ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ...อันตรายที่มาพร้อมกับนวัตกรรมล้ำหน้า

by kadocom @13-2-51 14.24 ( IP : 202...21 ) | Tags : มุมวิชาการ

การเข้ามาแทนที่ของจอมอนิเตอร์แบบ LCD มือถือระบบ 3 G  CPU core duo นวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วเหล่านี้ เร่งให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในสภาพตกรุ่นเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” และ “โทรศัพท์มือถือ”

เมื่อครั้งยังเป็นของที่ใช้งานได้  อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ถือว่าเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นขยะ ก็ยังคงความล้ำหน้าเป็นขยะที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ด้วยการกำจัดที่ซับซ้อน พรั่งพร้อมไปด้วยอันตราย สมศักดิ์ศรีของการเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ความทันสมัยของเทคโนโลยี กำลังถูกแลกมาด้วยการทำร้ายสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Waste (E-Waste) หมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เป็นที่ต้องการแล้ว หรือหมดอายุการใช้งานจากสภาพที่ชำรุดไปตามกาลเวลา ประเด็นที่น่าวิตกคือชิ้นส่วนของอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ อันตรายจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม ทำให้สารโลหะหนัก สารพิษ ไอพิษ หรือสิ่งตกค้างอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบ อาจรั่วไหลไปสู่แหล่งน้ำและดิน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของคนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

สำหรับธาตุต่างๆ ที่เป็นอันตรายพบได้ในขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีดังต่อไปนี้

ตะกั่ว : เป็นส่วนประกอบของการบัดกรีร่วมกับดีบุกในแผงวงจร พบได้ในลวดบัดกรี จอมอนิเตอร์ CRT (ตะกั่วในแก้ว) แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด

ดีบุก : ลวดบัดกรี

แคดเมียม: เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่บางประเภท

สารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีน : ซึ่งใช้ในกล่องสายไฟ แผงวงจรและตัวเชื่อมตัว อาจเป็นพิษและสะสมในสิ่งมีชีวิต ถ้ามีทองแดงร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไดอ๊อกซินและฟิวแรนระหว่างการเผา

เบริลเลียม : ใช้ในสปริงและตัวเชื่อม แผ่นหน้าของหลอดรังสีแคโทด

สารหนู (arsenic) : ใช้ในแผงวงจรไฟฟ้าของโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์

ทองแดง : สายทองแดง ลายทองแดงบนแผ่นวงจรพิมพ์

อะลูมิเนียม : สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดจะใช้กำลังไฟฟ้ามากกว่าสองสามวัตต์ จึงต้องใช้แผ่นครีบระบายความร้อน (heatsink)

เหล็ก : โครงเหล็กกล้า, ตัวถัง ชิ้นส่วนภายนอก

ซิลิกอน : แก้ว ทรานซิสเตอร์ ไอซี แผ่นวงจรพิมพ์

นิกเกิล แคดเมียม : แบตเตอรี่นิกเกิล-แคดเมียมแบบชาร์จได้ ฝุ่นนิกเกิลถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง

ลิเทียม : องค์ประกอบของแบตเตอรี่ แบตเตอรีลิเทียม-ไอออน

สังกะสี : ชุบส่วนเหล็กกล้า

ทองคำ : ชุบขั้วต่อ, เดิมใช้ในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

อเมริเซียม : เตือนควัน (แหล่งกัมมันตรังสี)


เยอรมาเนียม : ในทศวรรษ 1950 – 1960 มีการใช้สารกึ่งตัวนำเป็นวัสดุในการทำทรานซิสเตอร์


ปรอท : หลอดฟลูออเรสเซนต์ สวิตช์เอียง  เกมพินบอลล์ ที่กดกริ่งประตูแบบเชิงกล

กำมะถัน : แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด

คาร์บอน : เหล็กกล้า พลาสติก รีซิสเตอร์ ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้น

แม้ขยะเหล่านี้จะเป็นอันตราย แต่ต้องไม่ลืมว่าอีกด้านหนึ่งหากมีกระบวนการจัดการที่เหมาะสม จะสามารถสกัดแยกโลหะมีค่าออกจากซากขยะเหล่านี้ได้ อย่างกรณี ประเทศญี่ปุ่น ที่สามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง รวมทั้งการสกัดแยกทองคำ พาลาเดียม และทองแดง จากชิ้นส่วนตัวต้านทานในวงจรคอมพิวเตอร์

แต่ในปัจจุบัน ความสามารถในการสกัดแยกโลหะด้วยวิธีที่มีคุณภาพไม่ส่งกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น


ปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์


เมื่อมนุษย์เป็นผู้สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการในการจัดการ ที่มีความเป็นธรรม เหมาะสม และรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักอย่างที่สุด  หลากหลายรูปแบบในการจัดการขยะเหล่านั้น ผลกระทบที่ตามมาก็มีความแตกต่างกัน


การฝังกลบ : หากไม่มีการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นให้มีฤทธิ์เป็นกลาง ก่อนที่จะใส่ในหลุมกลบที่มีคุณภาพ ไม่มีการรั่วซึมออกมาสู่ระบบน้ำใต้ดิน พร้อมการเฝ้าระวังต่อเนื่องที่ต้องใช้งบประมาณสูง สารพิษในขยะเหล่านั้นจะรั่วไหล ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในชุมชนได้

การเผา : การเผาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้องนับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ทำให้โลหะหนักอย่าง ตะกั่ว แคดเมียม และสารปรอท กลายเป็นเถ้าถ่านและแพร่กระจายเข้าสู่บรรยากาศได้  สารปรอท หากสะสมตัวอยู่ในห่วงโซ่อาหารหรือเมื่อตกค้างอยู่ที่สัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ ก็จะเป็นการแพร่สารปรอทมาสู่คนได้ รวมทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารทนไฟซึ่งทำจากโบรมีน หากทำการเผาก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารโบรไมเนตไดอ๊อกซินและสารฟิวแรน หรือถ้ามีส่วนประกอบของของพลาสติก PVC ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารไดอ๊อกซินคลอไรด์และสารฟิวแรนที่เป็นอันตรายอีกเช่นกัน


การนำมาใช้ใหม่ : วิธีนี้ช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์ และลดทรัพยากรที่ต้องเสียไปหากมีการต้องทำขึ้นมาใหม่ แต่บ่อยครั้งการนำกลับมาใช้ใหม่กลับเป็นปัญหาให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เมื่อเป็นผู้รับเอาสินค้าที่มีอายุการใช้งานเหลือน้อย ก็ต้องเจอกับปัญหาใหญ่ในการจัดการกับขยะเหล่านี้เมื่อหมดสภาพการใช้งาน

รีไซเคิล : ช่วยประหยัดทรัพยากรและลดการเพิ่มขึ้นของขยะอันตรายได้ด้วยการนำของเก่าที่ยังดีมาใช้ใหม่ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว การรีไซเคิลจะทำในโรงงานที่มีออกแบบมาโดยเฉพาะ ภายใต้การควบคุมตามมาตรฐาน แต่ในประเทศที่ยังไม่พัฒนากลับพบการแยกขยะที่ทำกันที่แหล่งแยกขยะตามมีตามเกิด รวมทั้งการรีไซเคิลโดยปราศจากความรู้และการป้องกันอันตรายที่ดี  กระบวนการที่ไม่ถูกต้องย่อมนำผลที่ไม่ดีตามมา  คนงานจะได้รับสารพิษโดยตรง อีกทั้งยังส่งผลไปถึงสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกด้วย

ส่งออก : ต้องยอมรับว่าต้นทุนในการกำจัดขยะในประเทศกำลังพัฒนาถูกมากเมื่อเทียบกับการที่ประเทศพัฒนาเหล่านั้นต้องจัดการกับขยะอันตรายเอง จึงเกิดการส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ปลายทางยังตะวันออกไกล  อินเดีย อัฟริกา ที่ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมไม่รัดกุม  และหลายครั้งเป็นการละเมิดอนุสัญญาบาเซล  หรือทำไปด้วยความเห็นแก่ตัวไม่คำนึงถึงศีลธรรม ซึ่งการรีไซเคิลในประเทศเหล่านี้มักกระทำกันโดยประชาชน ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับอันตรายในการคัดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์  จึงทำกันโดยปราศจากอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากขยะเหล่านั้น


เมื่อต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เป็นที่สังเกตได้ชัดว่ากระแสตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน สังคมได้ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” จึงเป็นอีกทางเลือกของผู้บริโภค

สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดการทรัพยากรการผลิตให้ที่มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีสะอาด อีกทั้งที่ระหว่างการใช้งานจะต้องลดการปล่อยของเสียและมลพิษ รวมทั้งเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือการให้ผู้ผลิต ต้องรองรับการเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์และต้องรับผิดชอบในการรับคืนซากของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้งานแล้ว เพื่อรีไซเคิลหรือกำจัดอย่างปลอดภัย

และเป็นที่น่ายินดีว่า หลายประเทศทั่วโลกได้ตื่นตัวที่จะรับมือกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์จริงจังขึ้น เห็นได้จากการออกกฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่หวังจะให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ลดลง

กลุ่มสหภาพยุโรป ได้มีการออกกฎระเบียบและมาตรการ เช่น WEEE (Waste Electrical and Electronic Equipment Directive) รวมทั้ง RoHS (Restriction of Hazardous Substances Directive) ซึ่งเป็นระเบียบว่าด้วยเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และระเบียบว่าด้วยการกำจัดการใช้สารที่เป็นสารอันตรายบางประเภท โดยที่ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถวางจำหน่ายในตลาดของประเทศในกลุ่มอียูได้จะต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีมาตรการกำจัดขยะเหล่านี้อย่างถูกวิธี  โดยในอนาคต WEEE มีเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ผลิตคำนึงถึงตลอดช่วงของวงจรชีวิตการใช้งานของผลิตภัณฑ์  และไปจนถึงเมื่อหมดสภาพการใช้งาน เพื่อให้การออกแบผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านของสิ่งแวดล้อม

ในอนาคต WEEE มีเป้าหมายที่ต้องการให้ผู้ผลิตคำนึงถึงตลอดช่วงของวงจรชีวิตการใช้งานของผลิตภัณฑ์  และไปจนถึงเมื่อหมดสภาพการใช้งาน เพื่อให้การออกแบผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านของสิ่งแวดล้อม


ประเทศในเอเชีย หลายประเทศมีการออกกฎหมายและมาตรการต่างๆเพื่อรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น มีการศึกษาถึงแนวทางที่จะสรรหามาตรการที่เหมาะสม รวมทั้งการกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง


สำหรับประเทศไทย หนึ่งในประเทศที่เป็นปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์  เมื่อวันพุธที่ 9พฤษภาคม 2550 มีการขอเสนอญัตติให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาปัญหามลพิษ จากขยะและของเสียอันตรายการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แผนร่างกฎหมายที่จะใช้ควบคุมประเด็นปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้ทำการร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการของเสียและขยะอิเล็กทรอนิกส์และนำส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศบังคับใช้แต่อย่างใด  สำหรับเนื้อหาใน พรบ. การดูแลซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์แนวทางการควบคุมที่ต้นทาง โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ภาษี จากผู้นำเข้าสินค้าและผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แล้วนำเงินไปบริหารจัดการ การควบคุมที่ปลายทาง จะสนับสนุนให้เกิดโรงแยกขยะแบบครบวงจรจากแหล่งกำเนิดและพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ

คงต้องลุ้นและเอาใจช่วยให้ พรบ.การดูแลซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยไวๆ เพราะนั้นหมายถึงอนาคตที่ดีของสิ่งแวดล้อม ดีกว่ารอมาตราหรือการได้รับประโยชน์จากกฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศอย่างเดียว


ขอบคุณที่มา  http://www.vcharkarn.com/varticle/35066/1

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล