เลิกบุหรี่ คุณทำได้ ด้วยหลัก “อิทธิบาท 4”

by kadocom @8-7-56 09.31 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 350x178 pixel , 32,657 bytes.

สิ่งเสพติดในปัจจุบันมีมากมายหลายรูปแบบ การเสพติด มีทั้งติดทางกาย และติดทางสังคม เมื่อพูดถึงยาเสพติด คนทั่วไปมักจะคิดถึงยาบ้า ฝิ่น เฮโรอีน หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงทั้งหลาย แต่มีอีก 2 สิ่งที่เราต้องใส่ใจ นั่นคือ บุหรี่และสุราหรือแอลกอฮอล์ ซึ่งความจริงแล้วก็คือสิ่งเสพติดนั่นเอง

คนเคยสูบเคยดื่ม ถึงคราวก็อยากสูบอยากดื่มอีก แต่มีฤทธิ์เบากว่ายาบ้า เฮโรอีน จึงทำให้กลายเป็นสิ่งเสพติดที่ถูกกฎหมาย สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ผลก็คือคนสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิบๆ ล้านคน มูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกันแล้ว ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่าเฮโรอีนและยาบ้าเสียอีก

หลายหน่วยงานในภาครัฐและเอกชนพยายามช่วยเหลือให้ผู้เสพเหล่านี้พ้นจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ บางคนก็สามารถเลิกได้ บางคนก็ล้มเหลว ผู้ที่ติดข้องการเสพในสิ่งใด ย่อมมีความสุขอยู่กับสิ่งนั้นๆ จึงไม่อาจตัดสินใจเลิกง่ายๆ แม้จะมีผู้เตือน ผู้ตำหนิติเตียน แต่เมื่อเขามีความสุข การจะไปห้ามเขาไม่ให้ไปทำสิ่งนั้นก็เท่ากับบอกให้เขาละทิ้งความสุข (ส่วนตน) นั้นๆ เสีย

แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าบุหรี่นั้นมีโทษต่อร่างกาย จะอย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่พยายามจะช่วยให้ผู้เสพเหล่านั้น ลด ละ เลิก ผู้เขียนจะขอเสนอหลักธรรมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ธรรมะนั้น คือ “อิทธิบาท 4” ซึ่งเป็นบทธรรมซึ่งช่วยให้เกิดความสำเร็จในสิ่งนั้น ประกอบด้วย

ฉันทะ มีความปรารถนาที่จะลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ให้ได้ ซึ่งอาจจะตั้งสัจจะอธิษฐานหรือให้สัญญากับตัวเองว่าจะเลิกสูบบุหรี่ แล้วจะรักษาสัจจะนั้นให้ได้

วิริยะ มีความเพียรที่จะเลิก ห้ามใจอ่อนกับตนเองเป็นอันขาด เช่น อาจบอกกับตัวเองว่า “อีกสักมวนคงไม่เป็นไร” หรือ “ไว้ก่อนพรุ่งนี้ค่อยเลิก” เหล่านี้ขอให้ห้ามใจตนเองโดยเด็ดขาด

จิตตะ มีความตั้งใจอย่ายอมแพ้กับตัวเอง อย่าปล่อยให้โอกาสที่สามารถนำคุณกลับไปสูบบุหรี่ได้อย่างง่ายๆ ไม่ว่าเพื่อนจะชวน หรือมีสิ่งดึงดูดก็ตาม ขอให้ใจแข็งไว้ ให้ทำตามสัจจะอธิฐานของการเลิกบุหรี่ตามที่ตั้งใจไว้ก็เป็นพอ

วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณา คือ เห็นโทษภัยของสิ่งเสพติดว่าเป็นสิ่งอันตรายของการสูบบุหรี่ โอกาสเป็นมะเร็งที่ปอดสูงหรือเกิดถุงลมโป่งพอง โรคภัยรุมเร้า ส่งผลต่อสุขภาพตนเองและมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง จะต้องรู้จักคิด คอยย้ำเตือนตนเองอยู่เสมอว่าที่เลิกนั้นเพื่ออะไร เพื่อสุขภาพตัวเราเอง เพื่อคนที่เรารัก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ฯลฯ สิ่งที่เราได้ทำมานั้นไม่ได้มีค่าหรือเกิดประโยชน์ใดๆ กับตัวเราเลย ซ้ำทำให้เกิดโทษมากกว่า ต้องใจแข็งและผ่านมันไปให้ได้

หากท่านผู้สูบบุหรี่ท่านใดกำลังคิดอยากจะเลิกบุหรี่แต่ยังเลิกไม่สำเร็จลองนำเอาหลัก “อิทธิบาท 4” มาสร้างแรงจูงใจภายในเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ท่านค่ะ

ที่มา : คอลัมน์ธรรมะกับบุหรี่ โดย อ.พันธ์เรือง ทวีวัฒน์ จุลสารฟ้าใสไร้ควัน เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล