'ล้มเหลว' ไม่ทุกข์!

by kadocom @14-2-56 08.50 ( IP : 203...37 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 67,117 bytes.

สังคมไทยปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหาและแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในการเรียน การทำงาน การทำมาหากิน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาสังคม และปัญหาครอบครัว

การที่จะอยู่รอดโดยสามารถดำเนินชีวิตตนเองและครอบครัวไปได้อย่างปรกติสุขนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่ทำได้ต้องมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง คือมีความอดทนและทักษะทางอารมณ์ที่ดี ทักษะทางอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ในวัยเด็ก อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ทักษะทางอารมณ์ยังไม่ดี ก็จำเป็นต้องฝึกฝนพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้น จะได้สามารถรับมือกับปัญหา และแรงกดดันในชีวิตที่นับวันมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

ความผิดหวัง ล้มเหลว เป็นเรื่องปรกติที่ทุกคนจะต้องประสบในชีวิต มากบ้าง น้อยบ้าง รุนแรงบ้าง ไม่รุนแรงบ้าง แล้วแต่ช่วงจังหวะชีวิตของแต่ละคน คนที่ไม่เคยประสบความผิดหวัง ล้มเหลว หรือการพ่ายแพ้เลย ถือว่าเป็นชีวิตที่อยู่ในอันตราย และค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง เพราะหากโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ จำเป็นต้องรับผิดชอบหน้าที่การงานและครอบครัว แต่ไม่สามารถเผชิญกับความผิดหวังได้ อาจหลงแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสมโดยใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นหรือกับตัวเอง เช่น การฆ่าตัวตาย ฆ่าคนในครอบครัวของตนเองได้ ดังนั้นทักษะทางอารมณ์ที่มั่นคงจึงถือว่าเป็นภูมิต้านทานทางด้านจิตใจที่สำคัญ

หลักการทั่วไปในการรับมือกับความผิดหวัง ล้มเหลว ที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน อาจสรุปเป็นขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  1. ต้องเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก ส่วนจะหาทางออกได้เร็วหรือช้านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าเราคิดว่าเป็นทางตันเสียแล้ว จะทำให้เกิดความท้อแท้สิ้นหวัง ไม่มีแรง ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กับปัญหา

  2. หลีกเลี่ยงการโทษตัวเอง ต้องสามารถให้อภัยตัวเอง ให้โอกาสตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองว่าไม่เป็นไร เริ่มต้นใหม่ได้ ลองดูใหม่ และเชื่อมั่นว่าจะฝ่าไปได้ในที่สุด

  3. หาคนที่ไว้ใจได้พูดคุยระบายความอึดอัดความทุกข์ในใจให้เขาฟัง การที่มีคนที่เราไว้ใจมารับฟัง รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น การรู้ว่ายังมีคนเป็นห่วง แคร์ความรู้สึกของเราจะช่วยบรรเทาความอึดอัดใจของเราได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ผู้ที่รับฟังอาจจะมีมุมมองปัญหาที่แตกต่างออกไป มองเห็นสาเหตุหรือวิธีการที่ต่างจากเรา อาจให้คำแนะนำดีๆ แก่เรา รวมทั้งมองเห็นสิ่งที่ดีที่เหลืออยู่ของเราเพื่อสามารถใช้เป็นจุดเริ่มที่จะตั้งต้นใหม่ได้

  4. คนที่ผิดหวัง ล้มเหลว ส่วนมากมักต้องการคำตอบของปัญหา วิธีแก้ไขแบบปัจจุบันทันด่วนเดี๋ยวนี้เลย ซึ่งหลายครั้งไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น ดังนั้น ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจขณะที่อารมณ์ไม่สงบ ขุ่นมัว เศร้าหมอง เพราะส่วนใหญ่แล้วการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์มักจะผิดพลาดและก่อให้เกิดผลเสียหายมากกว่าผลดี หลายครั้งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เราอาจจะประเมินดูว่าการตัดสินใจทำได้อย่างช้าไม่ควรเกินเมื่อไร เรามีเวลาเท่าไร สามารถรอได้ ตัวอย่างเช่น อีก 3 ชั่วโมง หรืออีก 2 วันค่อยตัดสินใจก็ยังไม่ช้าไป

  5. ระหว่างที่ยังมีเวลา ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจ ก็พยายามทำอารมณ์ จิตใจให้สงบด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฝึกผ่อนคลาย พักสมอง นั่งสมาธิ ฟังเพลง อ่านหนังสือ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพิ่มมุมมองให้กว้างขึ้น พออารมณ์ จิตใจสงบ ค่อยกลับมาพิจารณาปัญหา มองหาสาเหตุ มองดูทางเลือกต่างๆ ในการแก้ปัญหา เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผล ใช้อารมณ์ให้น้อยที่สุด หลังจากตัดสินใจเลือกทางเลือกใดแล้วก็ดำเนินการอย่างมีแบบแผน มีขั้นตอนชัดเจน จะช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลไปได้

ผู้เขียนหวังว่าคำแนะนำจากข้อเขียนนี้จะช่วยให้ใครหลายๆ คนที่กำลังทุกข์ใจจากความผิดพลาด ล้มเหลว ใช้เป็นหลักยึดให้ตั้งต้น ตั้งหลัก เดินต่อ และพอมองเห็นทางออก สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาให้พ้นจากความทุกข์ใจ และดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์แก่สังคมต่อไปได้



ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/33030

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล