โรคเอดส์ปัญหาสำคัญระดับโลก

by kadocom @1-12-57 10.11 ( IP : 1...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 500x333 pixel , 33,847 bytes.

การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกจากรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2555 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 35 ล้านคน ในประเทศไทยตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศเมื่อปี 2527 มีรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 6 แสนคน แต่ในความเป็นจริงคาดว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 1 ล้านคน และเสียชีวิตแล้ว 3 หมื่นราย


          รศ.พญ. ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เหมือนกับหนองในและซิฟิลิส การรับเชื้อเอชไอวีมาจากทางอื่นได้คือ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด รวมถึงการสักและจากมารดาสู่ทารก โดยเฉพาะในกรณีที่มารดาติดเชื้อเอชไอวีที่ไม่รับการรักษา หลังจากได้รับเชื้อในช่วงแรกแล้วผู้ติดเชื้ออาจจะไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้


          ผู้ติดเชื้อครึ่งหนึ่งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดเช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอและต่อมน้ำเหลืองโต หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเองแม้ไม่ได้รับการรักษาและจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการแบ่งตัวตลอดเวลาและทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยการทำลายเม็ดเลือดขาวชนิดซีดีสี่ ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดต่ำลงไปเรื่อย ๆ


          หลังจากนั้นผู้ติดเชื้อก็จะเข้าสู่ระยะมีอาการเช่น น้ำหนักลด มีฝ้าขาวในปาก ท้องเสียเรื้อรังหรือมีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา และระยะสุดท้ายคือ ระยะเอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่เม็ดเลือดขาวซีดีสี่ต่ำน้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. และหรือมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อนเช่น วัณโรคหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา เป็นต้น


          ซึ่ง 2 ระยะหลังนี้มักเป็นระยะที่ทำให้มาพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อเอชไอวี โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเข้าสู่ระยะเอดส์หรือเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาอยู่ที่ประมาณ 7-10 ปี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังได้รับการวินิจฉัยช้าเนื่องจากไม่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีและไม่ตรวจเลือดเพื่อหาการติดเชื้อเอชไอวีตั้งแต่เนิ่นๆ


          การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวีสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดตรวจว่าร่างกายมีภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ซึ่งวิธีการตรวจเลือดในปัจจุบัน สามารถตรวจพบได้หลังการติดเชื้อประมาณ 10 วันเนื่องจากร่างกายใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากที่มีการติดเชื้อแล้ว ในกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อเฉียบพลันหรือต้องการที่จะวินิจฉัยเร็วภายในสัปดาห์แรก ต้องอาศัยวิธีการตรวจพิเศษ


          หัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี โดยใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดรวมกันเป็นสูตรยาที่เหมาะสมและถูกต้อง จะนำไปสู่การรักษาที่ควบคุมได้คือ ไม่สามารถตรวจพบไวรัสในเลือด ทำให้มีภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดีสี่สูงขึ้น มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสลดลง อัตราการเสียชีวิตลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยังไม่มียาต้านเอชไอวีชนิดใดที่สามารถรักษาให้หายขาด


          ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงต้องรับประทานยาทุกวันตลอดชีวิต ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ ที่รับประทานง่าย มีผลข้างเคียงน้อย หรือเป็นแบบรวมเม็ดที่รับประทานวันละ 1 เม็ด และมีราคาถูกลงกว่าเดิมมาก รวมไปถึงมีการวิจัยยาแบบฉีดและยาที่ออกฤทธิ์ในนานทำให้อาจจะฉีดทุก 1-3 เดือน


          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยที่จะพยายามทำให้รักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 หลักการที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้คือ การรักษาเร็วตั้งแต่มีการติดเชื้อใหม่ๆ เช่น ภายในสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ แต่ปัญหาคือ ผู้ ติดเชื้อส่วนใหญ่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเมื่อมีอาการหรือติดเชื้อมานานแล้ว และอีกหลักการหนึ่งคือ การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งทั้ง 2 หลักการนี้ยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป การรักษาวิธีอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษารองรับว่าสามารถรักษาได้เช่น วัคซีน สมุนไพรบางชนิด และการฟอกเลือด


          นอกจากการักษาด้วยยาต้านเอชไอวีแล้ว ในผู้ที่มีจำนวนซีดีสี่ต่ำน้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม. จะได้รับยาเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสบางชนิดร่วมด้วย โดยสรุป การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์สามารถป้องกันได้โดยการเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง และการป้องกันโดยวิธีต่างๆ ที่ขึ้นกับพฤติกรรมเสี่ยงนั้น ในปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ รวมไปถึงการวิจัยที่จะทำให้การรักษาเป็นแบบหายขาด


          อย่างไรก็ตามผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักได้รับการวินิจฉัยช้า ไม่ได้มีการตรวจเลือดคัดกรองโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ได้รับการรักษาช้า ซึ่งอาจจะทำให้มีผลการรักษาไม่ได้หรือเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนตามมา


.

        ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/Content/26607-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81.html

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล