ปรับอารมณ์ กำจัดความเครียด

by kadocom @29-2-55 09.24 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 63,775 bytes.

สมมุติว่า นำสิ่งของหนักๆ เช่น ถังน้ำที่มีปริมาณน้ำเต็ม ไปแขวนไว้ที่เชือกราวตากผ้า ซึ่งแต่เดิมหย่อนๆ ก็จะตึงขึ้นมาทันที น้ำหนักที่นำไปแขวนไว้กับราวตากผ้า เปรียบได้กับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิต ความเครียด คือ การสนองตอบของร่างกาย และจิตใจ ต่อภาวะคุกคามทุกชนิด

ประเมินสภาวะเครียด

  1. ประเมินจากอาการทางร่างกาย อาการต่อไปนี้เป็นอาการของความเครียดที่พบบ่อยๆ ได้แก่ ปวดศรีษะ ปวดท้อง เป็นโรคกระเพาะอาหาร ท้องเดิน ท้องผูก ใจสั่น นอนไม่หลับ ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้มาก โดยที่ไปพบแพทย์แล้วหลายครั้งก็ยังสาเหตุไม่พบว่าเป็นโรคอะไรแสดงว่า เครียดมาก

  2. ประเมินจากอาการทางจิตใจ ถ้ามีความรู้สึกวิตกกังวลอยู่เป็นประจำ รู้สึกว่า ชีวิตนี้ไม่มั่นคง ขาดความมั่นใจที่จะเดินไปข้างหน้า ซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้รำคาญ โกรธง่าย ขาดสมาธิที่จะจดจ่อทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันรู้สึกอ่อนเปลี้ย หมดพลัง อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากยุ่งกับใคร ถ้ามีอาการเหล่านี้มาก ก็แสดงว่า เครียดมาก

  3. ประเมินจากพฤติกรรมของตนเอง ถ้ากินจุบกินจิบไม่หยุด หรือเป็นคนระเบิดอารมณ์ง่ายๆ หรือติดบุหรี่ติดแอลกฮอล์ ติดยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือชอบร้องไห้บ่อยๆ เข้ากับคนอื่นยาก ก็แสดงว่าคุณมีปัญหาความเครียดมากเช่นกัน

  4. ประเมินจากทัศนคติของคุณต่อสถานการณ์ในชีวิตขณะนี้ ถ้าคุณรู้สึกว่า (1) คุณกุมสภาพ หรือควบคุมเรื่องสำคัญในชีวิตไม่ได้ หรือ (2) คุณไม่มีความมั่นใจที่จะจัดการปัญหาส่วนตัวให้ลุล่วง หรือ (3) มีความรู้สึกว่ามีเรื่องยากๆ กองรออยู่มากมายจนยากที่จะทำได้หมดหรือ (4) รู้สึกเศร้าใจที่จัดการเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวไม่ได้อย่างใจต้องการ ทัศนคติเหล่านี้ ถ้ามีอยู่มากก็แสดงว่า เครียดมาก

สนองตอบต่อความเครียดอย่างไร

  • คุณมีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น มีอาการเกร็งทันทีหากเกิดความเครียด หรือหายใจสั้น หรือหอบขึ้นมาเลย หรือท้องไส้ปั่นป่วน กำหมัด ปวดหัว หรือเปล่า

  • เวลาเครียดคุณคว้าหาอะไรมากินไว้ก่อน หรือไม่

  • คุณรู้สึกร้อนรนทนรอไม่ได้ ต้องลุกขึ้นเดินงุ่นง่าน บางทีก็นอนไม่หลับ หรือไม่

  • คุณแสดงออกด้วยความโกรธ ฟิวส์ขาด หงุดหงิด เอะอะเอ็กตะโร ระบายอารมณ์ใส่คนอื่น หรือไม่

  • คุณห้องไห้เพื่อระบายออก ร้องคนเดียวบ้าง ร้องกับคนอื่นบ้าง หรือไม่

  • คุณปล่อยให้ความคิดลบเข้ามาครอบ มันต้องแย่แน่ มันต้องพังแน่ หรือไม

  • คุณยอมแพ้ ใช้กลไกปฏิเสธดื้อๆ ถือว่าทุกอย่างมันไม่จริง คิดลาป่วย หรือคิดลาออก หรือไม่

  • คุณหันไปหากาแฟ บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือไม่

  • คุณจมอยู่กับทีวีจนดึกดื่น หรือไม่

  • คุณถอยห่างออกจากเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือไม่

  • คุณใช้วิธีผัดผ่อนเวลาเรื่อยไป เลี่ยงการเผชิญปัญหาหลัก ไม่สนใจว่ามันจะจบอย่างไร หรือไม่

  • คุณเก็บกดความไม่พอใจไว้ โดยไม่แสดงออกหรือไม่

การเข้าใจวิธีที่ตัวเราใช้ผจญความเครียดในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะทำไปโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ล้วนแล้วเป็นพื้นฐานให้วางแผนจัดการความเครียดในอนาคตได้รอบคอบรัดกุมขึ้น

แผนจัดการความเครียด

  1. หลีกเลี่ยงต้นเหตุของความเครียด

  2. ปรับเปลี่ยนต้นเหตุของความเครียด

  3. อะไรที่เลี่ยงไม่ได้ ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ให้ยอมรับมัน

  4. เพิ่มศักยภาพตนเองในการเผชิญความเครียดงานวิจัยทางการแพทย์สรุปว่า สิ่งต่อไปนี้ทำให้คนเรามีศักยภาพที่จะเผชิญความเครียดได้มากขึ้น

  • ฝึกให้ร่างกายตอบสนองต่อความผ่อนคลายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน จะด้วยวิธีใดก็ได้ เช่น นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจแบบลึก รำมวยจีน ฝึกโยคะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น

  • ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่แนวส่งเสริมสุขภาพ ได้แก่ (1)ออกกำลังกาย (2)รับประทานอาหารให้ถูกต้อง (3)นอนหลับและพักผ่อนให้เพียงพอ (4)ลด ละ เลิกสารกระตุ้นต่างๆ

  • การหัวเราะและการมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ

  • เปลี่ยนกรอบความคิดไปสู่การคิดบวก

  • หันไปทำเรื่องที่ทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงใจบ้าง เช่น หาเวลาไปเดินเล่น ไปอยู่กับธรรมชาติ จุดเทียนหมอ เขียนบันทึก นอนแช่น้ำนานๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง ทำสวน ดมดอกไม้ อ่อนหนังสือดีๆ ไปใช้บริการนวดคลายเครียด ฟังดนตรี ดูหนังตลก เล่นเปียโน เขียนภาพ ถีบจักรยาน ดูดาว เป็นต้น



ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/27072

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล