วายร้าย ไวรัสตับอักเสบ

by kadocom @23-8-56 09.16 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 400x204 pixel , 26,527 bytes.

ในไทยจากการสำรวจในประชาชนทั่วไป พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5 และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณร้อยละ 1


ไวรัสตับอักเสบ คือ ไวรัสที่ทำให้เกิดอันตรายต่อเนื้อตับเป็นหลัก ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี ดี และอี ซึ่งในประเทศไทยจากการสำรวจในประชาชนทั่วไป พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ประมาณร้อยละ 5 และติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณร้อยละ 1 โดยการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในระยะแรกผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการ หรือบางรายอาจมีเพียงอ่อนเพลีย ไข้ต่ำ ๆ คล้ายเป็นไข้หวัด


แต่หากเกิดตับอักเสบรุนแรงจะทำให้เกิด ดีซ่าน ตรวจพบผิวหนังและเปลือกตามีสีเหลือง ผู้ติดเชื้อไวรัสที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้เองตามธรรมชาติ และการอักเสบของตับจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เกิดภูมิคุ้มกันโรคต่อไวรัสตับอักเสบไปตลอดชีวิต แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบอย่างเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดตับอักเสบต่อเนื่องจนเกิดภาวะตับแข็ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรืออาการของสมรรถภาพการทำงานของตับเสื่อมลงที่รียกว่า ภาวะตับวาย


ได้แก่ ท้องมาน ขาบวม อาเจียนเป็นเลือดสด หรือปวดท้องบริเวณชายโครงขวาจากมะเร็งตับที่เกิดแทรกซ้อนตามมา ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าไวรัสตับอักเสบ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี เป็น “วายร้าย” ที่ก่อให้เกิดโรค ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพลภาพ เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตับ และเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร เป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย


จึงเป็นที่มาให้องค์การอนามัยโรค ได้ประกาศให้วันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันรักษ์ตับโลก” หรือ “World Hepatitis Day” เพื่อให้ประชาชนทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก


จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ


แพทย์จะทำการตรวจเลือด เพื่อค้นหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในร่างกาย โดยการตรวจวัดโปรตีนหรือสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดต่าง ๆ เช่น HBsAg, HBV DNA, และ HCV RNA เป็นต้น หรือตรวจหาหลักฐานการติดเชื้อในร่างกาย โดยตรวจหาการตอบสนองของร่างกายด้วยการวัดแอนติบอดีย์ (antibody) ต่อการติดเชื้อไวรัส เช่น anti-HAV, anti-HBc, anti-HCV และ anti-HEV เป็นต้น ผู้ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบในร่างกาย ควรได้รับการตรวจเลือดแสดงการทำงานของตับ ที่เรียกว่า liver function test เพื่อประเมินว่าการติดเชื้อไวรัสก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายเซลล์ตับรุนแรงอย่างไร โดยการตรวจวัดระดับเอ็มไซม์ในเลือดที่เรียกว่า SGOT (AST) และ SGPT (ALT) นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง ควรได้รับการตรวจภาพเนื้อตับด้วยเครื่องอัลตร้าซาวนด์ (ultrasound) เพื่อประเมินว่าการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวก่อให้เกิดตับแข็ง หรือมีมะเร็งตับเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงของภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว


มีวิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบอย่างไร


ผู้ป่วยที่เกิดภาวะตับอักเสบฉับพลันจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดังกล่าว ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ แต่ถ้ามีท้องอืด คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์และอาหารมัน ๆ เพราะจะทำให้มีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยทุกรายควรพักผ่อนเพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลีย และงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็นรวมทั้งอาหารเสริมหรือสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ซึ่งในภาวะตับอักเสบฉับพลัน ภูมิต้านทานของร่างกายเป็นกลไกที่สำคัญในการกำจัดเชื้อไวรัส เพื่อทำให้ภาวะตับอักเสบดีขึ้น


ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เรื้อรัง ควรได้รับการตรวจประเมินความรุนแรงของโรคและโรคร่วมชนิดอื่น ๆ ก่อนพิจารณาให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือร่วมกับการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีประสิทธิภาพดีและปลอดภัย สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบหรือควบคุมให้ภาวะตับอักเสบสงบลงได้ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็ง ตับวายและมะเร็งตับในอนาคต


จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบได้อย่างไร


ไวรัสตับอักเสบเอและอี ติดต่อโดยการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ซึ่งอาจพบในชุมชนที่แหล่งน้ำมีการปนเปื้อนกับอุจจาระของผู้ป่วยโรคดังกล่าว ดังนั้นการป้องกันที่ดีคือ การให้ความรู้และปรับปรุงสาธารณสุขมูลฐานเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ และการดูแลแหล่งน้ำให้ปลอดจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสดังกล่าว ซึ่งมักเกิดปัญหาภายหลังที่เกิดอุทกภัย นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ โดยฉีด 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน สามารถช่วยลดอุบัติการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้ดีในประชาชนทุกเพศทุกวัย


ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี ติดต่อจากการสัมผัสเลือดที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าสู่บาดแผลทางผิวหนังหรือเยื่อเมือกของร่างกายโดยตรง จากการใช้ของมีคม เข็มฉีดสารเสพติด อุปกรณ์เจาะหูหรือสักผิวหนังร่วมกัน รวมทั้งยังอาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในผู้ที่มีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ แต่มีความเสี่ยงต่ำต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีในคู่ชีวิตที่มีพฤติกรรมทางเพศปกติ


สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในบุคคลที่ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีต่อเนื่องในช่วงเวลา 6 เดือน จำนวน 3 ครั้ง ในอดีตไวรัสตับอักเสบบีมักพบการติดต่อจากเลือดของมารดาที่เป็นพาหะสู่ทารกระหว่างคลอด แต่ปัจจุบันพบปัญหาดังกล่าวน้อยลงอย่างมาก ๆ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีให้แก่ทารกแรกเกิดทุกราย


สิ่งสำคัญที่อยากจะบอกให้ผู้ที่ใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ได้สบายใจว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่ติดต่อจากการสัมผัสร่างกาย หรือลมหายใจ รวมทั้งการรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้นทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันตามปกติ


การรับประทานวิตามิน สมุนไพรและอาหารเสริม จะมีคุณโทษอย่างไร


ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่ค่อยมีปัญหาขาดสารอาหารหรือวิตามิน ยกเว้นในผู้ป่วยตับแข็งบางรายที่มีภาวะทุโภชนาการ อาจต้องรับประทานวิตามินเสริมและสารอาหารบางอย่างเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว การรับประทานสมุนไพรและสารต่าง ๆ เพื่อหวังผลล้างพิษตับที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคตับกลุ่มนี้ได้ประโยชน์อย่างไร และบางครั้งการใช้สารเหล่านี้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาตับอักเสบอยู่แล้ว อาจทำให้เกิดการอักเสบภายในตับรุนแรงขึ้น การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงโดยการรับประทานอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ และออกกำลังกายสม่ำเสมอก็เพียงพอที่จะทำให้สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น ซึ่งน่าจะปลอดภัยกว่าการรับประทานสมุนไพรและสารต่าง ๆ เหล่านั้น


รองศาสตราจารย์ นายแพทย์พูลชัย  จรัสเจริญวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/36142

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล