"โกรธ" หรือ "โมโห" อย่างไรเพื่อให้เกิดปัญญา

by kadocom @23-9-52 08.52 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 12,163 bytes.

ความโกรธและความโมโหเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดากับทุกๆ ท่าน ตราบใดที่ท่านยังมีความรู้สึกนึกคิด ท่านใดที่เป็นคนโกรธยากโมโหยากนับว่าเป็นความโชคดี เพราะเท่ากับเป็นการลดโอกาสของการเกิดความรู้สึกทุกข์ในใจของท่าน บางครั้งเป็นความยากเหลือเกินสำหรับปุถุชนคนธรรมดาอย่างท่านๆ ทั้งหลายที่จะระงับการกระทำบางอย่างที่มักจะเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลเมื่อถึงเวลาโกรธโมโห หลายๆ ท่านเสียใจกับการกระทำของตัวเองเมื่อหายจากอารมณ์โกรธโมโห และบอกกับตัวเองว่าจะไม่ทำอย่างนี้อีก แต่ก็หาไม่จะทัดทานอารมณ์โกรธและโมโหของตัวท่านเองที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าได้ และพานให้ต้องประพฤติ ปฏิบัติ หรือกระทำสิ่งต่างๆ ที่ไร้เหตุผลอีกเช่นเคย

อย่างไรก็ดี การห้ามไม่ให้โกรธหรือโมโหนั้นเป็นเรื่องยาก หรือสำหรับบางท่านอาจจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่อยากเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะฝึกหัดให้เราเป็นคนที่โกรธได้ยากขึ้น หรือเป็นคนที่โมโหได้ยากขึ้น ถ้าเป็นหลักทางพระพุทธศาสนาก็เข้ากับหลักของการรู้เท่าทันนั่นคือ โกรธ ก็ให้ท่านรู้ตัวว่าท่านกำลังโกรธอยู่ ถ้าท่านโมโหก็ให้ท่านรู้ตัวว่าท่านกำลังโมโหอยู่ การรู้เท่าทันนั้นเป็นการพยายามที่จะยึดครองสติให้ได้ตลอดเวลา และการมีสตินี่เองที่จะเป็นตัวควบคุมให้ตัวท่านเองได้เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการโกรธหรือการโมโหของท่าน และจุดนี้เองที่ปัญญาจะได้เกิดขึ้นในใจท่าน เพราะถ้าไม่มีปัญญาท่านก็จะไม่สามารถเรียนรู้หรือจัดการความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวท่านได้เลย

หลายท่านอาจจะฉงนสงสัยว่าเป็นไปได้หรือที่ท่านจะฝึกหัดตัวท่านเองในการที่จะทำให้โกรธหรือโมโหได้ยากขึ้น ขอตอบว่าได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะความโกรธโมโหเป็นเรื่องของจิตใจ โดยที่สามารถยกตัวอย่างได้ว่า ก็เหมือนกับการที่หลายๆ ท่านเป็นคนที่ไม่ชอบออกกำลังกายมาก่อน แต่พอรู้ว่าการออกกำลังกายนั้นดีช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานทางกาย ก็พยายามฝึกจิตใจให้ตนเองชอบการออกกำลังกาย การที่ท่านชอบออกกำลังกายนั้นมิใช่ร่างกายของท่านชอบ แต่เป็นจิตใจของท่านต่างหากที่ชอบ บางท่านติดสุรา ติดบุหรี่ แต่เมื่อรู้ว่าทั้งสองสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพของตัวท่านเองและผู้อื่น ก็พยายามที่จะฝึกตัวท่านเองให้เลิกจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่

การติดเหล้าและติดบุหรี่นั้นมิใช่ร่างกายของท่านที่ติด แต่เป็นจิตใจของท่านที่ติด ทั้งสองตัวอย่างที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เป็นสิ่งที่ท่านผู้อ่านสามารถพบได้แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยและสามารถฝึกตนเองจนกลายเป็นคนที่หันมาออกกำลังกายเป็นชีวิตประจำวัน คนที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่เป็นประจำสามารถที่จะฝึกในการที่ดื่มให้น้อยลงเรื่อยๆ หรือสูบให้น้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถหยุดดื่มหยุดสูบไปได้โดยสิ้นเชิง เหล่านี้ถือเป็นการฝึกหัดทั้งนั้น แต่เป็นการฝึกหัดทางด้านจิตใจ

หลายๆ ท่านมักจะมองว่าความโกรธหรือความโมโหเป็นนิสัยมิใช่สิ่งที่แก้ไขได้ ซึ่งจากคำอธิบายของผมข้างต้นคงจะทำให้ท่านเข้าใจขึ้น และไม่อยากให้ท่านมองว่าความโกรธโมโหเป็นนิสัยที่จะติดตัวไปจนวันตาย สิ่งหนึ่งที่ท่านควรระลึกไว้เสมอ คือ การโมโหยาก การโกรธยาก นั้นเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นสิ่งที่ฝึกหัดกันได้ เหมือนท่านฝึกเล่นกีฬา ฝึกร้องเพลง ที่ต้องใช้ความพยายาม ใช้เวลา และความอดทน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะความเข้าใจของท่านว่าจะพยายาม จะเสียเวลา จะอดทนไปเพื่ออะไร อาทิ บางท่านมีความพยายามในการฝึกร้องเพลง เสียเวลาไปมากมายกับการฝึกร้องเพลง หรืออดทนกับความไม่เอาไหนในความสามารถในการร้องเพลงของท่าน เพราะท่านเข้าใจว่าท่านจะอดทนไปเพื่ออะไร บางท่านอาจจะเพื่อต้องการสร้างความสุขความบันเทิงในหมู่ครอบครัวและเพื่อนฝูง บางท่านเชื่อว่าการได้ฟังตัวเองร้องเพลงเพราะๆ จะสามารถสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับตนเอง

เช่นเดียวกันกับการเลิกโกรธ การเลิกโมโห ถ้าท่านคิดว่าท่านอยากจะเริ่มฝึกหัด ก็ขอให้ท่านเริ่มโดยให้พิจารณาดูว่าการฝึกหัดดังกล่าวจะเกิดประโยชน์อะไรบ้างสำหรับตัวท่าน โดยที่ท่านสามารถลองพิจารณาถึงเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำกิจการการงาน สุขภาพจิต และสุขภาพกายของตัวท่านเอง ลองพิจารณาดูเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ท่านจะต้องพยายามฝึกฝนให้โกรธยากหรือโมโหยากไปเพื่ออะไร เพื่อกระตุ้นให้ท่านฝึกหัดให้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง

เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาที่ท่านโกรธหรือโมโห ถ้าควบคุมไม่ได้จริงๆ ก็ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติตามอารมณ์และความรู้สึกของท่าน อย่างที่เรียนให้ทราบว่าแรกๆ ก็ต้องค่อยๆ ฝึกค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ดีเมื่ออารมณ์โกรธโมโหของท่านหายไปแล้ว ขอให้ท่านลองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า รู้ตัวหรือไม่ว่าขณะนั้นโกรธอยู่หรือขณะนั้นโมโหอยู่ ถ้าคำตอบของท่านคือ "ไม่รู้ตัว" ก็ให้ท่านฝึกหัดถามตัวเองทุกครั้งหลังจากที่อารมณ์โกรธโมโหของท่านหายไป จนกว่าคำตอบจะเป็นคำว่า "รู้ตัว"

และในขั้นตอนต่อไป เมื่อท่านฝึกหัดจิตใจของท่านจนสามารถครองสติและรู้ตัวเสมอว่า ตอนนี้กำลังโกรธอยู่ หรือตอนนี้กำลังโมโหอยู่ ก็ให้ท่านเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับความโกรธและโมโหของท่านกล่าวคือ เมื่อท่านรู้ตัวว่าท่านโกรธหรือโมโหอยู่จนอารมณ์ดังกล่าวหมดไป ให้ท่านเริ่มตั้งคำถามกับตัวท่านเองเช่นเคย แต่ในขั้นตอนนี้ให้ท่านถามว่า ขณะที่โกรธนั้นร่างกายของท่านตอบสนองต่ออารมณ์โกรธโมโหอย่างไร สีหน้าของท่านเวลาโกรธหรือโมโหน่าจะเป็นอย่างไร คนรอบข้างของท่านประพฤติปฏิบัติกับท่านอย่างไร

ถ้าท่านถามตัวท่านเองและยังหาคำตอบไม่ได้อย่างชัดเจน ก็ให้ฝึกถามตัวเองไปเรื่อยๆ จนคำตอบที่ได้นั้นซ้ำกับคำตอบเดิมทุกคำตอบ แสดงว่าท่านได้สามารถที่จะเรียนรู้แล้วว่าความโกรธหรือความโมโหของท่านคืออะไร

ในขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ท่านรู้และเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า ความโกรธและโมโหของท่านคืออะไร ก็ให้ลองฝึกที่จะลดปริมาณความโกรธและความโมโหเรื่อยๆ อาทิ ท่านได้เรียนรู้ว่าสีหน้าของท่านน่าจะบูดบึ้งและเคร่งเครียดมาก เวลาที่ท่านโกรธโมโหก็ให้ท่านลองพยายามฝึกหัดทำสีหน้าให้เคร่งเครียดหรือบูดบึ้งน้อยลงในขณะที่กำลังโกรธหรือโมโหอยู่ หรือบางท่านได้เรียนรู้ว่าเวลาโกรธหรือโมโหแล้วชอบทำลายข้าวของ ก็ให้ท่านลองพยายามฝึกหัดทำลายข้าวของให้น้อยลง และดังเช่นเคยที่ว่าทุกครั้งที่อารมณ์โกรธโมโหของท่านหมดไป ก็ให้ท่านถามตัวท่านเองทุกครั้งว่าท่านได้ทำสิ่งที่เป็นความโกรธโมโหของท่านน้อยลงหรือไม่ ในกรณีตัวอย่างนี้คือให้ท่านถามตัวท่านเองว่าท่านได้ทำสีหน้าให้บูดบึ้งน้อยลงหรือไม่ ท่านได้ทำลายข้าวของน้อยลงหรือไม่ และขอให้ท่านฝึกหัดถามตัวท่านเองอย่างนี้ทุกครั้งหลังจากที่อารมณ์โกรธหรือโมโหหมดไป จนกว่าจะได้คำตอบว่า "น้อยลง" ไปเรื่อยๆ จนในที่สุดได้รับคำตอบว่า "ไม่ได้ทำสิ่งดังกล่าวเลย" ซึ่งก็เป็นสัญลักษณ์ที่ว่าท่านสามารถที่จะฝึกหัดให้ตัวท่านเองไม่ให้โกรธหรือไม่ให้โมโหในบางสถานการณ์ที่ยั่วยวนให้เกิดอารมณ์โกรธโมโหได้

จากคำอธิบายที่ผ่านมาท่านจะเห็นได้ว่า การเรียนรู้ที่จะเป็นคนที่โกรธยากโมโหยากนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถทำสำเร็จภายในหนึ่งหรือสองวัน คนทุกคนมีสิทธิโกรธมีสิทธิโมโหแต่ท่านเลือกได้ว่าจะเก็บเอาประสบการณ์ความโกรธความโมโหมาเป็นบทเรียน หรือจะเอาประสบการณ์ดังกล่าวทิ้งไปพร้อมกับอารมณ์โกรธโมโหที่ดับไป และพร้อมที่จะเกิดขึ้นอีกมาเมื่อไรก็ได้ ไม่ผิดที่ท่านจะมีอารมณ์โกรธโมโห แต่คุณค่าในการใช้ชีวิตของท่านน่าจะถูกลดลงไปเรื่อยๆ เมื่อไม่รู้จักที่เรียนรู้เกี่ยวกับความโกรธและโมโหของตัวท่านเอง เพราะฉะนั้นจึงอยากขอกล่าวสรุป ณ ที่นี้ว่า ถ้าจะโกรธ ก็ให้โกรธ ถ้าจะโมโห ก็ให้โมโห แต่ขอให้โกรธและโมโหเพื่อให้เกิด "ปัญญา" ดังขั้นตอนที่แนะนำไว้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล