ครอบครัวกับการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา

by ทัย @22-1-53 14.18 ( IP : 202...18 )

ครอบครัวกับการดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา

สยาม มุสิกะไชย

การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด เมื่อผู้ป่วยผ่านการบำบัดรักษาแล้ว ครอบครัวคือบุคคลสำคัญที่ต้องดูแลผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยกลับไปอาศัยอยู่กับครอบครัว การเรียนรู้และปรับตัวของครอบครัวต่อผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งเพราะจะเป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวสามารถรับรู้ได้ถึงความต้องการด้านจิตใจของผู้ป่วยอันจะทำให้การดูแลสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดการเสพซ้ำของผู้ป่วยยาเสพติดได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจะพบว่า

  1. ด้านความต้องการ การยกย่องและยอมรับของผู้ป่วยยาเสพติด พบว่า ผู้ป่วยต้องการให้ครอบครัวพูดดี ๆ ไม่เสียดสีดุด่า ต้องการให้ครอบครัวเลิกพูดถึงอดีตที่ผิดพลาด และผู้ป่วยมีความต้องการให้ครอบครัวยกโทษให้กับเรื่องที่ผ่านมา เนื่องจากครอบครัวมีความเข้าใจในความรู้สึกและลักษณะของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีจิตใจอ่อนแอ มักพึ่งพาผู้อื่นต้องการให้ผู้อื่นดูแลเอาใจใส่ ยกย่องยอมรับ ซึ่งครอบครัวรู้ว่า คำพูดและการปฏิบัติลักษณะใดที่ผู้ป่วยต้องการและสิ่งใดผู้ป่วยไม่ต้องการ สิ่งที่ผู้ป่วยไม่ต้องการอาจเป็นการทำลายจิตใจ อาจเป็นปัจจัยพลักดันให้ผู้ป่วยเข้าสู่วงจรของยาเสพติดได้อีก หากบุคคลรอบข้างไม่ไว้วางใจและไม่สนับสนุน แสดงความรังเกียจและไม่ยอมรับของคนรอบข้าง โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวทำให้ผู้ป่วยยาเสพติดรู้สึกน้อยใจและมีโอกาสกลับไปเสพซ้ำ ในทางกลับการการพูดหรือการปฏิบัติที่เหมาะสมของครอบครัวต่อผู้ป่วย จะเป็นปัจจัยป้องกันยาเสพติดได้

  2. ด้านความต้องการด้านการเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ของผู้ป่วยยาเสพติด พบว่า ผู้ป่วยต้องการเป็นคนดีของครอบครัว ต้องการทำให้ครอบครัวมีความสุข และผู้ป่วยต้องการดำเนินชีวิตปกติสุขเช่นคนทั่วไป ทั้งนี้อาจเนื่องจากการที่ผู้ป่วยกลับมาอยู่กับครอบครัว ผู้ป่วยต้องการปรับตัวเข้ากับครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ทำให้ครอบครัวได้เห็นความพยายามในการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถด้วยการประกอบกิจกรรมต่างๆที่ดี ช่วยเหลือครอบครัวและสังคม ครอบครัวในฐานะผู้ที่มีความสำคัญอยู่ใกล้ชิด ให้การดูแล จึงเห็นการปรับตัวของผู้ป่วยได้ชัดเจน ผู้ป่วยพยายามทำความดีต่อพ่อแม่ญาติพี่น้อง เพื่อที่จะให้ครอบครัวได้รับรู้เป็นความต้องการมีคุณค่าของผู้ป่วย และการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยในลักษณะนี้ ทำได้โดยให้ครอบครัวได้รับรองการมีคุณค่าของความพยายามปรับตัว การทำความดี ด้วยการแสดงออกให้ผู้ป่วยทราบ ผู้ป่วยหลังการหยุดยาในระยะปรับตัว ครอบครัวสามารถรับรู้ความต้องการดังกล่าวจากพฤติกรรมการปรับตัวของผู้ป่วยที่รู้จักสร้างสัมพันธ์ภาพกับผู้อื่น มีความสนใจสิ่งใหม่ ๆ และมีการดำเนินชีวิตที่สมดุล

  3. ด้านความต้องการความรักและเป็นเจ้าของ ของผู้ป่วยยาเสพติด พบว่าผู้ป่วยต้องการกำลังใจจากครอบครัว ต้องการให้ครอบครัวแสดงความรัก ความห่วงใย และผู้ป่วยต้องการให้ครอบครัวแสดงความเอาใจใส่ เนื่องจากครอบครัวมีความสัมพันธ์รักใคร่ช่วยเหลือกันดี และมีบทบาทเป็นมารดา สามี/ภรรยา และเป็นบิดา ซึ่งจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยกล้าที่จะบอกหรือแสดงพฤติกรรมเกี่ยวกับความต้องการดังกล่าวให้ครอบครัวรับรู้ได้ดี บุคคลที่ผู้ป่วยต้องการให้ดูแลหลังการบำบัดรักษาคือครอบครัวหรือญาติ ซึ่งผู้ป่วยต้องพึ่งพาอาศัยและใช้ชีวิตร่วมกัน โดยผู้ป่วยยาเสพติดจะมีการสื่อสารหรือปรึกษาหารือกับมารดา บิดาและคนใกล้ชิด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ครอบครัวสามารถรับรู้ความต้องการของผู้ป่วยได้มาก

  4. ด้านความต้องการความปลอดภัยของผู้ป่วยยาเสพติดพบว่า ผู้ป่วยต้องการโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ปลอดยาเสพติด ต้องการให้ครอบครัวอยู่ด้วยความปรองดองไม่ทะเลาะกัน เนื่องจากภายหลังการบำบัดรักษา ครอบครัวได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตใหม่ที่แตกต่างจากก่อนการบำบัดรักษา พยายามละเว้นยาเสพติด พยายามหางานทำ ที่แสดงให้เห็นว่า ตนนั้นกลับมามีค่าอีกครั้งหนึ่ง และการที่ครอบครัวมีความสนใจห่วงใยในความไม่ปลอดภัยจากยาเสพติด ให้การดูแลใกล้ชิด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเลิกยาเสพติดได้เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี มีความรัก ความอบอุ่น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ประสบความสำเร็จหลังการบำบัดรักษา ไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวแตกแยก ไม่ปรองดองและมีความตึงเครียด

สิ่งเหล่านี้ทำให้ครอบครัวรับรู้ความต้องการด้านจิตใจของผู้ป่วยยาเสพติดได้ดี หากครอบครัวให้ความสำคัญและสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้เหมาะสม เรียนรู้การดำเนินชีวิตร่วมกับผู้ป่วยยาเสพติดที่ดี จะช่วยป้องกันการเสพยาเสพติดซ้ำและจะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความสำเร็จของการเลิกยาเสพติดทั้งผู้ป่วยและครอบครัว

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล