"บุหรี่" ติดง่าย แต่เลิกยากอย่าเริ่มเลยดีกว่า...

by kadocom @11-6-55 10.19 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 49,777 bytes.

เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงเลย บุหรี่ติดง่าย เลิกยาก แต่เลิกได้ ขอเพียงตั้งใจและเข้มแข็ง บุหรี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครมีแต่ทำลาย ทำลายสุขภาพ บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง 10-12 ปี เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด และโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตหรือก่อให้เกิดความพิการเรื้อรัง ปี 2554 มีผู้สูบบุหรี่รวมชายหญิง ถึงกว่า 15 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึง 50,000 ราย

แม้จะมีตัวเลขที่แสดงถึงยอดผู้สูบจำนวนมาก แต่ก็มีผู้สูบจำนวนหนึ่งที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ และโทรเข้าไปขอคำปรึกษาสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เฉลี่ยในปี 2553 กว่า 20,000 สาย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ที่สามารถเลิกได้ภายใน 6 เดือน มี 502 ราย ถึงจะเป็นสถิติตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก หากมองในอีกมุมหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังมีผู้ที่คิดอยากเลิกแสดงว่าเขาเหล่านั้นตระหนักว่า บุหรี่ มีแต่โทษ มีแต่พิษภัย ดังนั้นคนในสังคมต้องร่วมมือร่วมใจ ร่วมรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ต่อต้านควันบุหรี่มือสอง และมาร่วมสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ทั้งที่บ้าน และที่สาธารณะ ไม่เพียงเพื่อตัวเองในวันนี้แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงเด็ก เยาวชน ที่กำลังเติบโตขึ้นมา จะได้ห่างไกล บุหรี่

นายทองใบ บุมี นักจัดรายการวิทยุชุมชน ย่านรังสิต เป็นผู้หนึ่งที่เคยตกเป็นทาสบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี และสูบเรื่อยมาจนอายุ 60 ปี นายทองใบเล่าว่าเขาสูบบุหรี่มาตั้งแต่วัยรุ่น สูบวันละซอง จากบุหรี่ราคาซองละ 3 บาท จนถึงซองละ 58 บาท เวลานั้นเขารู้สึกว่า คนที่สูบบุหรี่นั้นดูเท่ ทันสมัย เท่าเทียมเพื่อน แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามันจะส่งผลเสียอย่างไรต่อชีวิตในบั้นปลาย

จากอายุ 17 ถึง 60 กว่าปีนั้น หากรวบรวมค่าบุหรี่เป็นตัวเงินก็เป็นเงินจำนวนมาก และมากพอที่จะฆ่าตัวเองได้ เพราะระหว่างที่สูบจะมีอาการเหนื่อยหอบเป็นประจำมีเสมหะเหนียวข้น เวลานอนบางครั้งถึงขนาดชักดิ้นชักงอทุรนทุราย เพราะการสูบบุหรี่จะมีผลทำให้หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เพียงแค่เดินขึ้นบันไดยังมีอาการหอบจนตัวโยน หรือแม้แต่จะนั่งสวดมนต์ไหว้พระยังทำไม่ไหว

"ผมมีความคิดจะเลิกอยู่แล้ว เรื่องของเรื่องคือ คนในครอบครัวให้ความเกรงใจกับผมมาก ในห้องผมก็สูบในรถของลูกสาวผมก็สูบ ลูกหลานไม่ว่าอะไรเราจึงมาคิดได้ว่าน่าจะเลิก เขาเกรงใจเราเราก็น่าจะเกรงใจเขาบ้าง ถ้าเราเจ็บป่วยไปก็ไม่พ้นลูกที่ต้องดูแล หรือหากเราไม่ป่วยแต่เราไปพ่นควันใส่ลูกหลานที่นั่งข้างกันแล้วเขาป่วยเพราะเรา เราจะเสียใจสักแค่ไหนลำพังเราเป็นภาระให้แก่ลูกยังไม่พอหรือ ยังนำเอาโรคไปแพร่ให้กับลูกหลานอีก คิดได้ก็ละอายครับ" นายทองใบเล่าถึงความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความพยายามเป็นร้อยครั้ง ครั้งหนึ่งถึงขนาดสัญญาสาบานแต่ไม่เป็นผล หรืออย่างพี่ชายของนายทองใบเองก็พยายามเลิก ถึงขนาดจุดธูปสาบานกับเจ้าพ่อ ถ้ากลับมาสูบอีกขอให้กระอักเลือด ขอให้มีอันเป็นไป แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปจุดธูปขอคืนคำสาบาน

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่หาได้ง่าย ทำให้เมื่อใดที่คนใจอ่อนได้กลิ่น หรือเกิดความคุ้นเคยทางอารมณ์ ก็มักปล่อยให้บุหรี่เข้ามาในชีวิตซ้ำแล้วซ้ำอีก"ผมเลิกมาเป็นร้อยครั้งแล้ว บุหรี่เลิกไม่ยากหรอกครับ แต่กลับมาสูบใหม่ทุกครั้ง บางทีเลิกได้ 1ปี แล้วกลับมาสูบอีก 10 ปี แต่ครั้งนี้คิดว่าเป็นเที่ยวสุดท้ายของชีวิต ที่จะเลิกโดยไม่หวนกลับ เพราะผมมีกำลังใจจาก 1600 เขาพูดดีมาก พูดให้คนมีกำลังใจ ให้คิดว่าตัวเองมีค่า ทำให้ผมแข็งแกร่ง เขาให้ผมคิดถึงร่างกายตัวเอง ให้เปรียบเทียบตับปอดเหมือนครัวที่หุงข้าวด้วยเตาถ่านเขม่าดำๆ ที่ไปจับ มันจะเหนียว น่าขยะแขยง และน่ารังเกียจ เหมือนเวลาเราสูบบุหรี่ เพราะแค่พูดก็รู้สึกเหม็นปากแล้วคนอื่นเขาจะไม่รังเกียจเหรอ ขนาดภรรยาผมยังขอแยกห้องนอนกับผมมา 20 ปี

นอกจากนี้ 1600 เขายังเตือนว่า การเลิกบุหรี่ไม่ใช่ว่าเลิกได้ง่าย เหมือนการนำก้อนหินไปทับหญ้าอยู่กลางสนามหญ้ารอบๆ ข้างมันก็โต แต่อย่าคิดว่าใต้ก้อนหินมันจะตาย มันเพียงแต่เหี่ยวเฉา ยกก้อนหินออก มันก็โตเมื่อนั้น บุหรี่ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าหวนกลับมาสูบแม้แต่มวนเดียว มวนเดียวก็เท่ากับยกหินออก เดี๋ยวมันก็ติดอีก หากคุณเป็นคนใจอ่อน และไม่มีกำลังใจ โทรไปที่ 1600 สิครับ"



ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/28690

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล