ไขมันทรานส์ในอาหารอีกภัยร้ายใกล้ตัว

by kadocom @17-2-52 09.13 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 27,301 bytes.

สิ่งสำคัญที่แฟนพันธุ์แท้ ขนมอบ คุกกี้ เค้ก แครกเกอร์ พาย โดนัท ควรรู้เพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ นั่นคือ เมนูโปรดของคุณมีไขมันชนิดหนึ่งเรียกว่า "ไขมันทรานส์" ประกอบอยู่มากน้อยเพียงใด ไขมันชนิดนี้ขึ้นชื่อเรื่องพิษภัยกับร่างกายจนหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา ต้องออกกฎจำกัดปริมาณการใช้ไขมันประเภทนี้ในอาหารกันเลยทีเดียว


          โดยปกติแล้วไขมันถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามโครงสร้าง คือ ไขมันอิ่มตัว พบมากในไขมันสัตว์ซึ่งมีส่วนเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลว หรือ LDL ในเลือด กับ ไขมันไม่อิ่มตัว พบมากในพืช มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลวและยังเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL ซึ่งช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และ โรคหัวใจ ไปพร้อมกัน


          สำหรับไขมันทรานส์หรือไขมันแปลงสภาพนี้ คือ ไขมันอีกประเภทที่เกิดจากกระบวนการแปลงสภาพไขมันจากพืชให้กลายเป็นของแข็งหรือกึ่งเหลวด้วยการเติมฟองอากาศของไฮโดรเจนลงไปในน้ำมัน พบมากในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว จัดเป็นไขมันที่มีอันตรายกับร่างกายสูงกว่าไขมันอิ่มตัวเมื่อเทียบจากหน่วยบริโภคในปริมาณเท่ากันเพราะมีส่วนเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดเลวในร่างกายเช่นเดียวกับไขมันอิ่มตัวอีกทั้งยังไปลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดดี ทำให้ผู้บริโภคไขมันประเภทนี้เป็นปริมาณมากจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเลือดอุดตัน และโรคหัวใจมากขึ้น


          ไขมันทรานส์นั้นพบมากในอาหารประเภทขนมอบ คุกกี้ เค้ก แครกเกอร์ พาย และโดนัทซึ่งนิยมใช้เนยเทียม และเนยขาวมาเป็นส่วนผสมเพราะช่วยทำให้อาหารมีกลิ่นหอม มีความคงตัว สามารถเก็บได้นานโดยที่ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน อีกทั้งเนยเทียมยังมีราคาถูกกว่าเนยแท้ (Butter) ที่ได้จากการแยกไขมันหรือมันเนยออกจากนมวัว นอกจากนี้เราอาจพบไขมันทรานส์ได้ในน้ำมันที่ใช้ซ้ำ และเนื้อวัว นมวัว รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเช่น เนยชีส แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


          องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า เราไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์เกินร้อยละ 1 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวันอย่างไรก็ตามเราไม่สามารถทราบถึงปริมาณไขมันชนิดนี้ในอาหารที่บริโภคว่ามีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากเมืองไทยยังไม่มีข้อบังคับให้แสดงปริมาณไขมันทรานส์บนฉลากอาหารเหมือนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีข้อกำจัดปริมาณการใช้ในระดับปลอดภัย ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอีกด้วย


          ดังนั้น ควรเลือกวิธีดูแลตัวเองด้วยการบดความถี่ในการบริโภคอาหารประเภทข้างต้นและอาหารประเภทอื่นที่ใช้เนยเทียม เนยขาวเป็นส่วนผสม หรือบริโภคต่อครั้งในปริมาณน้อย ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงน้ำมันใช้ซ้ำ


          ส่วนวิธีลดไขมันทรานส์ด้วยการจำกัดหรือเลิกบริโภคเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีแน่เพราะเท่ากับไปปิดโอกาสในการรับโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับร่างกาย ทางที่ดีควรเลือกทานอย่างสมดุลโดยทานเนื้อสัตว์สลับกับอาหารโปรตีนประเภทอื่นไม่ให้ซ้ำในแต่ละมื้อเพื่อไม่ให้ไขมันทรานส์สะสมในร่างกายจนก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาในที่สุด







ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/node/7809

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล