ยาเสพติด “สูตรอันตราย”

by kadocom @15-9-52 08.47 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 82,468 bytes.

ปัญหายาเสพติดในภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงพบการแพร่ระบาดของยาสูตร 4x100 ซึ่งนิยมมากในหมู่วัยรุ่น มีส่วนประกอบหลักสี่อย่าง คือ น้ำต้มใบกระท่อม น้ำอัดลมประเภทโคล่า ยาน้ำแก้ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีน หรือไดเฟนไฮดรามีน และสุดท้าย คือ ยากล่อมประสาท หรือ ปัจจุบันอาจเพิ่มเป็น 8x100 แต่ส่วนผสมหลัก ๆ ก็ยังคงไม่หนีจากที่กล่าวมาข้างต้น

พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) กล่าวว่า แม้พืชกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์รุนแรง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีสารสำคัญที่พบในใบกระท่อมคือ ไมทราไจนีน เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ ยาบ้า ยาอี ไอซ์ และโคเคน แต่การเสพใบกระท่อมจำนวนมาก หรือ เป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น รวมทั้งมีอาการเสพติดทางจิตใจหรือ "เสี้ยนยา"

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ วิธีการนำมาเสพด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ซึ่งพบพฤติกรรมคึกคะนองของวัยรุ่น โดยการนำน้ำต้มใบกระท่อมไปผสมกับส่วนผสมอื่น เช่น ยาจุดกันยุงชนิดขด สารฟลูออเรสเซนต์จากหลอดไฟนีออน เป็นต้น

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบชายวัย 21 ปี จ.นราธิวาส เสียชีวิต ซึ่งผลตรวจชันสูตรคาดว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เสพยาเสพติด 4x100 โดยมีรายงานจาก พ.ต.ท.วิเชียร ตั้งธนานุวัฒน์ กลุ่มงานนิติวิทยา สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า มีศพผู้เสียชีวิตถูกนำส่งมาชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตาย แต่เนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตปฏิเสธการยินยอมให้ผ่าศพ ดังนั้น จึงสามารถตรวจได้เพียงตัวอย่างเลือดและปัสสาวะเท่านั้น จากการตรวจพบยาและสารเมตาโบไลต์ของยาหลายชนิด เช่น ไมทราไจนีน ซึ่งเป็นสารกลุ่มอัลคาลอยด์จากพืชกระท่อม คาเฟอีน 0.39 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยาบำบัดความเครียด นอนไม่หลับ (อัลปราโซแลม) 0.2 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยารักษาโรคซึมเศร้า (นอร์ทริพไทลีน) 1.78 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมทาโดน 0.3 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ยาระงับประสาท (ทรามาดอล) 0.27 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และยากระตุ้นประสาท (เมทแอมเฟตามีน) 0.4 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งสารทั้งหมดเป็นส่วนประกอบในการผสมยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 ทั้งสิ้น

สาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตรายนี้คาดว่าเกิดจากภาวะกดประสาทและกดการหายใจจากฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ของยาที่พบโดยตรง และภาวะเสริมฤทธิ์ของยาหลายชนิดที่ใช้ร่วมกัน

ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ส.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อเฝ้าระวังควบคุมการนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ผลิตยาเสพติด อย่างไรก็ตามพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนในครอบครัวควรเฝ้าระวังหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกหลานไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากเสพ/ติดแล้ว ต้องนำมาเข้ารับการบำบัด รวมทั้งชุมชนควรสำรวจค้นหาและทำลายพืชเสพติดที่มีใบพื้นที่ทั้งที่ขึ้นอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติและการลักลอบปลูกเพื่อใช้เองและจำหน่าย เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดที่ทำลายสังคมไทย

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล