'ปวดศีรษะที่พบบ่อย-เครียดและไมเกรน'

by kadocom @22-2-55 10.11 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 51,225 bytes.

เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการ"ปวดศีรษะ" นับเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราได้บ่อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ที่เป็นได้มากด้วยเช่นกัน อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในสมองของผู้ป่วย และปัจจัยภายนอก แต่ละส่วนยังสามารถแยกออกเป็นโรคได้อีกหลายชนิด ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพเราไปร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และทางเลือกในการรักษาว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง พร้อมทั้งแนวทางในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะ


อาการปวดศีรษะ มีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน แนวทางการรักษาจึงสามารถจำแนกออกได้หลายส่วน ทั้งการรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการรักษาโดยไม่ใช้ยา การพิจารณาวิธีในการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ สำหรับสาเหตุของการปวดศีรษะที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ


การปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากในสมอง (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเนื้อสมอง) เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ความดันสมองเพิ่มผิดปกติ ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบเป็นต้น โดยสามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกายทางสมอง การซักประวัติผู้ป่วย รายละเอียดของการปวดศีรษะ ลักษณะการปวด ตำแหน่ง เวลาที่เกิดอาการ ระยะเวลาการปวด ความรุนแรง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก และเมื่อพบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนจะตรวจเพิ่มเติมด้วย คลื่นสนามแม่เหล็ก(Magnetic Resonance Imaging :MRI), การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง (Computerized Tomography : CT Scan) หรือการเจาะหลังเพื่อหาสาเหตุของโรค


การปวดศีรษะแบบไม่พบสาเหตุชัดเจน โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ไมเกรน การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว


ไมเกรน คือ โรคของระบบการรับความรู้สึกของเส้นเลือดไวผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดตุ๊บๆ ปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง ไมเกรนมีอาการเฉพาะตัวคือ ปวดตุ๊บๆ ปวดรุนแรง ปวดติดต่อกัน 4-72 ชม. ปวดข้างเดียว หรือย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่ง เป็นๆ หายๆ ซึ่งไมเกรนจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้น เช่น รอบเดือน อาหารบางชนิดและอาจมีสัญญาณนำที่เรียกว่า "ออร่า"


การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension-type headache) จะมีอาการปวดเป็นประจำ ปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก ทั่วศีรษะ ปวดช่วงที่อากาศร้อน บ่ายๆ เย็นๆ หลังจากทำงานมานานๆ สาเหตุของโรคเกิดจากการใช้สายตามาก นั่งทำงานนานๆ เครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ

แนวทางการรักษา เมื่อตรวจวินิจฉัยและทราบสาเหตุของการปวดศีรษะแล้ว แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการ และสำหรับการรักษาการปวดศีรษะแบบไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาทางยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา มีดังนี้


-การทำกายภาพบำบัด สำหรับหลักการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดกับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอ เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอเพราะโดยปกติผู้ที่ปวดศีรษะบ่อยๆ จะมีอาการปวดต้นคอทั้ง 2 ข้างร่วมด้วย โดยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่ให้ความร้อนเช่น การประคบแผ่นร้อน การนวดด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์และการนวดด้วยมือตามตำแหน่งที่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ และเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอมีการคลายตัวจะส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงเป็นการช่วยบรรเทาอาการปวดคอและผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ อาจทำให้อาการปวดศีรษะอาจบรรเทาลง แต่ทั้งนี้ผลที่ได้จะขึ้นกับโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ


สำหรับผู้ป่วยปวดศีรษะที่ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ คือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบสมอง และประสาท เช่น โรคเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์จะส่งต่อให้รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอ



ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/26955

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล