จิตวิตก..ซึมๆ เศร้าๆ “CBT เราจะไปด้วยกัน”

by kadocom @12-9-56 09.59 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x265 pixel , 78,964 bytes.

“เวลาคนเราคิดว่าเป็นบ้า...เป็นประสาทคนทั่วไปอาจแยกกันไม่ออก ไม่เหมือนกับคนที่วิตกกังวล และกับคนที่เซ็งๆ...เศร้าๆ ซึ่งอาการ เซ็งกับเศร้า กับวิตก...ก็ต่างกันนะ”


นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ M.D., MRCPsych, Child & Adolescent Mental Health Service, Colchester, United Kingdom บอกว่า ฉะนั้นในปัญหาทางจิตเวช เวลาเราไปหาจิตแพทย์เมื่อไหร่เราจะไป ก็คือเวลาที่กังวล ห่วงวิตกเรื่องโน้น เรื่องนี้ ซึ่งก็มีในมนุษย์เส้นแบ่งที่ว่าเมื่อไหร่...อันนี้ไม่มีใครตอบได้ 100% ไม่มีใครมาชี้ให้เราหรอก จุดที่ชี้ก็คือว่า เอ๊ะ...เมื่อคนรอบๆข้างเรา หรือตัวเราเองเห็นว่าเราทำงานไม่ได้ และเมื่อเราไม่เป็นสุข


“เหมือนเวลาปวดฟันก็ต้องไปพบหมอฟัน...อีกอันหนึ่งก็คือปวดฟันจนกินอะไรไม่ได้แล้ว หมายถึงว่า ฟันทำหน้าที่อะไรไม่ได้...สภาวะทางจิตก็เหมือนกัน เพราะมันทุกข์มาก และ...หรือ อันใดก็ได้ และ...หรือเราทำงานไม่ได้แล้ว เราทำหน้าที่เราไม่ได้ อันนั้นคือธงบอกว่า คุณต้องการการบำบัด”


ทุกข์ขนาดไหน...ถึงจะต้องไปบำบัด โดยเฉพาะการบำบัดด้วยวิธี...“CBT (Cognitive Behavior Therapy)” แปลเป็นไทยว่า “การบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม”


คุณหมอธีระเกียรติ บอกว่า ทุกคนมีความเชื่อมีทฤษฎีอยู่ในหัว เมื่อเดินมาหาจิตแพทย์ จิตแพทย์ก็ไม่รู้หรอกว่าคุณเชื่ออะไรแล้ววิธีไหนจะได้ผล แล้วถ้าคนไข้เดินเข้ามาร้อยคน...จิตแพทย์ไม่ต้องไปนั่งหาความเชื่อของทุกคนหรือว่าความเชื่อแบบไหนคุณถึงพ้นทุกข์ ไม่ต่างกันเหมือนเดินเข้าไปหาหมอ เราปวดฟัน...โรคเดียวแต่หมอฟันใช้วิธีร้อยแปดในการแก้ปัญหาอาการปวดฟัน ถามว่า คุณยังอยากไปหาหมอฟันคนนั้นไหม


จิตแพทย์ไม่ใช่แค่คนที่พูดแล้วทำให้คนฟังสบายใจ “CBT”...จึงเป็นวิธีการมาตรฐานใช้ได้กับทุกคน โดยเฉพาะดูแลบำบัดทางด้านวิตกกังวล ซึมเศร้า กระนั้นปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือมาตรฐานที่ว่าในวงการแพทย์ดันกลายเป็นอีกความเชื่อหนึ่ง


ทีนี้...วิธีการเดียวที่จะเป็นมาตรฐานมีว่า “เราเชื่ออะไรไม่สำคัญ สุดท้ายว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดว่าสิ่งที่เราเชื่อได้รับการทดสอบแล้วว่าได้ผล”


“มนุษย์เรานักทฤษฎีทุกคน ถ้าเขาใช้ส่วนตัวก็โอเค แต่ถ้าเขาเป็นหมอแล้วไปเที่ยวบำบัดคนอื่นก็ต้องทดสอบ ต้องมีการวิจัยว่าสิ่งที่เชื่อได้ผลในคน ส่วนใหญ่จริงหรือเปล่า ได้ผลมากกว่าความบังเอิญหรือเปล่า


บางทีเดินเข้ามาหาจิตแพทย์แล้วก็ซี้ซั้วพูดอะไรไปแล้วคุณก็หายโอ้โห... อาจารย์ก็ดังเลย เจอหมอสวยหน่อย...เห็นหมอสวยๆ ก็หายแล้วอะไรอย่างนี้ อย่างนั้นไม่ได้รับการทดสอบ”


การบำบัดวิธี “CBT” คือกระบวนการที่เราไม่ได้อิงทฤษฎีอะไรมากเลย เราแค่จะพูดกับผู้ที่มาบำบัด ช่วยกันตรวจสอบว่าคุณคิดอย่างนี้...


มันถึงได้ผลอย่างนี้ใช่ไหม แล้วถ้าเขาไปทดลองดู เขาเปลี่ยนวิธีคิดของเขาใหม่ แล้วเขากลับมารายงานกับหมอหรือผู้บำบัด เออจริงด้วย...ก็แค่นั้น


“กระบวนการนี้ถ้าเกิดขึ้นในห้องยิ่งดีเลยในช่วงบำบัด แล้วหมอชี้ให้เห็นว่าคุณคิดไม่ผิดทางนี่หน่า อย่างผู้หญิงคนหนึ่งเซ็งมากสามีโทรศัพท์มาบอกว่า วันนี้ไม่กลับมาบ้านกินข้าว คุณว่าเกิดจากอะไร...ถ้าไปหากลุ่มคนที่มีความเชื่ออื่นก็อาจมีหลายคำตอบหลายทฤษฎีแต่


ถ้ามาหาจิตแพทย์ จะต้องมีวิธีการที่ได้มาตรฐาน ทดสอบได้ หมายถึงทดสอบระดับกลุ่มด้วยนะว่า คนกลุ่มใหญ่ที่มาหาให้วิธีนี้ดีกว่าคนกลุ่มที่ไม่ได้มา หมายความว่าทั้งระดับกลุ่ม ระดับบุคคลจิตแพทย์จะใช้หลักการเดียวกัน”


คราวนี้เวลาที่คุยกันไปคุยกันมา หมออาจจะเอ๊ะ...ทำไมคุณไม่ได้มองอันนี้ เอ๊ะ...หมองงว่าทำไม เอ๊ะ...คุณคิดอะไรอยู่ก่อนที่จะเซ็ง ปรากฏว่าถามไปถามมา...ผู้หญิงคนนี้มีความคิดแวบออกมา


“อย่าลืมว่าความคิดที่นำพาไปสู่ความทุกข์มันอาจจะเร็วมากเลยนะหรือ...มันซ่อนอยู่ลึกมาก ซึ่งเขาอาจมองไม่เห็นตัวเอง หลอกตัวเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจหลอก แต่เขามองไม่เห็น ซึ่งคนอื่นเห็น ไม่ต่างกับที่ว่า...ผมเห็นจมูก ตาคุณแต่คุณมองไม่เห็น...ข้อมูลปัญหาจะปรากฏที่จิตแพทย์”


“CBT” เป็นวิธีการบำบัดลักษณะ “เราไปด้วยกัน” มีหลักอันเดียว ก็คือ เราสำรวจว่ามีความคิดส่วนลึกที่มองไม่เห็นหรือว่าที่คุณไม่ได้มองอันนี้มาก่อน แล้วพอชี้ให้เขาเห็นด้วยกัน อ้อ...คนไข้ก็สบาย


“แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเวิร์กจริงหรือเปล่า กลับไปบ้านหมอจะมีการบ้านไปทดลองด้วยนะครับ อย่างเช่น กลัวหมา เป็นคนกลัวมาก...กลัวแมงมุมฝรั่งกลัวมาก กลัวที่สูง ถ้ามาหาเรา ก็มีวิธีการที่เป็นมาตรฐานว่าคุณต้องทำอย่างนี้ถึงจะดีนะครับ แต่ว่าถ้าวิธีการที่ชาวบ้านเขาก็อาจจะแนะนำอะไรก็ได้สุ่มสี่สุ่มห้าไป บางเรื่องก็ตรงกับวิธีการมาตรฐาน อย่างไปเจอของกลัวให้เข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆก็จะหาย แต่แบบนี้หมอเอามาผูกอ้างไม่ได้”


“จิตแพทย์อ้างไม่ได้ว่าผมรู้จิตใจมากกว่าคุณเอง โทษทีนะ...ใจมึง ใจกูมันก็ใจเดียวกัน แต่กูไม่รู้ใจมึงเท่าไหร่หรอก เห็นไหม เรามาด้วยการเอาสองใจมานั่งดูด้วยกันว่าทำไมคุณคิดแบบนี้”


ต้องย้ำว่าวิธีการบำบัดด้วย “CBT” มีหลักง่ายๆก็คือเราไปด้วยกัน ทำไมถึงเรียกว่า “การรับรู้”...การรับรู้ในที่นี้คือความคิดในระดับต่างๆ ทำไมถึงเรียกว่า “พฤติกรรม”...ก็หมายถึงว่าพอเราชี้ไปด้วยกัน ว่าเห็นว่าการรับรู้คุณอาจจะผิดนะ จริงรึเปล่า...ลองไปทดลองดู อันนั้นคือภาคพฤติกรรม ภาคปฏิบัติ


เพราะฉะนั้นสองอย่าง “การรับรู้”...กับ “พฤติกรรม”...ก็เลยเรียกว่า “CBT”


ศาสตราจารย์นายแพทย์ แอรอน ที. เบ็ค เป็นผู้เริ่มต้นวิธีการ “CBT” ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเมื่อปีที่แล้ว...เป็นคนช่วยคนที่ซึมเศร้าแล้วได้รับรางวัล แล้วก็ช่วยคนที่ฆ่าตัวตาย ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่อายุ 90 กว่าแล้ว...นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กับ ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นคนไทยที่ผ่านการอบรมจากสถาบันนี้...


ใครที่สนใจ อาจติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้กับคุณหมอศุภรา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ พุ่งเป้าไปที่การรับรู้ ทีนี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนคนนี้ทำวิธีการนี้อยู่ ในฐานะชาวบ้าน ถ้าคุณไปเจอหมอบอกคุณว่าการรับรู้คุณผิด แสดงว่า...คุณหมอไม่ได้ทำวิธีนี้ เพราะ “CBT” จะชี้ให้เห็นว่าการรับรู้ของคุณถ้าไม่ถูก คุณต้องเจอด้วยตัวเองไม่ได้เป็นแบบเข็มทิศชีวิต วิธีการ “CBT”...ไม่มีเข็มทิศอะไรให้คุณทั้งนั้น


ถ้ามีก็เข็มทิศคุณกับเข็มทิศจิตแพทย์ ก็ไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่หรอก ทำไม คุณต้องคิดว่าจิตแพทย์มีเข็มทิศที่ดีกว่า...ไม่มีหรอก ขอใช้คำว่า “โทษทีนะ...กูก็ทุกข์เท่ามึง ไม่อย่างนั้นกูไม่มาทำมาหากินอยู่อย่างนี้ เข้าใจไหม”


จิตแพทย์รู้เรื่องโรคจิต แต่เราไม่รู้ว่าชีวิตจริงๆควรจะดำเนินยังไงไม่ให้มันทุกข์ วิธีการ “CBT” เป็นการช่วยกันตรวจสอบความคิด ไปทดลองดูแล้วหมอก็เช็กกับคนไข้ตลอดซึ่งเป็นหัวใจของการรักษา...“ที่หมอพูด...เราเจอกันวันนี้มันใช่ไหม ฟังดูเข้าท่าไหม...อยากจะไปทดลองไหม ไหนเล่าให้ฟังสิว่าได้ไปเรียนอะไรบ้าง...”


ฉะนั้นกระบวนการนี้ ในขั้นแรกผู้ที่เข้ารับการบำบัดต้องไว้ใจผู้รักษาตั้งแต่เริ่มต้นในลักษณะความเป็นเพื่อน...ต้องไว้ใจว่าหมอเป็นเพื่อนเราจริงๆ ต้องช่วยเราตรวจสอบจริง อีกคนหนึ่งต้องคล้ายๆว่า...เป็นไปด้วยกันจริงๆมากกว่าที่จะคุณหมอบอกอะไรมาก็ได้เดี๋ยวจะทำตาม


“ความจริงแนวคิดไม่ได้ยาก แต่ภาคที่เอาไปปฏิบัติ ที่กว่าจะให้คนคนหนึ่งทำแบบนี้เป็น ที่ทำให้จิตแพทย์เลิกเป็น...เลิกทำหน้าที่เป็นหมอดู หมอเดา เป็นพระ เป็นเณรหรือจะเป็นอะไรก็ตาม วิธีการนี้มันยากต้องใช้เวลาเพราะกระบวนการรักษาต้องทำให้ผู้รับการบำบัดได้เห็นเองว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆด้วยตัวเอง” นายแพทย์ธีระเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย



ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/36423

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล