เด็กไทยเมินภัย “ติดเกม”

photo  , 200x200 pixel , 37,336 bytes.

เผยผลสำรวจ เด็กไทยชอบที่ได้รู้วิธีใช้ปืน รู้เรื่องการต่อสู้จากเกมแนวรุนแรง ไม่กลัวเป็น “ผู้ร้ายเลียนแบบเกม” เมิน “ภัยติดเกม” ส่วนเรื่องการ “จัดระเบียบร้านเกม” บางส่วนเห็นด้วย เพราะช่วยไม่ให้เสียการเรียน

แต่อีกส่วนหยันรัฐทำไปก็ไร้ประโยชน์ ควบคุมร้านเกมไม่ได้จริง จากกรณีปัญหา “เด็กติดเกม” ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้าง ทั้งต่อตัวเด็ก ครอบครัว สังคม และยังก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมร้ายแรง

ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ จึงนำเสนอข่าวนี้อย่างเกาะติด กระตุ้นให้หลายหน่วยงานเริ่มมีนโยบายดูแลแก้ไขปัญหา แต่ก็จำเป็นต้องใช้ความจริงจังต่อเนื่องและดำเนินการพร้อมกันทุกฝ่าย

ล่าสุดได้มีการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ โดยสุ่มสอบถามความคิดเห็นของเด็กที่นิยมเล่นเกมคอมพิวเตอร์ พบว่ามีประเด็นที่เป็นข้อมูลอันเป็นประโยชน์กับฝ่ายที่มีหน้าที่ในการจัดการกับปัญหา

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ได้มีการสุ่มสำรวจเด็ก ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวนเกือบห้าสิบราย ใน 10 หัวข้อ คือ

  1. คิดว่าเล่นเกมแล้วมีข้อดีอะไร
  2. คิดว่าเล่นเกมแล้วมีข้อเสียอะไร 3.โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาเล่นเกมนานเท่าไหร่ต่อวัน
  3. ส่วนใหญ่เอาเงินจากไหนมาเล่นเกม
  4. เคยเล่นเกมที่มีเนื้อหาเรื่องเซ็กส์หรือไม่ ถ้าเคย...บ่อยแค่ไหน
  5. เคยเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ทำร้าย-ฆ่า-ปล้น หรือไม่ ถ้าเคย...บ่อยแค่ไหน
  6. คิดว่าเล่นเกมในลักษณะไหน-อย่างไรจึงเกิดการติดเกม
  7. เคยถูกทางร้านเกมชี้นำไปในทางไม่ดีหรือไม่ เช่น ชักจูงให้เล่นเกมที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือถูกชักจูงในทางที่ผิด เช่น เสพยา วิวาท มีเซ็กส์
  8. กลัวหรือไม่ว่าเล่นเกม-ติดเกมแล้วจะมีพฤติกรรมในทางร้ายในที่สุด เช่น กรณีก่อคดีปล้นฆ่าแท็กซี่เลียนแบบเกม
  9. เห็นด้วยหรือไม่กับการรณรงค์เรื่องร้านเกมสีขาว การกำหนดอายุ-จัดเรตเกม การกำหนดเวลาเล่นเกมแต่ละวัน

ผลสำรวจพบว่าเด็กมีทัศนคติที่แตกต่างกันไป โดยผลสำรวจในภาพรวม พบว่าเด็กบางส่วนตอบคำถามในลักษณะที่บ่งบอกถึงความรู้เท่าทันภัยติดเกมในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ในบางหัวข้อสำรวจซึ่งเป็นประเด็นที่ล่อแหลมพบว่าเด็กกว่า 50% ของกลุ่มที่สำรวจยังมีมุมมองที่น่าเป็นห่วง เช่น หัวข้อเคยเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น ทำร้าย-ฆ่า-ปล้น หรือไม่ ถ้าเคย...บ่อยแค่ไหน เด็กกว่า 50% ยอมรับว่าเคยเล่น ตั้งแต่บางครั้ง บ่อย ไปจนถึงเล่นเป็นประจำทุกวัน

ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้ยังมองว่าไม่ได้มีผลกระทบใด ๆ ต่อตนเองในทางร้าย แม้บางเกมจะไม่เหมาะกับวัยตนเอง โดยบางรายระบุว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้ชาย และหลายรายระบุว่าเล่นตามเพื่อน เพื่อให้เข้ากลุ่มกับเพื่อนได้

สำหรับหัวข้อสำรวจ กลัวหรือไม่ว่าเล่นเกม-ติดเกมแล้วจะมีพฤติกรรมในทางร้ายในที่สุด เช่นกรณีก่อคดีปล้นฆ่าแท็กซี่เลียนแบบเกม เด็กส่วนใหญ่กว่า 90% ตอบคล้ายกันว่า ไม่กลัว

โดยมีเหตุผลประกอบต่าง ๆ เช่น เพราะเป็นแค่เกม, เป็นเรื่องดีเสียอีกที่ได้รู้จักชนิด-ประเภท-การใส่กระสุนปืน, น่าจะได้ประโยชน์ในการเรียนรู้การต่อสู้ป้องกันตัวด้วยซ้ำ ขณะที่หัวข้อ คิดว่าเล่นเกมในลักษณะไหน-อย่างไรจึงเกิดการติดเกม

เด็กจำนวนไม่น้อยยอมรับว่าการเล่นเกมเป็นประจำและอิทธิพลเกี่ยวกับเพื่อน ทำให้ติดเกมได้ เช่นบางรายบอกว่า “ติด เพราะมันเล่นแล้วมัน ถ้าเล่นได้เก่ง มีของสะสม มีคะแนน มีตัวเลขเงินรางวัลเยอะ ๆ ก็ได้โชว์เพื่อน” และเด็กบางรายก็บอกว่า “ติดกลับบ้านแล้วก็อยากกลับไปเล่นที่ร้านอีก บางครั้งไม่ได้คิดถึงเรื่องการเรียนเลยก็มี”

ในส่วนของหัวข้อสำรวจที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการรณรงค์เรื่องร้านเกมสีขาว การกำหนดอายุ-จัดเรตเกม การกำหนดเวลาเล่นเกมแต่ละวัน คำตอบจากเด็กสำหรับหัวข้อนี้มีจุดที่น่าสังเกตคือ ในส่วนของเด็กที่ถูกสุ่มสำรวจแล้วให้คำตอบที่สะท้อนถึงการรู้เท่าทันภัยติดเกมในระดับหนึ่ง

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเห็นด้วย ซึ่งคำตอบที่ได้รับ เช่น “เห็นด้วย เพราะช่วยให้เด็กสนใจการเรียนมากกว่าเกม” หรือ “เห็นด้วย จะได้ไม่มีเด็กโดดเรียนเพื่อเล่นเกม” หรือไม่ก็ “เห็นด้วย เด็กจะได้ใช้เวลาไปทำการบ้าน อ่านหนังสือ ช่วยพ่อแม่” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กที่ตอบคำถามชัดเจนว่าไม่กลัวว่าจะติดเกม และไม่กลัวว่าจะมีพฤติกรรมในทางร้ายเลียนแบบเกม เกือบทั้งหมดจะตอบว่าไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเวลาเล่นเกมของเด็ก และคิดว่าการกำหนดอายุ-จัดเรตเกม หรือการรณรงค์เรื่องร้านเกมสีขาว จะไม่ได้ผลอะไร

โดยคำตอบเป็นไปในทำนองว่า “กำหนดไปก็ไม่สามารถควบคุมอะไรได้จริง เพราะหาก ร้านเกมจะฝ่าฝืนก็สามารถทำได้อยู่แล้ว” หรือ  “คงแก้อะไรไม่ได้ คนที่เล่นที่บ้านน่ากลัวกว่าที่ร้าน เพราะอยากทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครเห็น” หรือ “ไม่เห็นด้วย ผู้ใหญ่ไม่ควรมากำหนด เพราะเด็กชอบเล่นอะไรก็อยากจะเล่นอย่างนั้น” หรือ “ไม่เห็นด้วย เพราะสิทธิการเล่นเกมอาจจะน้อยลง” สุดท้ายคือ “ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นสิทธิของเด็ก มันอยู่ที่ขอบเขตและการดูแลตัวเองมากกว่า” เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล