แพท์ชี้ติด ‘น้ำยาบ้วนปาก’ ทำตุ่มรับรสเพี้ยน-ก่อเชื้อรา

by kadocom @3-3-52 15.13 ( IP : 202...20 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 41,852 bytes.

ทพญ.นพมณี วงษ์กิตติไกรวัล ทันตแพทย์กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงการดูแลสุขภาพช่องปากว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจผิดว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อกำจัดกลิ่นปาก แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการกลบกลิ่นปากด้วยกลิ่นของน้ำยาบ้วนปากในระยะสั้นเท่านั้น จากนั้นไม่นานก็กลับมามีกลิ่นปากเช่นเดิม


          นอกจากนี้ การใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ไปทำลายเชื้อแบคทีเรียตัวดีที่อาศัยอยู่ในปากให้ตายไปด้วย อาจนำมาซึ่งเชื้อราในช่องปาก รวมถึงการทำให้ตุ่มรับรสของลิ้นเพี้ยนไป หรือมีสีเคลือบผิวฟันที่เปลี่ยนแปลงไป หรือทำให้เกิดหินปูนได้ง่ายขึ้นด้วย


          "ยาสีฟันที่อ้างว่าสามารถลดแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของกลิ่นปากได้ด้วยนั้น ในความเป็นจริงก็พบว่ายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ยาสีฟันจะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อในปากได้ ซึ่งประสิทธิภาพไม่แตกต่างกับการกำจัดกลิ่นปากด้วยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันอะไรก็ได้อย่างถูกวิธี ใช้ไหมขัดฟันในซอกฟันส่วนที่แปรงไปไม่ถึง" ทพญ.นพมณีกล่าว และว่า กลิ่นปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากผลิตก๊าซในกลุ่มซัลเฟอร์


          ทั้งนี้ กลิ่นปากเกิดได้จากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคกรดไหลย้อน หากรักษาโรคเหล่านั้นกลิ่นปากก็จะหายไป แต่กลิ่นปากที่เกิดจากช่องปากจะเกิดตลอดเวลาจนกว่าจะรักษาโรคในช่องปาก เช่น โรคปริทันต์ โรคเหงือก ฟันผุ ฯลฯ ให้หายเป็นปกติ กลิ่นเหล่านั้นจึงหายไป


          คนที่ป่วยเป็นโรคปริทันต์จะมีร่องเหงือกที่ลึกกว่าปกติ ทำให้แบคทีเรียเข้าไปฝังตัวและผลิตก๊าซออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงร่องเหงือกที่ลึกจะทำให้เป็นแหล่งเก็บแบคทีเรียด้วย รวมถึงบริเวณผิวลิ้นจะเป็นปุ่มๆ เป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่พร้อมจะผลิตก๊าซทำให้ปากเหม็นได้


          ทพญ.นพมณีกล่าวว่า กลิ่นปากแบ่งได้ 3 ชนิด คือ


          1. คนไข้มีกลิ่นปากจริง


          2. คนไข้ที่คิดไปเองว่ามีกลิ่นปาก วิตกไปเอง


          3. คนไข้ที่เคยมีกลิ่นปาก แต่ได้รับการรักษาจนหาย แต่ก็ยังไม่เชื่อว่ากลิ่นปากได้หมดไปแล้ว


          ซึ่งคนไข้ในกลุ่มแรกจะได้รับการรักษา แต่ในกลุ่มที่ 2 - 3 จำเป็นที่จะต้องให้จิตแพทย์มาช่วยบำบัด อุบัติการณ์ทั่วโลกของผู้ที่มีกลิ่นปากอย่างแท้จริง รวมถึงกลุ่มที่วิตกไปเอง มีประมาณ 15 - 40% ของประชากรทั้งประเทศ ในไทยจะมีประมาณ 15% ของประชากรทั้งหมด


          วิธีการตรวจว่ามีกลิ่นปากหรือไม่ สังเกตจากคนรอบข้าง หรือเอาช้อนมาขูดลิ้นแล้วทิ้งไว้ 5 วินาที จากนั้นนำมาดม หากพบว่ามีกลิ่นเหม็นก็แนะนำให้มาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเช็คปัญหาในช่องปาก รักษาฟันผุ โรคเหงือก ก็ทำให้กลิ่นปากหายไป






ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน http://www.thaihealth.or.th/node/8219

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล