ความต้องการการดูแลหลังการบำบัดรักษาของผู้ป่วยยาเสพติด (คุณสยาม มุสิกะไชย)
ความต้องการการดูแลหลังการบำบัดรักษาของผู้ป่วยยาเสพติด
บทนำ
ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด สิ่งที่ต้องให้ความสนใจมาก ๆ คือความต่อเนื่อง สม่ำเสมอในการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งการปราบปราม การป้องกัน และการบำบัดรักษา สำหรับการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข นับเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง เพราะเชื่อว่าการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหายาเสพติดลงได้ ( วิมล และ วิภาวดี , 2547 ) ความพยายามของทุก ๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดต้องการที่จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา แต่ก็ยังทำได้ยาก ยังคงมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เข้ารับการรักษา จากการศึกษาประมาณการจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในเดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2544 พบว่ามีผู้เคยใช้ยาเสพติดมากถึง 7,312,200 คน (ปราโมทย์,2545) ส่วนนักเรียน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั่วประเทศในปี2544 ของสำนักวิจัยเอแบคโพลส์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พบว่ามีนักเรียน นักศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 374,653 คน(สำนักงานพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด, 2545) และในปี 2546 เฉพาะในส่วนของภาคใต้ได้มีการศึกษาสถานการณ์การใช้ยาและประมาณการจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในภาคใต้ ปี 2546 พบว่าเคยมีผู้ใช้สารเสพติดชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ กระท่อม กัญชา ฝิ่น ยาอี ยาเลิฟ ยาเค โคเคน เฮโรอีน สารระเหย และยาบ้า จำนวน 323,300 คน คิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรในพื้นที่ และพบว่าในช่วง 30 วัน ยังคงใช้สารเสพติดอยู่ จำนวน 128,200 คน หรือร้อยละ 2.2 ( ศรีสมภพ และคณะ , 2546 )
ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการตามนโยบายพลังแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ทำให้มีผู้เสพยาเสพติดเข้ามารับการบำบัดรักษาทั้งในระบบสมัครใจและบังคับรักษามีจำนวนมากขึ้น แต่ก็พบว่าจำนวนของผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาแล้วยังมีผู้ผ่านการบำบัดรักษาหลายรายที่กลับไปเสพยาอีกสูงถึงร้อยละ 75 ในระยะเวลา 3 เดือนแรกหลังหยุดยา ( ทรงเกียรติ , 2544 อ้างตามวิมล และวิภาวดี , 2547 ) สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายให้บุคลากรทางการบำบัดรักษาและสังคมได้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ที่จะค้นหาศึกษาและพัฒนามาตรการและบริการบำบัดให้เข้ากับปัญหาและความต้องการ จำเพาะตัวของผู้ป่วยแต่ละคน อันเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จสูงสุดในการกลับไปสู่ชีวิตที่มีคุณค่าของครอบครัวและสังคม (โรงพยาบาลธัญญารักษ์, 2544) โดยที่ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้สู่ชีวิตที่ปลอดยาเสพติดสามารถดำเนินชีวิตโดยมีกิจกรรมตามปกติหลาย ๆ ด้านให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ (วิโรจน์และวิมลวรรณ, 2544) อันจะลดผลที่มีต่อสุขภาพของผู้เสพยาเสพติด ช่วยให้ครอบครัวมีความมั่นคงเป็นครอบครัวที่อบอุ่น สังคมโดยรวมก็จะน่าอยู่ประเทศชาติมีประชากรที่มีคุณภาพอันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศที่ดีต่อไป
การบำบัดรักษาและการดูแลหลังการบำบัดรักษา
เนื่องจากพฤติกรรมการติดยาเสพติดเป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อน มีสาเหตุทั้งด้านส่วนบุคคล ด้านสังคม ด้านพันธุกรรม ด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา และด้านจิตใจเป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังกล่าวเมื่อจัดกลุ่มพบว่า การติดยาเสพติดมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านจิตใจ และปัจจัยทางสังคมวิทยา อันนำไปสู่การเสพยาเสพติดตั้งแต่การใช้ยาแบบลองใช้ ใช้จนชินแล้วเกิดการติดยา<br />
จนกระทั้งติดอย่างหนักในที่สุด (ทรงเกียรติ , 2543 ) แล้วบุคคลทั่วไปในสังคมเห็นความแตกต่างของคนกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของพฤติกรรมและลักษณะต่าง ๆ ของบุคคลจากการศึกษาพบว่า ลักษณะของผู้ติดยาเสพติดที่พบเห็นได้ คือ
1. ด้านพฤติกรรม ผู้ติดยาเสพติดจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งยาเสพติด ส่งผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออก เช่นขาดความรับผิดชอบ โกหก ขาดระเบียบวินัย เสียสัมพันธภาพกับครอบครัว และสังคม รวมทั้งก่อปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโสเภณีหรือโรคเอดส์ เป็นต้น
2. ด้านความคิด ผู้ติดยาเสพติดมักมีความคิดในขอบเขตจำกัด คิดต่อต้านสังคม หรือ รังเกียจตนเอง ไม่กล้าเผชิญปัญหา
3. ด้านความรู้สึก ผู้ติดยาเสพติดรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไร้ค่าไม่เป็นที่ต้องการของครอบครัว สังคม มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย อ่อนไหว หรือวู่วาม
4. ด้านบุคลิกภาพ ผู้ติดยาเสพติดมักแยกตนเองไม่ค่อยสนใจดูแลตนเอง ขาดความมั่นใจ หรือมีท่าทีก้าวร้าว เป็นต้น
5. ด้านจิตใจ ผู้ติดยาเสพติดมักมีจิตใจอ่อนแอ อารมณ์อ่อนไหว ไม่สามรถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ ขาดความภาคภูมิใจในตนเอง ซึมเศร้า บางรายอาจมีอาการทางจิต จนมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงกลัวคนมาทำร้าย หวาดระแวง หลงผิด ประสาทหลอน อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้เพราะผู้ติดยาเสพติดจะมีความแตกต่างกันทั้งความรุนแรงในการติดยาเสพติด โรคแทรกซ้อน การสนับสนุนจากสังคมและคนรอบข้าง ความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและลักษณะส่วนตัวของแต่ละคน (ล่ำซำ, 2544)
จากลักษณะดังกล่าวสิ่งที่จะช่วยเหลือได้ คือ การบำบัดรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ติดยาเสพติดในแต่ละรายไป ( ฉวีวรรณ , 2541 ; ธงชัย , 2544 , สุชาติ , 2544 อ้างตาม พจมาลย์ , 2548 และทรงเกียรติ , 2543 ) รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดมาตรการสำคัญที่นำมาใช้ คือ การกำหนดให้มีการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดใน 2 ระบบ คือ
1. ระบบสมัครใจ ( Voluntary System ) คือ ระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดซึ่งต้องการจะเลิกยายาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลต่าง ๆ
2. ระบบบังคับ ( Compulsory System ) ซึ่งปฏิบัติเป็น 2 รูปแบบ คือ
2.1 การบังคับบำบัดรักษาโดยกระบวนการคุมประพฤติ
2.2 การบังคับบัดรักษาโดยกระบวนการราชทัณฑ์
การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดนั้นมีความซับซ้อน และผู้ป่วยก็มีความหลากหลาย ต้อง
การการบำบัดที่แตกต่างออกไป ซึ่งในประเด็นนี้เอง โปรแกรมการบำบัดรักษาที่ดีที่สุดจึงเป็นการผสมผสานการบำบัดรักษาและบริการอื่น เพื่อให้ตรงกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งต้องปรับให้เข้ากับอายุ เชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศ ความสัมพันธ์ในครอบครัว (โรงพยาบาลธัญญารักษ์, 2544)
การบำบัดรักษาจึงมีรูปแบบที่มีความแตกต่างกันออกไป เพื่อรองรับความต้องการ ความร่วมมือของผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยยาเสพติด (ล่ำซำ, 2544) รูปแบบของการบำบัดรักษาที่นำมาใช้เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่
1. การบำบัดแบบผู้ป่วยนอกตามรูปแบบจิตสังคมบำบัด (Matrix program) เป็นรูปแบบของการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดแบบผู้ป่วยนอก โดยยึดหลักการปรับเปลี่ยนความคิดของผู้ป่วยให้เข้าใจถูกต้อง โดยองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ให้กับผู้ป่วยและครอบครัว หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แบบแผนการดำเนินชีวิต ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีองค์ประกอบสำคัญของโปรแกรมคือ การให้การปรึกษารายบุคคลและครอบครัว กลุ่มฝึกทักษะการเลิกยาระยะเริ่มต้น กลุ่มป้องกันการกลับไปติดยาซ้ำ กลุ่มครอบครัวศึกษา กลุ่มสนับสนุนทางสังคม (จรูญพร, 2544)
2. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบ ชุมชนบำบัด (Therapeutic Community) ชุมชนบำบัดเป็นรูปแบบที่บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มุ่งความพยายามที่จะเปลี่ยนเจตคติ พฤติกรรม ของผู้ใช้ยาเสพติด ไปสู่การมีชีวิตที่ดี ยืนอยู่บนพื้นฐานหลักการของมนุษย์ ในอันที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยการผูกพัน ห่วงใย และรับผิดชอบซึ่งกันและกัน เพื่อส่งเสริมความเจริญของบุคคล โดยวิธีการการช่วยเหลือตนเอง (Self-Help) และการใช้กลุ่มเพื่อนช่วยเหลือกัน (Peer Presuse) การจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการดำเนินการด้วยกลุ่มบำบัดและการทำงานเพื่อการบำบัดรักษา ด้วยกลวิธีเทคนิคในการปรับพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชนบำบัด ภายใต้สิ่งแวดล้อมของการบำบัด กฎระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณี และปรัชญา (มงคล, 2544)
3. กลุ่มบำบัด (Group Therapy) เป็นการใช้หลักของทฤษฎีต่าง ๆ ในการจัดกลุ่มเพื่อ ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมอารมณ์และความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสม ด้วยกระบวนการของการทำกลุ่มบำบัด ที่เลือกสรรเพื่อการบำบัดผู้ป่วย(วันเพ็ญและจงรัก, 2544)
4. การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดโดยใช้หลักศาสนา เป็นรูปแบบที่ใช้หลักศาสนาในการบำบัดรักษา เช่น การสอนหลักธรรมทางศาสนา การทำละหมาด การนั่งสมาธิ และอาจใช้ร่วมกับสมุนไพรการอบและนวดตัว เพื่อการบำบัดรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ
สำหรับขั้นตอนการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจและระบบบังคับมี 4 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตอนเตรียมการก่อนรักษา ( Pre admission Period ) เป็นการเตรียมตัวผู้ป่วยให้พร้อมที่จะเข้ารับการบำบัดรักาให้เกิดความเชื่อมั่น และมีความตั้งใจจริงที่จะเลิกยาเสพติด ยอมรับการบำบัดรักษาตามกรรมวิธี และระยะเวลาที่กำหนด
2. ขั้นตอนถอนพิษยา ( Withdrawal Treatment or Detoxification ) เป็นการบำบัดรักษาอาการทางกายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติดตามกรรมวิธีทางการแพทย์ เช่น การลดขนาดยาลงเรื่อย ๆ หรือการเปลี่ยนยาตัวแทน เช่น เมทาโดนแทนเฮโรอีน จนอาการขาดยา ( Withdrawal Symtoms ) หมดไป ทั้งนี้เพื่อแก้ฤทธิ์ยาเสพติดโดยตรง ช่วยรักษาอาการขาดยา
3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ ( Rehabilitation ) เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากขั้นตอนถอนพิษยา เป็นการปรับสภาพร่างกายและจิตใจให้มีความเข้มแข็งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบุคลิกภาพให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติ ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ อาชีพ และสังคม ด้านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมกลุ่มบำบัด งานบำบัด การให้คำแนะนำปรึกษา การอบรมธรรมะ การฝึกทักษะอาชีพ เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการติดซ้ำ ส่งเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต
4. ขั้นตอนการติดตามผลและการดูแลหลังการบำบัดรักษา ( Aftercare )เป็นการติดตามดูแลผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดรักษาและคืนสู่ครอบครัว โดยให้การช่วยเหลือประคับประคอง ให้คำแนะนำ เสริมกำลังใจ ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปได้อย่างปกติ โดยไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก (ศตส, 2546; ทรงเกียรติ และคณะ , 2543 ; พจมาลย์ , 2548 ; บุญญวิจักษณ์ , 2545 )
ผลสำเร็จของการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด อยู่ที่การคงระยะหยุดใช้สารเสพติดให้นานที่สุด ซึ่งหัวใจหลักอยู่ที่การติดตามดูแลหลังการรักษา ( Aftercare ) แก่ผู้ที่เข้ารับการบำบัดแล้ว อันอยู่บนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม ที่จะช่วยเหลือประคับประคอง ให้คำแนะนำเสริมกำลังใจทั้งผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยที่รักษาแล้ว สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปได้ปกติ โดยไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีก (สถาบันธัญญารักษ์, ม.ป.ป และ เยาวเรศ , 2546 ) โดยมีเหตุผล คือ
1. เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยตามสภาพปัญหาได้ถูกต้อง
2. เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ป่วยหลังรักษา
3. เพื่อการดูแลร่วมกันกับครอบครัวอย่างต่อเนื่อง
4. เพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ มีผลต่อการดำรงชีพของผู้ป่วยยาเสพติดในสังคมภายนอก
ด้วยวิธีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและครอบครัว เยี่ยมที่ทำงานหรือที่สถานศึกษา การนัดมาพบที่สถานบำบัด การติดต่อทางโทรศัพท์ ไปรษณีย์ หรือผ่านบุคคลอื่นที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ( วิมล และ วิภาวดี , 2547 ) โดยมีกิจกรรมของการดูแล คือ การให้คำปรึกษา การแนะแนวอาชีพ การตรวจปัสสาวะ และการทำกิจกรรมกลุ่มติดตามผล เช่น กลุ่มปัญญาสังคม เป็นต้น ซึ่งผู้ให้การบำบัดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนก่อนจำหน่าย กับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อการติดตามดูแลหลังรักษาอันเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่จะคงไว้ซึ่งการไม่ใช้สารเสพติดของผู้ป่วย โดยการทำความเข้าใจในความสำคัญนี้ร่วมกัน และสานต่อเชื่อมโยงผู้ป่วยแต่ละรายในระยะก่อนออกจากสถานบำบัดและภายหลังออกจากสถานบำบัดแล้ว พร้อมทั้งสนับสนุนครอบครัวหรือผู้ที่มีความสำคัญกับผู้ป่วย ให้สามารถช่วยเหลือให้กำลังใจผู้ป่วย และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนร่วมกันของผู้บำบัดรักษากับผู้ป่วย ครอบครัว หรือโรงเรียน จะช่วยให้ค้นพบความต้องการการดูแลหลังรักษาของผู้ป่วยได้ดี ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลที่ต่อเนื่องเหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วยเอง
ความต้องการดูแลหลังการบำบัดรักษาของผู้ติดยาเสพติด
ภายหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยยาเสพติดแล้ว ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังคงกลับไปเสพยาซ้ำ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ที่มีโอกาสกลับไปเสพยาซ้ำสูงถึงร้อยละ 75 ( ทรงเกียรติ ,2544 อ้างตาม วิมล และ วิภาวดี , 2547 ) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยยาเสพติดหลังบำบัดรักษาแล้วประมาณหนึ่งในสามจะกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำในช่วงสั้น ๆ อีกหนึ่งในสามจะกลับไปใช้ยาเสพติดอย่างเรื้อรัง และหนึ่งในสามจะสามารถเลิกยาเสพติดได้ (Gosski, Kelley and Haven, 1993 อ้างตามสำนักงาน ป.ป.ส, 2546;นิภา,มปป.) ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
1. ปัจจัยส่วนบุคคล (Personal factor) โดยเฉพาะการที่ผู้ป่วยมีอาการทางด้านร่างกายด้วยอาการขาดยา (withdrawal) อาการอยากยา (Graving) การขาดแรงจูงใจในการเลิกยา และการขาดทักษะในการเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการใช้ยา มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ยา ขาดความสามารถในการควบคุมตนเองเป็นต้น
2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental factor) ได้แก่การมีแหล่งยาในชุมชน การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้น คุกคามผู้ป่วย สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด การขาดแหล่งสนับสนุนจากบุคคลใกล้ชิด เช่นครอบครัว เพื่อนที่ดี อันนำไปสู่การเสพยาซ้ำในที่สุด
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า หัวใจหลักของการที่จะทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดหยุดใช้ยาเสพติดได้นานที่สุดคือ การติดตามดูแลหลังรักษา ซึ่งมีความสำคัญ กล่าวคือ ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว บุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้อง และสังคมจะคาดหวังให้เขาเหล่านั้นเลิกใช้ยาเสพติดได้แต่ในความเป็นจริงยังมีผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วหลายรายที่กลับไปติดซ้ำอีก ซึ่งสาเหตุการเสพซ้ำนั้นอาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น ตัวผู้ผ่านการบำบัดรักษายังไม่พร้อมที่จะเลิก สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยยังมีการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาการว่างงาน ปัญหาจากครอบครัว และผู้ผ่านการบำบัดยังไม่มีการปรับเข้าหากันเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (วิมลและ วิภาวดี, 2547) การติดตามดูแลหลังรักษา จึงถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่ง เพราะผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วเมื่อกลับสู่ครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อมจะแตกต่างไปจากสถานบำบัด ผู้ที่ผ่านการบำบัดอาจจะมีการปรับตัวให้เข้ากับครอบครัว สภาพแวดล้อมและสังคม บางครั้งผู้ผ่านการบำบัดอาจเกิดปัญหาหรืออุปสรรค จนไม่สามารถประคับประคองจิตใจให้เข้มแข็งที่จะต่อสู้กับอุปสรรคได้ และอาจหวนกลับไปพึ่งยาเสพติดได้ (วิมลและวิภาวดี, 2547 ; สำนักงานพัฒนาการป้องกันและแก้ไขยาเสพติด, 2542)<br />
ซึ่งในข้อเท็จจริงโดยทั่วไปแล้ว บุคคลต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ๆ มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า โดยหันเป้าหาคนกลุ่มเดิมสังคมเดิม หรือพฤติกรรมที่เคยชินเดิม ๆ ที่เคยกระทำ กลับมาสู่สิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยด้วยความรู้สึกว่าปลอดภัยกว่า ซึ่งสิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว ก็จะมีความกลัวในการเผชิญหน้ากับสังคม ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวกับครอบครัวและบุคคลแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องให้การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้หลังการบำบัดรักษาแล้ว (After care) ซึ่งเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เคยติดยาเสพติดมีภูมิคุ้มกันทางจิต สามารถลดความถี่ความรุ่นแรงของการกลับไปเสพซ้ำ และยังสนับสนุนให้เขาสามารถอยู่กับสังคมได้อย่างปกติอีกด้วย ดังนั้น บทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลคือการติดตามผลและดูแลหลังการรักษา ด้วยการช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดและครอบครัว โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการการดูแลของผู้ป่วย เมื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว การดูแลหลังรักษาจากครอบครัว และบุคลากรทางการบำบัดรักษาเพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัดรักษา สามารถปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัว สังคมและดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ โดยไม่หันกลับไปพึ่งพายาเสพติดอีก
แนวคิดความต้องการการดูแล
ความต้องการ (Need) หมายถึงแรงขับภายในที่บุคคลแสดงออกถึงสิ่งที่ปรารถนา สามารถประเมินได้จากความพึงพอใจที่บุคคลรับรู้ถึงความต้องการของตนเอง ทั้งด้านร่างกาย ความปลอดภัยความรัก ความยอมรับนับถือ และการพัฒนาศักยภาพแห่งตน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันทั้งชนิดและปริมาณ และเปลี่ยนแปลงไปตามการได้รับการตอบสนองจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะระยะที่มีความเจ็บป่วย บุคคลจะมีความต้องการการดูแลและการช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากความต้องการอื่น ๆ ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน (ศรีเรือน, 2536 ; มยุรี, 2548; อุมาลี, 2548)<br />
การดูแล (Caring) หมายถึงการแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตอบุคคล ด้วยพฤติกรรมที่มีความห่วงใย สนใจ เอาใจใส่ ปกป้องรักษา ให้ความสัมผัสที่นุ่มนวล มีท่าทีที่สุภาพอ่อนโยนไม่รังเกียจ รู้สึกรักและมีความปรารถนาดี ซึ่งเกิดจากการมีสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกัน ช่วยให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการของเขาโดยไม่จำกัดด้วยอุปสรรคของสิ่งแวดล้อมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีใด ๆ (Rita Hammer, 2000 ; อุมาลี, 2548 ; สมจิต, 2543)<br />
ความต้องการการดูแลของผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดรักษา จึงเป็นการแสดงออกถึงความปรารถนาของผู้ป่วยที่จะได้รับการเอาใจใส่ ห่วงใย สนใจ ปกป้องรักษา ด้วยความนุ่มนวล สุภาพ ไม่รังเกียจ ตอบสนองความต้องการ การดูแลจากปัญหาภาวะด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการที่เคยติดยาเสพติด ด้วยความรู้สึกที่ดีจากสัมพันธ์ภาพที่ดีต่อกันระหว่างผู้ป่วยและผู้ที่ดูแล(สมจิต, 2540) ซึ่งจะทำให้บุคคลที่ดูแลรับรู้ถึงความต้องการได้ถูกต้องตรงประเด็น ซึ่งทำให้เกิดการตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ตรงตามความต้องการของเขาจริง ๆ อันส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาการป้องกันการเสพยาเสพติดซ้ำ ทำให้เขาดูแลตนเองในระดับที่เพียงพอต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพของเขา และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ล่ำซำ (2544) กล่าวว่า การจัดการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นยิ่ง ซึ่งพบว่าถ้าผู้ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดสามารถค้นหาความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องแล้ว และได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม ผู้ป่วยจะดีขึ้น ดั่งเช่น การศึกษาของปาริชาต (2548)กล่าวว่ากลุ่มตัวอย่างเห็นว่าผู้ที่ติดยาเสพติดต้องการการยอมรับ กำลังใจและความเข้าใจ หากครอบครัวและสังคมมีสิ่งเหล่านี้ให้แก่เขา โอกาสที่ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วไม่กลับไปเสพยาเสพติดอีกสูงถึงร้อยละ 85.4 ซึ่งนั้นบอกให้รู้ว่าผู้ติดยาเสพติดสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ขอเพียงได้รับความรัก ความเข้าใจ ความจริงใจ และการยอมรับจากบุคคลในครอบครัว เพื่อน ญาติพี่น้องและคนในสังคม เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นและตอบสนองความต้องการ การดูแลผู้ติดยาเสพติดได้ถูกต้อง<br />
วิมลและวิภาวดี (2547) ได้ศึกษาสำรวจความต้องการในการดูแลหลังรักษาของผู้ป่วยยาเสพติดสถาบันธัญญารักษ์ กับผู้ป่วยในทั้งระยะถอนพิษยา และระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ จำนวน 319 คน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 71.8 มีความเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีการติดตามดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหลังจากรักษาแล้ว เพื่อให้กลับไปเลิกยาเสพติดได้เมื่อกลับไปอยู่ที่บ้าน เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่หันไปติดยาเสพติดอีก เจ้าหน้าที่ก็เกิดความแน่ใจ รู้การเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างให้ได้ ผู้ป่วยเองได้มีแหล่งในการปรึกษาขอความช่วยเหลือ ผู้ป่วยเกิดกำลังใจ การประเมินผลการบำบัดรักษาจะมีความถูกต้องนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุงหรือพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาที่ดีต่อไป
ส่วนความเห็นว่าต้องการให้ใคร่เป็นผู้ดูแลหลังการบำบัดรักษา เพื่อไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติดอีกพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 78.4 ให้ความเห็นว่าต้องการให้ญาติหรือคนในครอบครัวเป็นผู้ดูแล เพราะครอบครัวเป็นเวทีเรียนรู้เกี่ยวกับความรัก ความมีคุณค่าในตน ความนับถือ และความมีคุณค่าในตนเอง
รวมทั้งความหวังในชีวิต พลังที่ก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค และเป็นปราการด่านแรกที่จะไม่ให้ลูกหลานหันไปเสพยาเสพติด โดยมีความต้องการให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติต่อเขาคือ (เรียงลำดับความต้องการจำนวนมากไปหาน้อย)ดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ให้ความเข้าใจ กำลังใจ ความอบอุ่นใจ คำปรึกษา ความรัก ให้อภัย เลิกพูดถึงเรื่องที่ผิดพลาดในอดีต ให้ความไว้วางใจ ไม่ดุดาด้วยอารมณ์ ให้โอกาส คอยตักเตือน ไม่บังคับจนเกินไป รับฟังเหตุผล เป็นห่วงเป็นใย ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ครอบครัวมีความอบอุ่น ให้ความสนิทสนม เลิกบ่น ไม่มองว่าเป็นคนติดยา คอยช่วยเหลือ ไม่ตามใจมากเกินไป และอย่าเอาตำรวจมาจับผมรู้ลึกเจ็บ (ทรงเกียรติ,2540;วิมลและวิภาวดี, 2547;ดรุณีและคณะ,2548) ซึ่งสอดคลองกับการศึกษาของพิไลรัตน์ (2545) เกี่ยวกับความต้องการการช่วยเหลือจากสังคมของผู้ต้องขังสตรีคดียาเสพติดคือ บุคคลดังกล่าว ต้องการการให้โอกาสจากสังคม ไม่ตีตราว่าเป็นขี้คุก ขอให้สังคมเข้าใจปัญหาของผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส อยากให้สังคมอ้าแขนรับอย่างอบอุ่น มีทุนสนับสนุนและจัดหางานให้ สภาพของผู้เสพยาหลังจากหยุดเสพ จะมีความต้องการความรักความเข้าใจ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้สึกต่อกัน แสดงความรักความผูกพันที่มีต่อครอบครัว ร่วมทั้งบอกความต้องการของตนเองต่อครอบครัวมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ เพราะสมาชิกครอบครัวและคนสำคัญอื่น ๆ ได้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ เป็นเสมือนเพื่อนใจที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ด้วยการยอมรับ สนับสนุนให้กำลังใจ และให้โอกาสอันเป็นการตอบสนองความต้องการการดูแลที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงยาเสพติดได้ (ดรุณีและคณะ, 2548; ฉลวย, 2547;เพชราภรณ์,2547;ทิพาวดี, 2545)
จากการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านบุคคลที่เขาต้องการให้ดูแลเขาคือบุคคลในครอบครัว และต้องการการดูแลโดยให้ปฏิบัติต่อเขาให้ดีกว่าเดิมทั้งการกระทำ คำพูด และสายใยของความผูกพันในครอบครัว จึงทำให้ค้นพบว่าแนวทางที่จะดูแลจากความต้องการของผู้ป่วย(วิมลและวิภาวดี, 2547) คือ
1. การสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว
สัมพันธภาพช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสามารถที่จะรักษาและดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดี ซึ่งเป็นสื่อสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และรวมถึงการรักษาสัมพันธ์ภาพที่ดีของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการเสริมสร้างทักษะ และกำลังใจ ตลอดจนความเข้มแข็งให้กับผู้ป่วยและครอบครัว โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
1.1 การสื่อสารที่ดีต่อกัน
1.2 การแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน
1.3 การยอมรับและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
1.4 การให้กำลังใจและความเข้าใจต่อกัน
สัมพันธภาพที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครอบครัวมีความเข้าใจ สนิทสนมผูกพัน รักใคร่ ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ความต้องการ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของตนเองให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี มีกำลังใจ แต่หากสัมพันธภาพที่ไม่ดีจะทำให้คนที่เรามีสัมพันธภาพด้วยรู้สึกไม่ดี ท้อแท้ ไม่มีคุณค่า หรือมีชีวิตที่ปราศจากความหมายและเกิดสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน
- การเป็นที่ปรึกษาที่ดี
การเป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นบทบาทหนึ่งของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่จะต้องให้การ
ช่วยเหลือแก่บุตรหลานที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว เพื่อให้สามารถแก้ไขหรือคลี่คลายจากปัญหา ความวิตกกังวล หรือข้อคับข้องใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผลของการแก้ไขหรือช่วยคลี่คลายปัญหา โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครอง จะช่วยลดภาวะอารมณ์อันไม่สุนทรีย์ที่เสี่ยงต่อการที่จะหันกลับไปใช้ยาเสพติด และช่วยประคับประคองให้เขาสามารถเลิกยาเสพติดอย่างถาวรตลอดไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งทักษะที่จะต้องฝึกฝนเพื่อการเป็นที่ปรึกษาที่ดีสำหรับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ได้แก่
2.1 การเป็นผู้ฟังที่ดี 2.2 การสรุปประเด็นสำคัญ 2.3 การให้คำปรึกษาแนะนำ 2.4 การประเมินผล - การสร้างความอบอุ่นในครอบครัว
ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกครอบครัว เพราะครอบครัวที่มี
ความอบอุ่นนั้นจะทำให้คนในครอบครัวมีความสุข มีกำลังกาย กำลังใจ ที่จะต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ และพร้อมที่จะดำเนินชีวิตไปในทางที่ดี ลักษณะของครอบครัวที่อบอุ่น จะเป็นครอบครัวที่มีบรรยากาศที่ดีมีความรักใคร่ปรองดอง เอื้ออาทรเอาใจใส่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เมื่อมีอุปสรรคไม่ทอดทิ้ง ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งประกอบด้วย
3.1 ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากันในครอบครัว
3.2 คนในครอบครัวต้องมีเวลาให้กันและกัน
3.3 การมีความรักต่อกันภายในครอบครัว
3.4 มีการสื่อสารทางบวกในครอบครัว
3.5 มีการให้อภัยกันและกัน
3.6 มีการปรับตัวตามภาวะการเปลี่ยนแปลง
3.7 มีการแบ่งปันภาระหน้าที่ในครอบครัว และช่วยเหลือกัน
3.8 มีความใกล้ชิดทางสัมผัส
3.9 มีกิจกรรมที่ส่งเสริมความผูกพันในครอบครัว
3.10 มีกิจกรรมนันทนาการในครอบครัว
ทั้งนี้เพราะความรักและความมุ่งมั่นของครอบครัวในการร่วมแก้ไขปัญหา จะเป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยให้ผู้ป่วยยาเสพติดผ่านพ้นวิกฤตยาเสพติดได้ดีที่สุด
จากแนวทางการดูแลดังกล่าวบุคคลในครอบครัวถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่ง ผู้ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องมีความรู้ในสิ่งเหล่านี้ เพราะจะนำไปสู่การให้ข้อมูล และการให้ความรู้หรือการทำกิจกรรมกับครอบครัว ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการการดูแลของผู้ป่วยภายหลังจากรักษาได้ สำหรับมาตรการสำคัญในระดับประเทศ จะสอดคล้องกับการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดหลังบำบัดรักษาที่ได้กล่าวมาแล้ว คือคำสั่งของศูนย์อำนวยการต่อสู่เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติที่ 75/2546 เรื่องแนวทางการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนา ที่จะมุ่งผลสัมฤทธิ์ต่อการช่วยเหลือดูแล พัฒนาผู้ที่เลิกยาเสพติดให้สามารถใช้ชีวิตปกติสุข ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูให้มีความรู้ทักษะความสามารถในวิชาชีพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งเสริมให้มีโอกาสประกอบอาชีพได้เท่าเทียมบุคคลทั่วไป เพื่อให้ผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนา สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขในสังคม พึ่งตนเองได้และได้รับการยอมรับ มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบสัมมาอาชีพ ไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ ดังนั้น ผู้ติดตามช่วยเหลือ หรือตอบสนองความต้องการ
การดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนา จึงเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดอย่างยั่งยืน ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ จึงเห็นควรกำหนดแนวทางการติดตามดูแลผู้ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนา คือ 1. ให้ ศตส. กทม/ศตส.จ บริหารจัดการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนาโดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในพื้นที่ 2. ให้ ศตส. ในพื้นที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยผู้อำนวยการเขต/นายอำเภอ และหัวหน้า ศูนย์บริการสาธารณสุข/สาธารณสุขอำเภอเป็นเจ้าภาพ ด้วยการนำทุนทางสังคม ครอบครัว ชุมชนและทรัพยากรในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ที่ผ่านการบำบัด ฟื้นฟูและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี 2.1 การติดตามดูแลเพื่อช่วยด้านสุขภาพและการใช้ชีวิตในสังคมให้ประสานความ ร่วมมือระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย ประชาคมองค์กรชุมชนเข้มแข็ง องค์กรอาสาสมัคร และประสานพลังแผ่นดินในพื้นที่ และให้รายงานผลการดำเนินงานโดยใช้แบบ บสต.5 (ปกปิด) ไปยัง ศตส.ในพื้นที่ 2.2 การติดตามดูแลเพื่อช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพ และมีงานทำให้ ศตส. ทุก ระดับ จัดกิจกรรมการฝึกอาชีพ และส่งเสริมการมีงานทำเข้าในแผนป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ โดยรายงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนในการฝึกอาชีพ และส่งเสริมการมีงานทำ ทั้งงานภาคการเกษตรอุตสาหกรรม อาชีพอิสระ งานอาชีพตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ให้กับผู้เสพผู้ติดที่ผ่านกระบวนการบำบัด ฟื้นฟูและพ
Relate topics
- รู้ทันมะเร็ง : เนื้อสัตว์แปรรูปก่อมะเร็ง
- จิตแพทย์ ชี้ เด็กกลัวข้าว เกิดจาก "โฟเบีย" แนะสร้างแรงจูงใจให้ชอบ
- นโยบายด้านคุณธรรมจริยธรรม
- ขั้นตอนการจัดการข้อร้องเรียน
- สารน่ารู้เกี่ยวกับงาน IC
- แนวคิดวัฒนธรรมองค์กร
- ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด และแบบทดสอบ 20 ข้อ พร้อมเฉลย
- ครอบครัวกับการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษายาเสพติด
- บทคัดย่อวิจัย 6 เรื่อง ศูนย์ฯสงขลา
- ความรู้ - วิชาการเกี่ยวกับยาเสพติด (คุณสยาม มุสิกไชย)