สมาธิไม่มี ตัดสินใจแย่ เพราะ 'ห้องทำงาน'

by kadocom @26-10-55 09.51 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 50,134 bytes.

คนทำงาน หรือแม้แต่นักเรียนนักศึกษา คงรู้ตัวดีว่า หลังผ่านช่วงเวลาพักกินข้าวกลางวันไปแล้ว การจะนั่งทำงาน นั่งเรียนในช่วงบ่ายต้องต่อสู้กับอาการง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งหลายคนก็หาสาเหตุให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น เพราะมื้อเที่ยงกินจุเกินไป หรือเมื่อคืนหลับนอนไม่เต็มตื่น แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกเหตุผลที่ทำให้ง่วงช่วงบ่าย...

สำหรับอีกเหตุผลที่ว่านั้นมี กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวมะกันจากมหาวิทยาลัย สเตท ออฟ นิวยอร์ค และแล็ป ลอร์เลนซ์ เบิร์กลีย์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไขคำตอบว่า ห้องทำงาน หรือห้องเรียนนั่นเองที่เป็นอีกหนึ่งตัวการทำให้ง่วง

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ภายในห้องทำงาน ห้องเรียน ถูกพบว่ามีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ซึ่งแหล่งกำเนิดก๊าซดังกล่าวในห้องก็ไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นตัวมนุษย์อย่างเราๆ นั่นเอง ดังนั้น เมื่อคนมาอยู่รวมกันมาก จึงส่งผลให้ก๊าซนี้มีปริมาณความเข้มข้นสูงขึ้น และยิ่งถ้าห้องทำงานหรือห้องเรียนนั้นไม่มีการระบายอากาศที่ดีเพียงพอ  ความเข้มข้นของก๊าซก็จะลดลงช้าหรืออาจต้องรอให้ผู้คนแยกย้ายจากกันไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณกลางแจ้งมักอยู่ที่ระดับ 380 พีพีเอ็ม (ส่วนในล้านส่วน) แต่ที่ทีมวิจัยกลุ่มนี้วัดได้จากในที่ร่ม ซึ่งก็คือห้องทำงานและห้องเรียนที่มีคนกำลังทำงานและเรียนกันอยู่ พวกเขาพบว่า มีความเข้มข้นสูงระหว่าง 1,000-3,000 พีพีเอ็ม

แม้ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในช่วง 1,000-3,000 พีพีเอ็ม จะไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ แต่ถ้ามีสูงราว 2,500 พีพีเอ็ม ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานและการเรียน โดยเฉพาะมีผลบั่นทอนสมาธิ การใช้ความคิด และการตัดสินใจ รวมถึงทำให้รู้สึกง่วงๆ เพลียๆ และไม่ค่อยตื่นตัว

สรุปก็คือ ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากตัวมนุษย์ ที่มีอยู่สูงเพราะคนมาแออัดกันอยู่ในห้อง ประกอบกับอากาศถ่ายเทไม่ดี นี่ล่ะเป็นอีกสาเหตุที่บั่นทอนประสิทธิภาพทางความคิด



ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/31217

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล