ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักติดแอลกอฮอล์

by kadocom @10-2-52 11.50 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 464x464 pixel , 39,464 bytes.

ข้อสงสัยว่าคนที่คุณรักอาจเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์

1.      สุขภาพกายเสื่อมโทรมลง ผอมลงน้ำหนักลด

2.      การนอนผิดปกติไป นอนมาก หรือ นอนไม่หลับ

3.      อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธโมโหได้ง่ายๆ

4.      มีอาการเมา สลับไปมากับอาการขาดยา

5.      ใช้จ่ายเงินมากผิดปกติ

6.      ขาดความรับผิดชอบ การเรียนหรือการงานแย่ลง

7.      พฤติกรรมปิดบังซ่อนเร้น

8.      ความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องแย่ลง

9.      มีกลุ่มเพื่อนที่ข้องเกี่ยวกับอบายมุข ได้แก่ ดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติด เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน เป็นต้น


ทำอย่างไรหากสงสัยว่าคนที่คุณรักเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์


พูดคุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมา อาจเริ่มต้นสะท้อนถึงสุขภาพที่เสื่อมโทรม สภาพอารมณ์จิตใจที่เปลี่ยนแปลง การเรียนการงานที่แย่ลง
คุณอาจแสดงถึงความห่วงใยที่คุณมีต่อตัวเขา แสดงถึงความจริงใจที่จะรับฟังและช่วยเหลือ พยายามชวนพูดคุยเพื่อมองหาสาเหตุของปัญหา อาจโยงไปถึงยาเสพติด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง และเสนอความช่วยเหลืออย่างจริงใจ
คุณอาจชักชวนให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยคุณอาจแจ้งแพทย์เป็นการส่วนตัวว่าคุณเองเป็นห่วงใยผู้ป่วยเรื่องแอลกอฮอล์ว่าอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งหรือไม่ ขอให้แพทย์ช่วยตรวจประเมินเรื่องยาเสพติดร่วมด้วย
กรณีที่ญาติไม่สามารถพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้ อาจไปขอคำปรึกษากับแพทย์ก่อนได้ เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การบำบัดรักษา

ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด


คุณควรเรียนรู้เรื่องโรคติดแอลกอฮอล์ วิธีการดูแลบำบัดรักษา อาจเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง
หยุดการส่งเสริมพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ทางอ้อม โดยระลึกและทบทวนถึงการกระทำที่เป็นการสนับสนุนพฤติกรรมดังกล่าว และหยุดการกระทำนั้น
ส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับผิดชอบในผลของพฤติกรรมจากการดื่มแอลกอฮอล์ด้วยตนเอง
คุณควรหมั่นดูแลตนเองด้วย โดยทั่วไปสมาชิกในครอบครัวอาจดูแลผู้ติดสุราจนลืมดูแลตนเอง การดูแลตนเองของญาติผู้ป่วย ได้แก่

ปล่อยวางความคิดความรู้สึกที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวของผู้ป่วย
กลับมาดูแลจิตใจของตนเองให้เป็นสุขตามที่ควรจะเป็น
หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง
กระทำตามบทบาทหน้าที่ที่ควรจะเป็นในครอบครัว เช่น การดูแลสมาชิกอื่นในครอบครัว
แสวงหาความช่วยเหลือ การแก้ปัญหาสมาชิกในครอบครัวซึ่งติดแอลกอฮอล์ มักไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง ดังนั้นอาจต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้การปรึกษา เป็นต้น

การส่งเสริมพฤติกรรมเสพติดแอลกอฮอล์ (Enabling)


หมายถึง พฤติกรรมจากบุคคลรอบข้างที่เอื้อให้ผู้ป่วยยังคงดื่มแอลกอฮอล์ หรือช่วยให้หลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ เหมือนเป็นเงื่อนไขให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่อง ในทางพฤติกรรมศาสตร์ พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการให้รางวัลหรือช่วยให้หลีกเลี่ยงผลร้ายที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยปกติ ญาติที่ใกล้ชิดมักไม่ได้มีเจตนาร้ายในการมีพฤติกรรมดังกล่าว แต่อาจเกิดจากความสงสาร พยายามชดเชยความผิดที่มีต่อผู้ป่วย หรือทนผู้ป่วยรบเร้าไม่ไหว อย่างไรก็ตาม การคงพฤติกรรมดังกล่าวไว้จะทำให้ปัญหาการเสพติดรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นญาติท้อแท้สิ้นหวังและละทิ้งผู้ป่วยไปในที่สุด


ตัวอย่างของการส่งเสริมพฤติกรรมเสพติดแอลกอฮอล์

-          เพื่อนที่ดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับผู้ป่วยเพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงา

-          ลูกที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นเพื่อนกับพ่อที่ติดแอลกอฮอล์ เพื่อจะได้ใกล้ชิดพ่อ

-          แม่ที่ให้เงินลูกไปซื้อแอลกอฮอล์ เพราะทนรำคาญหรือทนอารมณ์ลูกติดแอลกอฮอล์ไม่ไหว

-          ญาติซื้อแอลกอฮอล์ให้ผู้ป่วย เพราะสงสารผู้ป่วยเวลาขาดยา

-          ภรรยารอสามีที่ไปเมามาจากนอกบ้าน โดยจัดอาหารรอรับไว้ เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้หลังจากสามีอาเจียน

-          สามีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ภรรยา เพราะกลัวภรรยาจะลงแดงตายเมื่อขาดแอลกอฮอล์

-          บิดาที่ไปซื้อแอลกอฮอล์แทนให้ เพราะกลัวลูกถูกตำรวจจับ

-          บิดามารดาไม่พาผู้ป่วยไปรักษาโรคติดยา เพราะกลัวลูกจะเรียนไม่จบ

-          ภรรยาที่ช่วยโทรไปที่ทำงานเพื่อลาป่วยแทนสามีเนื่องจากป่วยจากการเมามาเมื่อคืนนี้

-          มารดาที่ช่วยปิดความลับของลูกที่ไปใช้แอลกอฮอล์ เพราะกลัวว่าลูกจะถูกพ่อลงโทษ

-          มารดาที่คอยแก้ตัวให้ลูกเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์

-          บิดามารดาไปให้สินบนตำรวจเพื่อจะได้ไม่ต้องดำเนินคดีกับลูกตนเองจากข้อหาดื่มแล้วขับ

-          มารดาให้เงื่อนไขแก่ลูกว่า ถ้าเลิกแอลกอฮอล์ได้ มารดาจะซื้อรถยนต์ให้

-          เมื่อลูกเลิกแอลกอฮอล์แล้ว บิดามารดาก็มีเวลากับผู้ป่วยน้อยลง เพราะวางใจผู้ป่วยมากขึ้น

-          เมื่อลูกเลิกแอลกอฮอล์ได้แล้ว บิดาก็มีภรรยาน้อย

-          ภรรยาที่ยอมทำตามสามีติดแอลกอฮอล์ทุกๆอย่าง เพราะกลัวถูกทอดทิ้ง


ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักเข้าบำบัดรักษาเพื่อเลิกแอลกอฮอล์


            โดยปกติในช่วงเริ่มต้นผู้ป่วยติดแอลกอฮอล์มักลังเลใจต่อการเลิกแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเสียดายความสุขที่เคยได้รับจากแอลกอออล์ หรืออาจไม่ได้คิดว่าตนเองติดแอลกอฮอล์ ดังนั้น ตนเองจะเลิกเมื่อไรก็ได้ขึ้นอยู่ที่จิตใจตน การสร้างแรงจูงใจ การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการบำบัดรักษา ดังนั้น ญาติควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้าบำบัดรักษาในขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพหลังจากได้รับการถอนพิษยาแล้ว และในขณะที่ผู้ป่วยเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพ ญาติที่ใกล้ชิดก็ควรมาเข้าร่วมกิจกรรมที่โครงการจัดไว้ให้เพื่อช่วยให้ญาติเกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยไปในแนวทางเดียวกัน ช่วยให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการเลิกแอลกอฮอล์


ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักมีอาการอยากแอลกอฮอล์ (Craving)


ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวจากโรคติดแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยมักอ่อนไหวกับสิ่งกระตุ้นเร้าในสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดอาการอยากดื่มแอลกกอฮอล์ได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังการหยุดแอลกอฮอล์ ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยเป็นอารมณ์ได้บ่อย และอาจเสี่ยงต่อการพลั้งเผลอ (Slip or lapse) ไปดื่มแอลกอฮอล์ซ้ำ จนอาจนำไปสู่การเสพติดซ้ำในที่สุด (Relapse) สิ่งที่ญาติควรกระทำหากผู้ป่วยมีอาการอยากแอลกอฮอล์ ได้แก่

เตรียมการณ์ล่วงหน้าเผื่อไว้กรณีที่ผู้ป่วยอาจจะมีความก้าวร้าวรุนแรง
เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดถึงอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างตรงไปตรงมา ชื่นชมที่กล้าพูดตรงๆ เป็นการสื่อความหมายความว่า ผู้ป่วยพยายามต่อสู้กับอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์
ไม่หงุดหงิดหรือโต้เถียงกับผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเป็นอารมณ์มากขึ้น และอยากดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
บางครั้งผู้ป่วยอาจหาเรื่องทะเลาะด้วย ญาติควรพยายามเก็บอารมณ์ไม่โต้ตอบด้วย
ปลอบใจ ให้กำลังใจในการต่อสู้กับอาการอยากแอลกอฮอล์
กระตุ้นให้ผู้ป่วยนำทักษะที่เรียนรู้ไปในการต่อสู้กับอาการอยากแอลกอฮอล์มาใช้
แสดงถึงความเห็นใจที่เขามีอาการอยากแอลกอฮอล์ ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการเสพแอลกอฮอล์และเลิกแอลกอฮอล์ เมื่อผู้ป่วยต่อสู้ได้ไม่ไปดื่มแอลกอฮอล์ก็จะเกิดความมั่นใจและเคารพนับถือตนเอง
หนักแน่นมั่นคงในการไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ให้เงิน ระวังป้องกันของมีค่าภายในบ้าน ไม่กลัวอารมณ์ของผู้ป่วย โดยอาจให้เหตุผลว่าพ่อแม่ไม่อยากซ้ำเติมลูก แต่ก็ไม่โต้ตอบรุนแรงด้วยการด่าว่า หรือทำร้ายร่างกาย
ป้องกันการทำร้ายตนเองของผู้ป่วยเพื่อประชด หรือทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
อย่าให้รางวัลกับการต่อสู้อาการอยากแอลกอฮอล์ด้วยการเอาวัตถุสิ่งของมีค่ามาล่อ
อย่าต่อว่าต่อขานเป็นอารมณ์หากผู้ป่วยไม่พยายามต่อสู้กับอาการ
อย่าสร้างเงื่อนไขว่า หากผู้ป่วยไม่ต่อสู้กับอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์ พ่อแม่จะเสียใจ ผิดหวังในตัวเขา หรือขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายตนเอง
ควรมีทัศนคติว่า การต่อสู้กับอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของผู้ป่วยเองที่ต้องพยายามต่อสู้เอาชนะจิตใจด้วยตนเอง
เสนอยาที่แพทย์ให้ไว้ทานเป็นครั้งคราวเวลาอยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอารมณ์เครียดหงุดหงิด
วางเฉยหากทำทุกวิถีทางแล้ว ผู้ป่วยก็ยังยืนยันที่จะออกไปซื้อแอลกอฮอล์

รายงานผู้บำบัดทราบว่าผู้ป่วยยังมีอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์มาก

ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักเมาแอลกอฮอล์ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง


            หากผู้ป่วยพลั้งเผลอไปดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากมีอาการอยากดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเมาได้ง่าย เพราะสมองดื้อต่อแอลกอฮอล์น้อยลง หรือเกิดพฤติกรรมดื่มมากปริมาณมากอย่างควบคุมได้ยาก (Binge) ทำให้เกิดอาการเมา หรือพฤติกรรมรุนแรงตามมาได้ง่าย ดังนั้น ญาติควรเตรีมการณ์ไว้ล่วงหน้า และปฏิบัติดังต่อไปนี้

อย่ากลัวอารมณ์ของผู้ป่วย
อย่าไปคุยอะไรมากมายกับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยกำลังขาดสติปัญญาในการทำความเข้าใจ
พยายามไม่เป็นอารมณ์หรือโต้ตอบรุนแรงในจังหวะนี้
ป้องกันการทำร้ายตนเองหรือทำร้ายผู้อื่น
อาจหาผู้ใหญ่ ผู้ชาย เพื่อนบ้าน หรือแจ้งตำรวจเพื่อมาระงับเหตุในกรณีที่ผู้ป่วยก้าวร้าวรุนแรง
พูดปลอบใจ ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์
เสนอยาที่แพทย์ให้ไว้ทานเป็นครั้งคราวเวลาอยากดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีอารมณ์เครียดหงุดหงิด
หากยังไม่สงบ และมีแนวโน้มเกิดเรื่องอันตราย หาคนช่วยนำส่งห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
คุยกับผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยอารมณ์สงบลง หรือหายเมา หรือเวลาผ่านไปประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อหาสาเหตุของการกลับไปเสพซ้ำจนกระทั่งเมา หาทางออกร่วมกัน
แจ้งผู้บำบัดทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมาติดตาม อาจพามาพบก่อนนัด

ทำอย่างไรเมื่อคนที่คุณรักหายเมาแอลกอฮอล์


            การพลั้งเผลอ (Slip or lapse) ไม่ใช่การกลับไปติดซ้ำ (Relapse) ผู้ป่วยยังสามารถตั้งหลักเพื่อให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้ แต่หากแก้ไขไม่ถูกต้อง ก็อาจนำพาไปสู่การเสพติดซ้ำในที่สุด โดยทั่วไปในส่วนลึกของจิตใจ ผู้ป่วยมักรู้สึกผิด เสียใจต่อพฤติกรรมของตนเอง เสียความมั่นอกมั่นใจว่าตนเองจะเลิกสารได้สำเร็จ ขาดความเคารพนับถือตนเอง และมักจะเลือกที่จะปิดบังความจริง อ้างเหตุผล โทษสิ่งอื่นที่ทำให้ตนเองต้องกลับไปดื่ม ทำให้ดูเหมือนเป็นคนไม่มีความตั้งใจในการเลิกสาร

อย่างจริงจัง ส่วนญาติก็อาจผิดหวังเสียใจต่อการกระทำของผู้ป่วย อาจต่อว่าต่อขานผู้ป่วยได้มาก เกิดเป็นอารมณ์กับญาติได้บ่อย บางครั้งรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันได้ ทำให้บรรยากาศในครอบครัวเลวร้ายลงไป ข้อแนะนำในการปฏิบัติของญาติ มีดังต่อไปนี้


เริ่มการพูดคุยกับผู้ป่วยหลังจากผู้ป่วยสร่างเมา มักผ่านพ้นไปมากกว่า 24 ชั่วโมงหลังจากการดื่ม
แจ้งให้ผู้ป่วยทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยเมา ในบางรายอาจจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
แสดงถึงความห่วงใยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยไม่โทษที่ตัวผู้ป่วย แต่เน้นถึงพฤติกรรมที่เป็นอันตราย หรือความล้มเหลวในการเลิกสารที่อาจตามมา
เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิด ความรู้สึกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
พูดคุยถึงความคิด ความรู้สึก ความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของผู้ป่วยในการเลิกสารก่อนหน้านี้
ปลอบใจ ให้กำลังใจในการต่อสู้เพื่อเลิกดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป
เตือนสติผู้ป่วยว่า การพลั้งเผลอยังไม่ใช่การกลับไปติดซ้ำ ผู้ป่วยยังสามารถเลิกดื่มแอลกอฮอล์ด้หากยังคงมีความตั้งใจและมุ่งมั่น เรียนรู้จากข้อผิดพลาด
กระตุ้นให้ผู้ป่วยกลับมาวิเคราะห์บทเรียน อะไรเป็นเหตุปัจจัยนำของการพลั้งเผลอ
ช่วยผู้ป่วยวิเคราะห์และสรุปบทเรียน


ที่มา ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติด

กองจิตเวชและประสาทวิทยา

โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

โทร.02-354-7660 ต่อ 93187


ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. http://www.thaihealth.or.th/node/7675



Update 05-02-52

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล