ความรู้ - วิชาการเกี่ยวกับยาเสพติด (คุณสยาม มุสิกไชย)

by Wisut @31-3-49 09.22 ( IP : 203...170 ) | Tags : สาระน่ารู้
photo  , 95x95 pixel , 6,579 bytes.

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับยาเสพติด

องค์การอนามัยโลก (สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย. 2536 : 59) ได้ให้คำนิยามยาเสพติดไว้ว่า ยาเสพติด คือ ยาที่เสพแล้วเป็นเหตุให้ผู้เสพเกิดความต้องการเสพอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน และต้องการอย่างรุนแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ ยาเสพติดเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีผลโดยตรงต่อผู้ที่ใช้ และเป็นปัญหา สำหรับบุคคลหลายอาชีพ อาทิเช่น ตำรวจ นักกฎหมาย นักเศรษฐกิจ นักการเมือง ตลอดจนนักศึกษา

โดยทั่ว ๆ ไปคนส่วนมากเข้าใจว่า ยาเสพติดคงหมายถึง ฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอินเท่านั้น แต่ความเห็นของแพทย์แล้ว ยังมียาและสารเคมีอีกหลายชนิดที่เป็นสารเสพย์ติด ยาเสพติดออกสู่ ท้องตลาดหลาย ๆ รูปแบบ บางชนิดก็ออกมาในลักษณะของยารักษาโรค และอีกบางชนิดก็ออกมาใน ลักษณะคล้ายขนม แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขจะคอยควบคุมก็ตาม ยาเหล่านี้ก็ยังลักลอบออกสู่ตลาดมืดจนได้ โดยฝีมือของผู้บ่อนทำลายชาตินั้นเอง บรรดาเยาวชนทั้งหลายมักจะถูกหลอกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง จึงทำให้ขาดความยั้งคิดก้าวไปสู่การทดลองตามคำชักชวนของเพื่อน ๆ ในที่สุดก็สายเกินแก้

ยาเสพติดไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาภายในประเทศ แต่ทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศด้วย จนมีการร่วมมือในการป้องกันและปราบปราม ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ปัญหายาเสพติดได้เพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่ายาเสพติดที่ผู้คนติดนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะยาเสพติดชนิดผิดกฎหมายที่ทางการปราบปราม แต่ได้ขยายไปถึงยา เครื่องดื่ม และสารเสพติดที่สามารถซื้อได้ค่อนข้างเสรี เช่น ยาแก้ปวด เหล้า บุหรี่ สารระเหย ซึ่งยาเสพติดมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายอาชีพ จึงมีทัศนะความของยาเสพติดหลายรูปแบบ ตามความเกี่ยวพันของยาเสพติดที่มีต่อวิชาชีพของบุคคลนั้น ๆ เช่น ยาเสพติดในความหมายของเภสัชกร คือ สิ่งที่ก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง และปรากฏอาการของโรคอย่างชัดเจน ภายหลังเมื่อหยุดเสพ นักสังคมสงเคราะห์ กล่าวว่ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในสังคม และสำหรับนักกฎหมาย ยาเสพติดคือสิ่งที่ทำให้เกิดพิษและพิษของมันเป็นต้นเหตุแห่งอาชญากรรมแผ่นดิน (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด. 2533 : 34)

ประเภทของยาเสพย์ติด

สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย (2536 : 72) แบ่งประเภทของยาเสพติดอาจแบ่งออกตามหลักเกณฑ์ ต่าง ๆ ได้ดังนี้

  1. แบ่งตามคุณสมบัติของยาเสพติด คือ

    1.1 ยาที่อกฤทธิ์กดประสาท (Depressant) ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เซโดนัล บาร์ฟิโนบาร์บิตาล โบรไมด์ พาราดีไฮด์ และเมธาโดน เป็นต้น ยาเสพติดเหล่านี้จะกดประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ประสาทมึนงง ง่วงซึมและหมดแรง นอกจากนี้ ยังกดศูนย์ประสาท การหายใจ ทำให้หายใจช้าลง จนถึงขั้นหยุดหายใจได้

    1.2 ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท (Stirmulant) ได้แก่ ใบกระท่อม โคเคอีน แอมเฟตามีน เป็นต้น ยาเสพติดเหล่านี้จะกระตุ้นประสาทส่วนกลางหรือสมอง ทำให้ประสาทตื่นตัวและ กระวนกระวายไม่ง่วงนอน แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้วจะหมดแรง เพราะร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนและอาจจะเกิดอาการตัวสั่น ตึงเครียดถึงกับหมดสติจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

    1.3 ยาที่ออกฤทธิ์หลอนจิตประสาท (Hallucinogen) ได้แก่ กัญชา แอลเอสดี (L.S.D. = Lysergic acid Diethylamide) ดีเอ็มที (D.M.T. = Dimethyl Trytamine) เอสทีพี (S.T.T. = Serenity Tranquility Peace) เป็นต้น ยาเสพติดเหล่านี้จะทำให้เกิดประสาทหลอนเห็นภาพผิดปกติ รสสัมผัส เปลี่ยนแปลง รวมทั้งอายตนะทั้งห้าของร่างกายแปรปรวน มีปฏิกิริยาผิดไปจากความจริงทั้งหมด

    1.4 ยาที่ออกฤทธิ์ผสมผสานกัน (Mixed) ได้แก่ กัญชา ถ้าเสพจำนวนน้อยจะกดประสาทอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ต่อเมื่อเสพเพิ่มเข้าไปมากจะกลายเป็นพิษหลอนประสาทได้

  2. แบ่งตามที่มาของยาเสพติด คือ

    2.1 ยาเสพย์ติดธรรมชาติ ได้แก่ ยาเสพติดที่ได้มาจากต้นพืช เช่น ฝิ่น โคคะอีน กัญชา รวมทั้งที่ได้ปรุงแปรสภาพลักษณะอย่างอื่นโดยกรรมวิธีทางเคมีแล้ว เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เป็นต้น

    2.2 ยาเสพย์ติดสังเคราะห์ ได้แก่ ยาเสพติดที่ได้มาจากการปรุงขึ้นโดยกรรมวิธีทางเคมีโดยตรง และนำมาใช้แทนยาเสพติดธรรมชาติได้ เช่น แอมเฟตามิน เพธิดีน ไฟแซปโตน เมธาโดน เป็นต้น

พริ้มเพรา ผลเจริญสุข (2545 : 3) ได้สรุปประเภทของยาเสพติดที่แบ่งตามการออกฤทธิ์ แบ่งตามแหล่งที่มา แบ่งตามกฎหมาย และแบ่งตามองค์การอนามัยโลกดังนี้

  1. แบ่งตามวิถีการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ

    1.1 ประเภทกดประสาท เช่น กลุ่มฝิ่น (ฝิ่นยา มอร์ฟีน โคเคอีน เฮโรอีน) ยาระงับประสาทและยานอนหลับ (เซโคบาร์บิตาล อะโนบาร์บิตาล) ยากล่อมประสาท (เมโปรบาเมต ไดอะซีแพมคลอไดอาซีพอกไซด์) สารระเหย (ทินเนอร์ น้ำมันเบนซิน) เครื่องดื่มมึนเมา

    1.2 ประเภทกระตุ้นประสาท เช่น แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน กระท่อม โคเคน บุหรี่ กาแฟ เป็นต้น

    1.3 ประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเสดี (LSD = Lyser-gic acid Diethylamide) ดีเอ็มที (DMT = Dimethyltryptamine) เห็ดขี้ควาย

    1.4 ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน อาจกด กระตุ้น หรือหลอดประสาทผสมร่วมกัน เช่น กัญชา

  2. แบ่งตามแหล่งที่มา

    2.1 ประเภทที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน กระท่อม กัญชา ฯลฯ

    2.2 ประเภทที่ได้จากการสังเคราะห์ เช่น เฮโรอีน เซโคบาร์บิตาล แอมเฟตามีน ฯลฯ

  3. แบ่งตามกฎหมาย คือ

    3.1 ประเภทถูกกฎหมาย เช่น ยาแก้ไอน้ำดำ บุหรี่ เหล้า กาแฟ ฯลฯ

    3.2 ประเภทผิดกฎหมาย

- ยาเสพติดให้โทษ เชน มอร์ฟีน ฝิ่น เฮโรอีน กระท่อม กัญชา แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน แอลเอสดี เอ็คซืตาซี - วัตถุออกฤทธิ์ เช่น เซโคบาร์บิตาล เพโมลีน ดีเฟดรีน - สารระเหย เช่น ทินเนอร์ กาว แล็กเกอร์

  1. แบ่งตามองค์การอนามัยโลก คือ

- ประเภทฝิ่น หรือมอร์ฟีน รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีน เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เพธิดีน - ประเภทบาบิทูเรท รวมทั้งยาที่มีฤทธิ์ทำนองเดียวกัน เช่น เซโคบาร์บิตาล อะโมบาร์- บิตาล พาราลดีไฮด์ เมโปรบาเมท ไดอาซีแพม คลอไดอาชีพอกไซด์ - ประเภทแอลกอฮอลด์ เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ - ประเภทแอมเฟตามีน เช่น แอมเฟตามีน เดกซ์แอมเฟตามีน - ประเภทโคเคน เช่น โคเคน ใบโคคา - ประเภทกัญชา เช่น ใบกัญชา ยางกัญชา - ประเภทคัท เช่น ใบคัท ใบกระท่อม - ประเภทหลอนประสาท เช่น แอลเอสดี ดีเอ็มที เมสคาลีน เมล็ดมอร์นิ่งโกลลี่ ต้นลำโพง - ประเภทอื่น ๆ เป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าประเภทได้ เช่น ทินเนอร์ เบนซิน น้ำยาล้างเล็บ ยาแก้ปวด บุหรี่

ลักษณะของบุคคลที่ติดยาเสพติด

นวลจันทร์ ทัศนชัยกุล (2541 : 179 - 180) กล่าวว่ายาเสพติด หมายถึง สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูด ฉีด หรือด้วยประการใด แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพมากขึ้น ๆ มีอาการถอนยาเมื่ออยากยาและเป็นผลอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของผู้เสพ โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัดความของลักษณะการติดยาไว้ ดังนี้

  1. มีพลังความต้องการยาสูง เพื่อจะได้เสพต่อไปไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใด
  2. มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณยามากขึ้น
  3. ภาวะทางจิตและทางร่างกายโดยทั่วไปดำรงอยู่ได้โดยอาศัยยา
  4. ทำความเสียหายให้แก่ปัจเจกบุคคล และสังคมอย่างรุนแรง

สุชา จันทน์เอม (2542 : 93 - 96) กล่าวว่ายาเสพติดทุกประเภทจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะมีอาการที่แสดงออกในผู้ติดยาเหล่านั้น ให้เห็นผลจากพิษภัยของยาเพราะเกิดการทำลายระบบประสาท สมองตลอดจนอวัยวะสำคัญของร่างกาย และทำลายจิตใจร่วมไปด้วย

มีลักษณะที่ควรสังเกตได้บ้างดังนี้

  1. การเปลี่ยนแปลงของบุคคลทางร่างกายและจิตใจ

    1.1 การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ผู้ติดยาเสพติดจะมีสุขภาพร่างกายทรุดโทรม เช่นผู้ติดมอร์ฟีน เฮโรอีน ฝิ่น ในระยะหนึ่งจะมีอาการผอมซูบ เนื้อตัวเหลือง ริมฝีปากเขียว ตาแฉะ ซึม ง่วงเหงา หาวนอนแก้ตาหรี่ ไม่รู้สึกในเรื่องความหิว เป๋อ เลื่อนลอย ชีพจรเต้นช้า หายใจช้า พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย หากติดชนิดฉีดจะพบรอยฉีดยาหรือรอยเลือดเป็นจุด ๆ ตามเสื้อผ้า พวกติดไอระเหย มักจะพบรอยไหม้เกรียมที่นิ้วมือ ส่วนที่ติดกัญชาตามปกติสังเกตได้ยาก นอกจากในระยะเรื้อรังคือ ช่างพูด แก้วตาขยายกว้าง หลุกหลิก ชอบหัวเราะลั่น อยากของหวาน มีความผิดปกติทางสายตา

    ผู้ติดแอมเฟตามิน มักโผงผาง เกะกะระรา พูดจาเร็ว คึกคัก ไม่อยากอาหาร ไม่รู้จัก เหน็ดเหนื่อย ปากแห้ง ลมหายใจเหม็น แก้ตาเบิกกว้าง เหงื่อจัด ชอบเลียริมฝีปาก ชอบถูหรือเกาจมูก สูบบุหรี่จัด

    การติดยาบาร์บิทูเรต เซโคนัล หรือเหล้าแห้ง จะง่วงเหงาหาวนอน มึนซึม พูดจาลากเสียงเหมือนคนเมาเหล้า เฉื่อยชา อาเจียน เศร้าสร้อย ชอบทะเลาะด่าทอและผรุสวาท โซซัดโซเซ มีอาการต่าง ๆ เหมือนคนเมาเหล้าแต่ไม่มีกลิ่นเหล้าจากปากและชอบประทุษร้ายตัวเอง

    1.2 การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ผู้ติดยาเสพติดจะมีความประพฤติและอารมณ์ผิดแปลกไปจากเดิม มีการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ ขาดความสนใจในตัวเอง ละเลยกิจวัตรประจำวัน ไม่สนใจในความเป็นอยู่ของตัวเอง ขาดความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียน การงาน หัดสูบบุหรี่ ใช้เงินเปลือง อากัปกิริยาท่าทางลับลมคมนัยขึ้น มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหง่าย

  2. การสังเกตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ซุกซ่อนแอบแฝง เช่น เข็มฉีดยา หลอดใส่ผงขา ช้อน ตะกั่ว ไม้ขีดไฟ หลอดกาแฟ หรือพวกเศษผงเศษไม้ มีคราบตามเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งโดยปกติแล้วเยาวชนหรือคนทั่ว ๆ ไปไม่ควรมีไว้ใช้ประจำตัว นอกจากนี้ก็คือการสังเกตจากการที่มียาชนิดต่าง ๆ หลายขนาดต่างสีกันโดยไม่มีฉลากยาบอกชื่อไว้แน่นอน

  3. สังเกตอาการงดยาเสพติด โดยเหตุที่ยาเสพติดมีคุณสมบัติอยู่ประการหนึ่ง คือ ถ้าผู้ติดยาเสพติดไม่ได้เสพยาตามกำหนดเวลาจะปรากฎอาการที่เรียกกันว่า “อาการงดยาเสพติด” คือ น้ำมูกน้ำตาไหล หาว จาม กระสับกระส่าย หงุดหงิด ทุรนทุราย หนาว ๆ ร้อน ๆ เหมือนเป็นไข้ ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดสันหลังบั้นเอว ปวดในสมอง จุดแน่นในอก อึดอัดคล้ายจะขาดใจ บางรายถึงกับชักตาตั้ง น้ำลายฟูมปากเหมือนคนเป็นลมบ้าหมู เหงื่อไหลซึม อาการที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเพราะระบบประสาทในร่างกายถูกทำลายด้วยพิษร้ายของยาเสพติด

โดยเหตุที่ยาเสพติดมีหลายประเภท อาการของผู้ใช้ยาเสพติดและอาการงดเสพที่แสดงออกอาจจะไม่เหมือนกันหมดทุกประเภท ในรายที่ใช้ยาเสพติดชนิดร้ายแรง เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน จะมีอาการรุนแรงและเด่นชัดกว่าประเภทที่ออกฤทธิ์อ่อนกว่า เช่น ใบกระท่อม กัญชา เป็นต้น และยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์อ่อนเมื่อเสพจำนวนน้อยในขณะที่ร่างกายแข็.แรงดีก็อาจจะสังเกตไม่พบอาการดังกล่าว เลยก็ได้

การสังเกตลักษณะและอาการผู้ติดยาเสพติด โดยดูจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ

ลักษณะอาการและสิ่งที่พบได้ ดังนี้ คือ (พริ้มเพรา ผลเจริญสุข, 2545 : 12-14)

  1. การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย

    1.1 สุขภาพทรุดโทรม ซูบซีด หมองคล้ำ น้ำหนักตัวลด ไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงานหนัก ริมฝีปากเขียวคล้ำ มักใส่แวนกรองแสงสีเข้มเพื่อต่อสู้กับแสงสว่าง เพราะม่านตาขยาย เหงื่อออกมาก

    1.2 มีร่องรอยการเสพยาเสพย์ติดให้เห็นที่บริเวณแขนตามแนวเส้นโลหิตดำ มักใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดร่อยรอยการฉีดยาเสพติด

    1.3 มีรอยแผลเป็นที่ท้องแขนเป็นรอยกรีดด้วยของมีคมตามขวางเฉียง ๆ

    1.4 นิ้วมือมีรอยคราบเหลืองสกปรก

    1.5 ผิวหนังหยาบกร้านเป็นแผลผุพอง อาจมีหนอง น้ำเหลือง คล้ายโรคผิวหนัง

  2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ

    ความประพฤติ การงานบกพร่อง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ปล่อยเนื้อปล่อยตัว พูดจาไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง ชอบอยู่คนเดียว ชอบแยกตัวเอง หลบซ่อน ตัวไม่เข้าหน้าผู้อื่น ทำตัวลึกลับ เป็นคนเจ้าอารมณ์ หงุดหงิดเอาแต่ใจตัวเอง พูดจาก้าวร้าวแม้แต่บิดามารดา ครูอาจารย์ของตนเอง ไม่สนใจความเป็นอยู่ของเอง แต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย สีหน้าแสดงความวิตกกังวลซึมเศร้า

เมื่อขาดยาเสพติดจะมีอาการอยากยาเกิดขึ้น คือ น้ำมูกไหล หาวนอน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หายใจถี่ลึก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องเดิน ขนลุก เป็นตะคริว แขนขาหรือกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งสั่นกระตุก ขบฟัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดเสี่ยวในกระดูก ดิ้นทุรนทุราย ม่านตาขยายโตขึ้น ความดันโลหิตสูง ชักกระตุก

ก๊อดส์ (Ghodse. 1989 : 3-4, 12) กล่าวว่า ลักษณะการติดยาอาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ

  1. การติดยาที่เกิดจากสภาวะทางร่างกาย (Physiological Dependence) คือการแสดงออกของภาวะไม่สมดุลทางร่างกาย เมื่อขาดสารเคมีหรือยา ซึ่งก็คือร่างกายมีภาวะขาดยา (Drug Withdrawal) นั่นเอง
  2. การติดตาที่เกิดจากสภาวะทางจิตใจ (Psychological Dependence) คือความคิดหรือความรู้สึกของบุคคลที่ทำให้เชื่อว่าต้องใช้ยา และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งยาหรือสารเคมีดังกล่าว ถึงแม้จะรู้ถึงผลเสียที่มีต่อตนเอง

แต่ก๊อดส์(อ้างถึงในจันจิรา รอดสงค์:2545) กล่าวว่าในบางครั้งบุคคลอาจมีความต้องการยาหรือสารเคมีได้ ถึงแม้จะไม่มีความต้องการทางร่างกายเลย ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงผู้ที่ติดยาหรือสารเคมี จึงจะทำให้ความสำคัญกับการติดยาหรือสารเคมีที่เกิดจากสภาวะจิตใจของบุคคลนั้น ๆ

จะเห็นได้ว่าการใช้ยาเสพติดหรือสารเคมีต่าง ๆ และไม่สามารถเลิกใช้ได้นั้นมีความสัมพันธ์กับ ภาวะจิตใจที่อ่อนแอ แต่ไม่ได้เกิดจากภาวะทางจิตใจเพียงอย่างเดียว อาจยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่เป็นปัจจัยประกอบที่ทำให้บุคคลใช้ยาเสพติด ซึ่งจะได้กล่าวถึงสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สาเหตุของการใช้ยาเสพย์ติด

สาเหตุของผู้ที่ติดยาเสพติดอาจเนื่องมาจากความกดดันทางอารมณ์และจิตใจ เช่น มาจากครอบครัวที่มีสิ่งแวดล้อมไม่ดี หรือมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ขาดความรักซึ่งกันและกัน ลูก ๆ ขาดความอบอุ่นขาดผู้อุปการะที่ดี ขาดการอบรมสั่งสอน ขาดความเห็นอกเห็นใจ พบแต่ความเบื่อหน่ายในชีวิต ในที่สุดก็มีแต่ความกลุ้มมองไม่เห็นอนาคต หันเข้าหายาเสพติดเพื่อหวังว่าให้ยาช่วยบรรเทาความกลัดกลุ้มลงได้บ้าง และบุคคลเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นอาชญากรแผ่นดินไปเป็นส่วนมาก

สาเหตุของการติดยาเสพติดซึ่งมีการวิจัยถึงสาเหตุของการติดยาเสพติดแบ่งตามกลุ่มเป้าหมาย และตัวยาที่เสพสรุปโดยภาพรวม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนทั้งในชุมชนแออัดและในโรงเรียน โดยภาพรวมเริ่มเสพยาเสพติดครั้งแรกตั้งแต่วัยรุ่น นอกเหนือจากเหล้าและบุหรี่ยาเสพติดที่ใช้ครั้งแรก มักเป็นกัญชารองลงไปคือเฮโรอีน โดยมีสาเหตุจากถูกเพื่อนชักจูงและความอยากลองประกอบกับความเชื่อว่าทำให้เกิดความสุขผ่อนคลายความเครียดโดยเฉพาะผู้เสพยาบ้าต้องการทำงานหนักขึ้นมักเป็นผู้มีอาชีพใช้แรงงานรับจ้าง มีการศึกษาต่ำในระดับประถม แหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดอยู่ในชุมชน ที่พักอาศัย (พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ. 2540 : 4-5)

ศรีเรือน แก้วกังวาล (2530 : 187-190) ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นติดยาเสพติดนั้นเกิดจากทั้งสภาพจิตใจของวัยรุ่นเองและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้เป็นไปด้วย อาทิ เช่น

  1. ความอยากลอง เด็กวัยรุ่นมีนิสัยอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง โดยเฉพาะกับสิ่งต้องห้าม ยิ่งถูกห้ามมาก ก็ยิ่งอยากลองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มวัยรุ่นที่มีบุคลิกควบคุมอารมณ์ไม่ได้ใจอ่อน อ่อนไหว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบพึ่งพิง
  2. ความอยากมีเพื่อน เอาใจและตามใจเพื่อน เนื่องจากช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่อ่อนไหวและมีความต้องการที่จะมีกลุ่มเพื่อนร่วมวัยรวมทั้งการยอมรับจากเพื่อน
  3. ความผิดหวัง เนื่องจากระยะวัยรุ่น เป็นระยะที่เด็กเต็มไปด้วยความคาดหวังในเรื่องต่าง ๆ ความคาดหวังมักมีลักษณะเป็นอุดมคติสูงส่ง ซึ่งห่างไกลกับความเป็นจริงของชีวิต ดังนั้นเมื่อเรื่องราว ต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนไม่สมหวังในชีวิต และความรู้สึกไม่สมหวังนี้ก็จะนำมาซึ่งความเศร้าโศก บางรายจึงหาทางออกเพื่อลบความผิดหวัง ความเสียใจ โดยหนีไปสู่โลกของการติดยาเสพติด
  4. ครอบครัว คือลักษณะครอบครัวที่ไม่ให้กำลังใจแก่เด็ก ประวัติวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดแทบทุกรายได้ข้อสรุปว่าสภาพครอบครัวมีส่วนผลักดันให้เขาต้องหันเข้าหายาเสพติดเป็นทางออกของปัญหาชีวิตของเขา
  5. สถาบันการศึกษา เนื่องจากใจสถาบันเหล่านี้ เป็นสถานที่ที่วัยรุ่นมาอยู่ร่วมกันมาก คำบอกเล่าเรื่องยาเสพติดจากเพื่อนร่วมกลุ่ม จึงมีส่วนสำคัญมากที่จะชักจูงให้มีการทดลองเสพยา อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษา ก็เป็นแหล่งที่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพย์ติดให้กับวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี

นวลจันทร์ ทัศนชัยกุล (2541 : 180) กล่าวถึงสาเหตุของการใช้ยาเสพติด โดยสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

  1. เกิดจากความอยากรู้ อยากทดลอง ได้ยิน ได้ฟัง บางคนเคยเห็น จึงเกิดความอยากรู้ สนใจว่ายาเสพย์ติดเป็นอย่างไร
  2. เพื่อนที่ใกล้ชิดสนิทกันชักชวน การถูกรบเร้าจากคนข้างเคียงบ่อยครั้ง จึงทำให้ยับยั้งใจไม่ได้
  3. สภาพครอบครัวมีปัญหา บรรยากาศภายในครอบครัวไม่ดี ขาดความรัก ความอบอุ่น บิดามารดาห่างเหินไม่ให้เวลาใกล้ชิดเอาใจใส่เท่าที่ควร ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไปเข้ากับกลุ่มเพื่อนจึงมีแนวโน้มกระทำผิดได้ง่าย
  4. สิ่งแวดล้อมทางโรงเรียน โรงเรียนไม่สามารถอบรมปลูกฝังจริยธรรม ศีลธรรม ควบคุมอย่างมีระเบียบวินัยทำให้โรงเรียนไม่สามารถอบรมสั่งสอนทั้งวิชาการและความประพฤติแก่นักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. สิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัยในเขตที่พักอาศัยรอบบริเวณมีคนเสพยาเสพติด มีการซื้อขายการได้ยิน การได้พบเห็น และที่ร้ายแรงที่สุด คือ ในบ้านมีคนที่เสพยาเสพย์ติด
  6. สื่อมวลชนต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพยนตร์ การประชาสัมพันธ์ การแพร่ภาพ ซึ่งส่งผลทั้ง 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งก็ช่วยควบคุมและป้องกัน แต่อีกด้านกลับเป็นการชักจูงโน้มน้าวไปโดยอัตโนมัติ

สุชา จันทน์เอม (2542 : 101) ได้แยกแยะสาเหตุของการติดยาเสพติดให้โทษได้ดังนี้

  1. ติดเพราะยาซึ่งมีคุณสมบัติให้ติดเอง ผู้เคยเสพต้องใช้ยาเสพติดนั้นซ้ำต่อไปเรื่อย ๆ ผู้เข้าไปคลุกคลีกับยาเสพติดแม้จะมีสุขภาพดีและมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมให้ติด แต่ในบางครั้งผู้นั้นก็อาจติดได้เช่นกัน
  2. ความอ่อนไหวทางจิตใจและอารมณ์ ซึ่งรุนแรงมากน้อยแล้วแต่บุคคล วัยรุ่นที่ต้องการจะทำอะไรตามใจชอบหรือความนึกคิดของตน ต้องการที่จะได้รับสถานภาพทางสังคม เช่น ต้องการเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนฝูง โดยพยายามทำอะไรให้คล้าย ๆ กัน เลียนแบบตามกัน ต้องการประสบการณ์ใหม่ เช่น อยากทดลองกระทำในสิ่งที่ตนไม่เคยกระทำมาก่อน บางคนต้องการหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ยากที่ประดังมาจากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน หรือจากความรู้สึกภายในที่ไม่สบายหรือความเจ็บปวดต่าง ๆ หันมาสร้างโลกของตัวเองโดยการใช้ยาเสพติด
  3. ติดเพราะถูกชักชวน ถูกหลอกลวง ถูกบีบบังคับจากหมู่คณะ
  4. สิ่งแวดล้อม นับว่ามีอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งในการชักจูงให้บุคคลใช้ยาเสพติด เช่น อยู่ในละแวดที่อยู่อาศัยที่มีการค้ายาเสพย์ติดและติดยารอบบ้าน การอาศัยในครอบครัวเดียวกับผู้ใช้ยาเสพติด ครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ครอบครัวเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างยิ่งเพราะ ครอบครัวเป็นสถาบันแรกที่ได้ให้การอบรมทางด้านจิตใจ แก่เด็กตลอดเวลา อุปนิสัยส่วนตัวของเด็ก อารมณ์ของเด็ก มีจุดเริ่มต้นมาจากบ้าน เพราะฉะนั้นครอบครัวจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนดีหรือคนเลวได้

ชุสเตอร์ และคิลบี (Schuster and Kilby. 1993:778) กล่าวถึงสาเหตุการใช้ยาเสพติดว่าเกิดจาก

  1. ความวิตกกังวล
  2. พฤติกรรมของเพื่อนถ้าเพื่อนดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ วัยรุ่นนั้นอาจจะมีพฤติกรรมเช่นนั้น
  3. วัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่แตกแยกหรือมีการใช้ยาเสพติด วัยรุ่นนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดด้วยเช่นกัน
  4. วัยรุ่นที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีแนวโน้มที่จะใช้ยาเสพติด
  5. การใช้ยาเสพติดในวัยรุ่น จะมีลักษณะเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน และมักเกิดในวัยรุ่นที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ

ฟิลลิปป์ (Pphillips.1994:22) กล่าวว่า การที่วัยรุ่นติดยาเสพติดนั้น มีอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อนต้องการการยอมรับเข้ากลุ่ม แต่ถ้ายาเสพติดนั้นไม่ได้ช่วยทำให้เกิดความผูกพันกับเพื่อนได้มันก็จะทำให้ลืมเรื่องที่ไม่สบายใจต่าง ๆ ได้ นอกจากนั้นอาจจะมีอิทธิพลมาจากครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบุคคลในครอบครัวใช้ยาเสพติด

โทษและพิษภัยของยาเสพติด

การติดยาเสพติดทุกประเภทมีแต่โทษไม่มีคุณประโยชน์เลย โทษที่เห็นได้ง่าย ๆ คือสุขภาพร่างกายของผู้เสพจะเสื่อมโทรมลง ต่อมาจิตใจก็เลวลง ร้ายขึ้น ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียนและการงานอาชีพ ทำลายชื่อเสียงเกียรติยศของตนเองและวงศ์ตระกูล และนำไปสู่การประกอบอาชญากรรม มีผลกระทบกระเทือนถึงสังคมส่วนร่วมและเศรษฐกิจของประเทศชาติ โทษของยาเสพติดจึงอาจสรุปได้ดังนี้ (พัฒน์ สุจำนงค์. 2529: 24-28)

  1. โทษต่อตนเอง ยาเสพติดจะทำลายกระทำงานของสมองส่วนกลาง ประสาทอัตโนมัติ และ ประสาทส่วนปลาย ส่งผลให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ ทำให้ร่างกายมีสภาพทรุดโทรมอ่อนแอ และ เกียจคร้านไม่อยากทำอะไรเอาแต่นอน
  2. โทษต่อครอบครัว สูญเสียเงินทองและทรัพย์สินไปกับการซื้อยาเสพติดทำให้ฐานะยากจนลูกเมียต้องลำบาก ทำลายชื่อเสียงของครอบครัว บุคคลในครอบครัวมีความทุกข์ใจ
  3. โทษต่อชาติบ้านเมือง ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินรายได้ไปกับค่ายาเสพติด และเมื่อมีประชากรในบ้านเมืองติดยาเสพติดกันมากทำให้ประเทศชาติสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศและการติดยาเสพติดยังเป็นต้นเหตุของการเกิดอาชญากรรมด้วย

นอกจากนี้การกำหนดอัตราโทษตามพระราชบัญญัติมาตราการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 (สำนักงาน ป.ป.ส. 2544 : 8-9) มีดังนี้

ข้อหา - อัตราโทษ

  1. สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
  2. จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินยานพาหนะสถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุม
  3. จัดหาหรือให้เงินหรือให้ทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุม
  4. รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากผู้กระทำความผิด เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
  5. ปกปิด ซ่อนเร้น หรือเอาไปเสีย ซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
  6. ชี้แนะ หรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
  7. ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคน ขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ข้อหา 1-6 ระวางโทษเดียวกับตัวการ ข้อหา 7 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผลของการฝึกการให้คำปรึกษาที่มีต่อความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ประวัติย่อผู้วิจัย

  • ชื่อ พรรณี ชื่อสกุล วิญญกูล
  • เกิดวันที่ 11 เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2514
  • สถานที่เกิด อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
  • สถานที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 36/1 ม. 4 ตำบลประศุก
  • อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี 16110
  • ตำแหน่งหน้าที่การงานปัจจุบัน พยาบาลวิชาชีพ 6
  • สถานที่ทำงานปัจจุบัน โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ประวัติการศึกษา - พ.ศ.2531 มัธยมศึกษาตอนปลาย - จากโรงเรียนอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี - พ.ศ.2535 ประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ - พ.ศ.2544 การศึกษามหาบัณฑิต (จิตวิทยาการแนะแนว) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร

เรื่องที่ศึกษา

ผลของการฝึกการให้คำปรึกษาที่มีต่อความสามารถในการให้คำปรึกษา ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

งานวิจัยนี้ มีตัวแปรอิสระ คือ การฝึกการให้คำปรึกษา และตัวแปรตามคือ ความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาล โดยมีการจัดทำกับกลุ่มประชากร และกลุ่มตัวอย่างดังนี้

  1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี ที่ยังไม่เคยผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา และมีความสามารถในการให้คำปรึกษาตั้งแต่เปอร์เซนไทล์ที่ 50 ลงมา จำนวน 11 คน
  2. ลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีความสามารถในการให้คำปรึกษาตั้งแต่เปอร์เซนไทล์ที่ 50 ลงมา และยังไม่เคยได้รับการอบรมการให้คำปรึกษา จำนวน 8 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่ายจากประชากรที่มีความสมัครใจ

ศึกษาเมื่อใด

ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในช่วงวันที่ 12 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2543

  • วันที่ 12 ธันวาคม 2543 และ 14 ธันวาคม 2543 ผู้วิจัยทำการประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ และเก็บคะแนนที่ได้จากการประเมินเป็นคะแนน Pretest.
  • วันที่ 18 ธันวาคม 2543 ถึง 23 ธันวาคม 2543 ผู้วิจัยทำการโดยการฝึกการให้คำปรึกษาตามโปรแกรมการพัฒนาความสามารถ เป็นระยะเวลา 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง
  • วันที่ 29 ธันวาคม 2543 และ 29 ธันวาคม 2543 ผู้วิจัยทำเป็นประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ และเก็บคะแนนที่ได้จากการประเมินเป็นคะแนน Posttest.

ทำไมจึงศึกษา

การพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ช่วยเหลือผู้อื่น โดยมีเป้าหมายในการปฏิบัติกิจกรรม และให้การพยาบาลอย่างควบคลุมทั้งด้าน กาย จิต สังคม ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในภาวะเจ็บป่วย ทางกาย บางคนอาจมีความวิตกกังวล ความเครียด ความกลัว ในสถานการณ์เช่นนี้ พยาบาล ควรมีบทบาทในการให้คำปรึกษา เพื่อให้ผ่านพ้นกับความทุกข์ในระดับหนึ่งได้ พยาบาลนอกจากจะดูแลทางด้านร่างกายแล้ว การดูแลด้านจิตใจก็มีความสำคัญและทำในรูปแบบของการให้คำปรึกษา โรงพยาบาลอินทร์บุรี เห็นความสำคัญในเรื่องการเพิ่มความสามารถของพยาบาลวิชาชีพ ด้านการให้คำปรึกษา และยังมีบุคลากรบางส่วนที่ยังไม่ได้รับการอบรมการให้คำปรึกษา ผู้วิจัยจึงนำกลุ่มดังกล่าวมาเป็นกลุ่มประชากรในการใช้โปรแกรมฝึกการให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนาความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ โดยกำหนดสมมติฐานการศึกษาไว้ดังนี้

สมมติฐาน

พยาบาลวิชาชีพมีความสามารถในการให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้น ภายหลังได้รับการฝึกการให้คำปรึกษา

ศึกษาเพื่ออะไร

วัตถุประสงค์หรือความสำคัญของการศึกษาครั้งนี้ เป็นการพัฒนาความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับพยาบาลวิชาชีพ ในการพัฒนาศักยภาพ ความสามารถในการให้คำปรึกษาต่อไป

กลุ่มที่ใช้ในการศึกษา

กลุ่มประชากร

  1. ประชากรเป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ยังไม่เคยผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา และมีความสามารถในการให้คำปรึกษา ตั้งแต่เปอร์เซนไทล์ที่ 50 ลงมา จำนวน 11 คน
  2. กลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่ยังไม่เคยผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา จำนวน 8 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่ายจากผู้สมัครใจ โดยมีขั้นตอนการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างดังนี้
    1. ผู้วิจัยนำแบบประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษาที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ให้หัวหน้าหน่วยงานประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพที่ยังไม่เคยผ่านการอบรมการให้คำปรึกษา แล้วผู้วิจัยคัดเลือกพยาบาลวิชาชีพที่มีความสามารถในการให้คำปรึกษา ตั้งแต่เปอร์เซนไทล์ที่ 50 ลงมาได้จำนวน 11 คน
    2. ผู้วิจัยและผู้ช่วยวิจัยประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษาของพยาบาลวิชาชีพ ทั้ง 11 คน อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้แบบประเมินความสามารถในการให้คำปรึกษา
    3. ผู้วิจัยถามความสมัครใจของพยาบาลวิชาชีพทั้ง 11 คน แล้วจึงคัดเลือกพยาบาลที่ สมัครใจ โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายอีกครั้งหนึ่ง ได้พยาบาลวิชาชีพ
ดร.นพ.กนก อุตวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาล