โรคยุคใหม่ ภัยไอที

by kadocom @14-10-56 09.31 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x237 pixel , 64,073 bytes.

แม้ว่าสมัยนี้เทคโนโลยีดูจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันจนบางอย่างกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ผลกระทบจากความสะดวกสบายได้ กลายเป็นภัยที่ "แฝงอันตรายต่อสุขภาพ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ฯลฯ นั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ เมื่อเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สะดวกสบายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีก็ทำให้มนุษย์ขาดปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบข้างเนื่องจากการเล่นเกม เล่นเน็ต จนลืมมองคนข้างๆ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ขาดการออกกำลังกายเมื่อต้องใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ เป็นเวลานานๆ เป็นต้น

เมื่อเร็วๆ นี้ จากรายงานของกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อผู้บริโภค "Which?" ได้ทำการทดสอบสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจำนวน 30 เครื่อง เพื่อหาแบคทีเรีย และพบว่า มีเชื้อโรคหลายพันชนิดที่อาศัยอยู่บนหน้าจอทัชสกรีนซึ่งมากกว่าแบคทีเรียที่พบอยู่บนที่นั่งของโถชักโครกถึง 20 เท่า ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะผู้เล่นไม่ได้ล้างมือก่อนและหลังการใช้งาน

รายงานยังระบุว่า จากการทดสอบหาแบคทีเรีย สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิด สารพิษและทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องร่วง พบว่า มีเป็นจำนวนมากบนหน้าจอแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ขณะที่การทดสอบหาแบคทีเรียชนิดเดียวกันที่โถชักโครก กลับพบไม่ถึง 20 ยูนิต

ค่ายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิล ได้เคยเรียกร้องไม่ให้ผู้ใช้ใช้สารเคมีในการทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอกเช็ดหน้าจอทัชสกรีน เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เสียหาย แต่การพบเชื้อโรคจำนวนมากนี้ ได้สะท้อนความจริงที่ว่า ผู้ใช้หน้าจอทัชสกรีน ไม่เคยล้างมืออย่างเหมาะสม ขณะที่มีเพียงไม่กี่คนที่หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์และคีย์บอร์ด

จากเรื่องเชื้อโรคสะสม มาดูที่งานวิจัยในวารสาร นูโรไซเอินซ์ ที่ออกมาระบุว่า การได้รับคลื่นแสงสีฟ้าซึ่งเป็นช่วงแสงที่มาจากจอแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน อาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้า เป็นอีกการค้นพบหนึ่งที่ตอกย้ำกับคนยุคดิจิตอลว่า ไม่ควรเอาอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้เข้านอนด้วย เพราะส่งผลร้ายต่อสุขภาพ เช่น โรคอ้วน

เนื่องจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบว่า การพักผ่อนไม่พอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองซึ่งนำไปสู่ความหิว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่า หากต้องการควบคุมน้ำหนัก ร่างกายจำเป็นต้องได้นอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อให้กลไกสมองสามารถเลือกหาอาหารได้ถูกต้องเหมาะสม

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาขยายต่อ แต่ถ้าถือเป็นโรคภัยจริงๆ ในวงการแพทย์จะเรียกว่า เทคโนโลยีซินโดรม (Technology Syndrome) ซึ่งมาจากการใช้เทคโนโลยีที่มากจนเกินไป เช่น การเล่นเกม การใช้ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เพื่อเล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน มีคนที่เป็นโรคนี้กันมากขึ้น แต่บางคนไม่รู้ตัว

คณะเวชศาสตร์ฟื้นฟู ของ มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคและสมาคมนักกายภาพบำบัดฮ่องกง ได้ร่วมกันศึกษาผลการใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาต่างๆ ที่มีต่อสุขภาพของชาวฮ่องกง โดยพบว่า มีคนที่เป็นผู้ใหญ่ถึงร้อยละ 70 และเด็กกับวัยรุ่นอีกร้อยละ 30 บ่นว่ามีอาการไม่สบายเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและโครงกระดูก ตามส่วนต่างๆ ของเนื้อตัวขึ้น อาการส่วนใหญ่ ได้แก่ จำนวนร้อยละ 70 บอกปวดคอ ร้อยละ 65 ร้องว่าปวดแถวไหล่ และร้อยละ 46 กล่าวว่าปวดตามข้อมือและนิ้วมือ

นับเป็นผลร้ายจาก เทคโนโลยีซินโดรม ซึ่งที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินสารพัดโรคจากการใช้เครื่องมือที่สะดวกสบายเหล่านี้ เช่น โรค RSI (Repetitive Strain Injury) ที่แสดงอาการตึงหรือเกิดความไม่สบายข้อต่างๆ ได้แก่ เจ็บปวดบริเวณข้อมือ นิ้วมือ บริเวณมือ แขน หรือข้อศอก ตลอดจนมีอาการมือชาหรืออ่อนแรง มือไม่สามารถทำงานประสานกัน อาการเหล่านี้เกิดจากการที่เราใช้งานข้อมือนานๆ ซ้ำๆ และเป็นประจำ และตาล้าจากสายตาสั้นชั่วคราว จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน มีปัญหาตาล้า เป็นผลมาจากภาวะสายตาสั้นชั่วคราว เกิดปัญหาระบบ กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ฯลฯ

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายเทคโนโลยีซินโดรม หรือยัง?

เราสามารถสังเกตได้จาก 3 เรื่องหลักๆ 1) มีปัญหาโรคที่เกี่ยวกับตา ตามัว ตาเจ็บ ตาแดง ตาล้า ฯลฯ 2) มีโรคทางกล้ามเนื้อกระดูก ที่เกิดจากการนั่งท่าที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ปวดคอ ปวดบ่า ปวดข้อมือ ปวดนิ้วมือ และปวดหลัง เป็นต้น และ 3) โรคทางจิตใจ มีปัญหาติดเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสม ควบคุมตัวเองและอารมณ์ไม่ได้

สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอาการเทคโนโลยีซินโดรม สามารถทำได้ด้วยการใช้เวลาทำงานหรือเล่นเกม สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์เพียง 25-30 นาที ในแต่ละช่วง และให้พักสายตาประมาณ 1-5 นาที เพื่อเป็นการพักผ่อนสายตา และนอนหลับพักผ่อนไม่น้อยกว่าวันละ 7 ชั่วโมง นอกจากนี้ การประคบเย็นด้วยผ้าแช่เย็น โดยวางผ้าทาบตั้งแต่ขมับซ้ายมาขมับขวา ทาบทับหน้าผากตาและจมูกวางจนกว่าผ้าจะหมดความเย็นและต้องทำติดต่อกันประมาณ 20 นาที วันละ 2 ครั้ง ก็สามารถบรรเทาอาการได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล