สารเอ็นโดฟินส์กับความรัก

by kadocom @31-3-51 10.28 ( IP : 202...20 ) | Tags : มุมวิชาการ

ถึงแม้ว่าจะผ่านวันแห่งความรักมานานแล้ว แต่เราก็ยังคงสัมผัสกับความรักอยู่เสมอไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ความรักเป็นสิ่งจรรโลงใจให้กับมนุษย์มานานแสนนาน อาจสังเกตได้จากบทเพลง บทกวี นวนิยาย ละคร หรืออุปรากรต่างๆ ก็มักวนเวียนอยู่กับเรื่องของความรัก เมื่อแรกรักใหม่ๆ ถึงแม้จะเป็นการแอบชอบ แอบรักใครสักคนก็ตาม ก็มักรู้สึกว่าช่วงนั้นพิเศษกว่าปกติ มองอะไรๆ สดชื่นไปหมด ต่อมาเมื่อคบกันนานเข้า ก็ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อคนที่รักกันอยู่ด้วยกันนานๆ ก็มักจะมี “ความผูกพัน” กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความรู้สึกรักใคร่ในช่วงแรก

ในสมองของคนเรามีกลไกการทำงานที่ซับซ้อนมากมายและมีการหลั่งสารเคมีหลายชนิดเมื่อเรากำลังมีความรัก หนึ่งในสารเคมีเหล่านั้นคือสาร “เอ็นโดฟินส์” (ENDORPHINES) หรือ “สารแห่งความสุข” หรือ “สารสุข”
สารเอ็นโดฟินส์เป็นสารเคมีจำพวกเดียวกับฝิ่น (opioid) ซึ่งผลิตขึ้นภายในร่างกาย โดยสมองส่วนไฮโปธารามัส (Hypothalamus) และต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) อันเนื่องมาจากเป็นสารเคมีจำพวกเดียวกับฝิ่นจึงมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด (Analgesia) และทำให้รู้สึกสุขสบาย (Sense of well-being)หรืออีกนัยหนึ่ง สารเอ็นโดฟินส์ก็คือ “ยาแก้ปวดแบบธรรมชาติ” นั่นเอง

เมื่อเรามีความสุขหรืออยู่ในสภาวะที่สุขสบาย (Pleasure experience) เช่น การเล่นกับสัตว์เลี้ยง การฟังดนตรีเพราะๆ การอ่านหนังสือ การดูภาพยนตร์ การออกกำลังกาย การทำสมาธิ การได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เรารัก การได้สัมผัสถ่ายทอดความรัก กระทั่งการได้ร่วมรักกับคนที่เรารัก เหล่านี้เป็นการกระตุ้นให้สมองเกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ขึ้น

เมื่อสารเอ็นโดฟินส์ที่หลั่งออกมานี้จะไปจับกับตัวรับ(receptor) ชนิด Opioid ในสมอง ก็จะมีผลโดยรวมทำให้เกิดการหลั่งของสารโดปามีน(Dopamine) มากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายต่างๆ เช่น บรรเทาความเจ็บปวด เกี่ยวข้องกับสมดุล ความหิว การนอนหลับ ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบหายใจ ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการควบคุมการสร้างฮอร์โมนเพศ (sex hormones) และที่สำคัญสารเอ็นโดฟินส์สามารถส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune system) โดยมีการศึกษาและรายงานถึงผลของการหัวเราะว่าทำให้เกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ในสมองมากขึ้น จะเกิดการกดการทำงานของ Stress hormone หรือฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะที่เครียด เช่น Adrenaline มีผลทำให้เนื้อเยื่อต่างๆ ผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้อาการปวดบรรเทาลง และมีผลทำให้หลอดเลือดขยายตัวได้ดีขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวเดินทางเข้าไปฆ่าเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น โอกาสเจ็บป่วยก็จะลดลง คือทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการที่มีกิจกรรมใดก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกเป็นสุขมีการหลั่งสารเอ็นเอ็นโดฟินส์ย่อมมีส่วนเสริมความแข็งแรงให้กับร่างกายได้เสมอ

เนื่องจากร่างกายกับจิตใจมีความเชื่อมประสานกัน บางครั้งเวลาไม่สบายกาย จิตใจก็มักหดหู่ไปด้วย หรือเวลาที่ไม่สบายใจ ร่างกายก็พลอยเบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ดังนั้นเวลาที่คนเราไม่สบาย นอกจากการรับประทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว การอยู่ในสภาวะที่มีความสบายกาย และสบายใจ มีคนรักคอยเอาใจใส่ดูแลอยู่ใกล้ๆ ซึ่งจะทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ สบาย เมื่อมีการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์แล้ว คนรักที่กำลังไม่สบายก็จะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง


ในผู้ที่ติดสารเสพติดนั้นเหตุผลของการใช้สารเสพติดมักเกี่ยวข้องกับความต้องการคลายเครียด คลายความทุกข์ใจซึ่งจะพบว่า ถ้าครอบครัว และสังคมมีความรัก ความอบอุ่นให้แก่กันเพียงพอและรู้จักการหาความสุขจากกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ก็จะเกิดการหลั่งของ Endogenous Morphineหรือ Endorphine ทำให้รู้สึกสุขสบาย ไม่ต้องหาสารสุขจากภายนอกเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาการใช้สารเสพติดลงได้เป็นอย่าง


ขอบคุณที่มา http://hospital.moph.go.th/klaeng/klaeng/klaengbook02-24-51.html

ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล