โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อีกหนึ่งโรคร้ายจากบุหรี่

by kadocom @21-8-55 09.31 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 32,410 bytes.

สูบบุหรี่ นอกจากจะเผาเงินยังเผาไฟเข้าสู่ร่างกายเพราะบุหรี่เป็นอาวุธร้ายทำให้ปอดอักเสบและเกิดการอุดกั้นจนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ความพิเศษของ "โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง" (Chronic Obstructive Pulmonary Disease : COPD) คือเป็นกลุ่มโรคที่มักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยและเป็นสาเหตุการตายอันดับ 5 ของโลก ที่อาจจะขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ในอีก 18 ปีข้างหน้าหรือปี 2573 อีกด้วย

ย้อนกลับไปในปี 2548 มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทุกสาเหตุทั่วโลก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกเสียจากว่าจะมีการจัดการป้องกัน และรณรงค์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมสูบบุหรี่ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักของโรค

"โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น จะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งทำให้โครงสร้างของหลอดลมเปลี่ยนไปจนแคบลง จากการสูดเอาสารพิษต่างๆ เช่น ควันบุหรี่หรือสารเคมี มีผลให้อาการอักเสบแพร่ขยายออกไปก้วางยิ่งขึ้น" ศ.พญ.สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์อธิบาย

ถึงแม้ว่าการสูบบุหรี่จะเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ ศ.พญ.สุมาลี ย้ำว่าไม่ได้หมายความว่าการสูบบุหรี่ที่จะเป็นเหตุใหญ่เพียงอย่างเดียว ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เลยหรือเลิกสูบมานานแล้วก็อาจล้มป่วยจากโรคนี้ได้เช่นกัน

ปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นกลุ่มโรคเรื้อรังในระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วย โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคถุงลมโป่งพองผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้น จะมีอาการหายใจติดขัดหอบ ไอเรื้อรัง เหนี่อยง่ายและมีเสมหะมาก

จากการสำรวจระบาดวิทยาและผลกระจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในทวีปเอเชีย โดยบริษัททาเคดา ฟาร์มาซูติคอล ถือเป็นการสำรวจขนาดใหญ่เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นครั้งแรกของเอเชีย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 100,00 ครัวเรื่อนในจีน ฮ่องกง อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม จะเห็นได้ว่าความชุกของโรคอยู่ในกลุ่มคนวัย 40 ปีขึ้นไป คิดเป็นประมาณร้อยละ 6

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระดับรุนแรง

รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพิ่มเติมว่าในประเทศไทย ร้อยละ 61 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจจำนวน 214 คน เป็นผู้ป่วยที่ได้ไปพบแพทย์แล้ว เนื่องจากมีอาการของโรคและอาการกำเริบต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีโอกาสเจ็บป่วยสูง เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีมลพิษทางอากาศอยู่รอบตัว

คนกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ ไอ มีเสมหะ แพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจสอบสภาพปอดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้ตรวจหาอาการของโรคพบแต่เนิ่นๆ และรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยการใช้ยาพ่น ยากิน สิ่งสำคัญคือ ต้องลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะไปสัมผัสกับสารพิษโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ ร่วมกับการออกกำลังกายและรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร

การตรวจสมรรถภาพปอด (Spirometr)

การตรวจสมรรถภาพของปอด คือการตรวจวัดอากาศที่หายใจเข้าและออกจากปอดด้วยเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometer) เพื่อบ่งชี้ถึงการเสื่อมของปอด

ก่อนตรวจ ผู้เข้าทดสอบไม่ควรออกกำลังกายก่อนมาตรวจอย่างน้อย 30 นาที ไม่สวนเสื้อผ้าที่รัดบริเวณอกและท้อง เลี่ยงการทานอาหารจนอิ่มมากก่อนตรวจ 2 ชั่วโมง งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ส่วนผู้ป่วยโรคหืดต้องหยุดยาขยายหลอดลมก่อนตรวจ

วิธีทดสอบ เริ่มจากยืนตัวตรงตามสบาย จากนั้นหนีบจมูก แล้วหายใจเข้าจนเต็มที่อมกระบอกเครื่องเป่า และปิดปากให้แน่นไม่ให้มีลมรั่วออกภายนอก เมื่อหายใจออกมาต้องหายใจออกให้เร็๋ว และแรงอย่างเต็มที่กว่าจะไม่มีอากาศออกจากปอดอีก ซึ่งควรจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 วินาที

จากนั้น จะวัดจำนวนของอากาศที่วัดได้เมื่อหายใจออกหรือ (FVC: Forced Vital Capacity) และตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นมีการอุดกั้นของหลอดลม ความยืดหยุ่นของปอดลดลง หรือมีความผิดปกติทั้ง 2 อย่างรวมกัน ซึ่งต้องครวจวินิจฉัยอย่างละเอียดเพื่อรักษาต่อไป



ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ลาลินีย์ ทันพิลา

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/30013

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล