทย์

          - แนะนำให้ผู้ป่วยบอกครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรอบข้างว่าจะเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งคำสัญญาที่จะต้องรับผิดชอบ และเป็นแรงกดดันในใจของผู้ป่วยได้ แต่แพทย์ควรจะชักจูงให้เห็นถึงความสำคัญของวิธีนี้ ที่จะเปลี่ยนแรงกดดันที่มีมาเป็นแรงผลักดันให้ผู้ป่วยรู้สึกอยากเลิกแทน

          - เตือนผู้ป่วยล่วงหน้าถึงอาการต่างๆ ที่ผู้ป่วยจะต้องพบในช่วงสัปดาห์แรกหลังการเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปรียบเหมือนการท้าทายแบบหนึ่ง โดยการท้าทายแบบนี้เป็นตัวทดสอบที่สำคัญว่า ผู้ป่วยจะสามารถผ่านขั้นตอนของการเลิกสูบบุหรี่ได้หรือไม่ อาการต่างๆ ที่เกิดนั้นก็เป็นอาการของการถอนนิโคตินจะหงุดหงิด ซึ่งอาการเหล่านี้จะมีในผู้ป่วยที่เลิกสูบบุหรี่ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก โดยอาการดังกล่าวนี้จะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นกับปริมาณของบุหรี่ที่ผู้ป่วยสูบก่อนที่จะเลิก ในรายที่สูบจัดหรือมาก ก็มักจะมีผลข้างเคียงของการถอนนิโคตินค่อนข้างมากทีเดียว ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะต้องให้ยา เพื่อลดความหงุดหงิดและกระสับกระส่ายลง

          - ข้อแนะนำอีกอย่างที่สำคัญ คือ การทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไปให้หมด เช่น ไฟแช็ก หรือมวนบุหรี่ที่เหลือจากการเลิกสูบก็ให้ทิ้งไป

          - เมื่อผู้ป่วยสามารถผ่านการเลิกสูบบุหรี่ได้แล้ว แพทย์จะต้องย้ำอย่างหนักแน่นต่อผู้ป่วยในเรื่องของการกลับไปสูบเล็กๆ น้อยๆ นั้นไม่สมควร เพราะจะเป็นปัจจัยหรือโอกาสให้ผู้ป่วยกลับไปเริ่มต้นสูบใหม่ได้เกือบจะทุกราย

          - การให้ยาช่วยบำบัดการติดบุหรี่ ในปัจจุบันนั้นก็มียาใหม่ๆ ออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น ซึ่งเริ่มมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมาก แต่การจะใช้ก็อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เช่นกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ First line medication เป็นยาที่ช่วยออกฤทธิ์โดยตรงสำหรับเลิกบุหรี่ หรือช่วยทำให้ผู้ป่วยไม่อยากที่จะสูบบุหรี่ และ Second line medication ได้แก่ ยาที่ช่วยลดความวิตกกังวลขณะหยุดบุหรี่ ซึ่งก็จัดเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่แพทย์ใช้ประกอบในการรักษาด้วยเช่นกัน

          5. Arrange-จัดการ แพทย์และทีมที่ดูแลรักษาช่วยจัดระบบในการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้ก็จะเป็นทั้งการจัดสถานที่ตรวจ การนัดพบแพทย์ที่ต้องไม่ห่างเกินไป และการมีระบบให้โทร.ปรึกษาได้ตลอดเวลา ซึ่งโดยวิธีการนี้ในประเทศไทยก็เริ่มมีการนำมาใช้ โดยมีจัดเป็นศูนย์ Hotline สำหรับปรึกษาเรื่องการเลิกสูบบุหรี่ โดยสมาคมต่อต้านการสูบบุหรี่แห่งประเทศไทย

          อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์แล้ว พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะนิยมโทร.ไปปรึกษาแพทย์หรือทีมแพทย์ที่ให้การบำบัดรักษามากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ในระบบราชการอาจจะใช้เป็นเจ้าหน้าที่ด้านจิตวิทยาที่มีประสบการณ์คอยให้คำแนะนำได้ แต่ในระบบของเอกชนนั้น ก็แล้วแต่ระบบที่จัดขึ้นในโรงพยาบาลนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นแพทย์เองให้ผู้ป่วย โทร.ปรึกษา โดยตรงได้







ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

http://www.thaihealth.or.th/node/11550

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล