ไมเกรน...ไม่น่ากลัว

by kadocom @6-2-55 11.38 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 300x260 pixel , 8,001 bytes.

โรคไมเกรน (MIGRAINE) เป็นโรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรง และรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัว หรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าอาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบบ่อยในประชาชนทั่วไป อาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ มากมาย ในทางการแพทย์แบ่งอาการปวดศีรษะออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. อาการปวดศีรษะชนิดเฉียบพลัน มักมีสาเหตุจากการอักเสบ หรือติดเชื้อในบริเวณโพรงจมูก คอ ปาก หู และตา
  2. อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งมักมีสาเหตุใหญ่ๆ เพียง 2 ชนิด คือ
    1. โรคไมเกรน
    2. โรคปวดศีรษะจากความเครียด

ส่วนภาวะเนื้องอกในสมอง หรือการตกเลือดในสมองนั้น พบได้น้อยมากไม่ถึง 0.01%  ของผู้ที่มีอาการปวดศีรษะทั้งหมด ดังนั้น ถ้าใครปวดศีรษะ และกังวลว่าตนเองจะมีเนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมอง มีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก แต่มักจะปวดศีรษะจากความเครียด หรือโรคไมเกรนมากกว่า

โรคไมเกรน ไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรค ถือเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้ซึ่งมีอยู่มากมายในสมอง ก็จะมีการบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำ แต่ไม่มากจึงไม่รู้สึกปวดศีรษะ

อาการ

ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกัน หรือเป็นสลับข้างกันได้
  2. ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ๊บๆ นานครั้งหนึ่งๆ เกิน 20 นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรงอาจปวดนานเป็นวันๆ หรือสัปดาห์ก็ได้ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆ ในสมองก็ได้
  3. อาการปวดศีรษะมักเป็นรุนแรง และส่วนมากจะมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอโดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้
  4. อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว 10-20 นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับแสงจ้าสะท้อน หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำหน้ามาก่อน

โรคไมเกรน พบบ่อยในผู้หญิงวัยสาวระหว่าง 20-40 ปี ในเด็ก และผู้สูงอายุ พบน้อย ผู้ชายพบว่าเป็นไมเกรนน้อยกว่าผู้หญิง 3-4 เท่าตัว แต่ถ้าผู้ชายเป็น มักมีอาการรุนแรงกว่า โดยมีอาการปวดตาข้างใดข้างหนึ่ง น้ำตาไหล ตาแดง ปวดรุนแรงมากติดต่อกันเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ และอาจเป็นซ้ำ บ่อยๆ ทุก 6-12 เดือน โรคไมเกรน พบบ่อยกับสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวที่เป็นผู้หญิง เช่น แม่ น้องสาว น้า ป้า เป็นต้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

  1. ภาวะเครียด
  2. การอดนอน
  3. การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
  4. ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
  5. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
  6. อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไมเกรน จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตตนเองว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคไมเกรนในตนเองเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและแก้ไขได้ตรงจุด

โรคไมเกรน ก่อให้เกิดภาวะปวดศีรษะเรื้อรังนานเป็นปีๆ บางรายอาจนานเป็นสิบๆ ปี จึงมักทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลว่า ทำไมตนเองจึงไม่ยอมหายจากภาวะปวดศีรษะนั้น และวิตกว่า จะมีความผิดปกติในสมองต่างๆ เช่น เนื้องอกหรือเลือดคั่งในสมอง หรือเกรงว่าจะเกิดอัมพาต หรือพิการตามมาภายหลัง ในกรณีนี้ จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะจากภาวะเครียดเพิ่มขึ้นมาทับถมอีก

การปวดศีรษะจากภาวะเครียดนั้น จะมีอาการปวดแบบตื้อๆ หนักศีรษะทั่วทั้งศีรษะ บางรายจะบอกว่าปวดเหมือนมีอะไรมาบีบรัดโดยรอบหัว อาการนี้จะเป็นมากตอนบ่ายๆ หรือสายๆ ช่วงเช้าไม่ค่อยปวด หลังนอนพักอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ เพราะเกิดจากการบีบเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะและบริเวณคอ

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไมเกรน จะไม่มีอันตรายใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการพิการหรือทุพพลภาพตามมาแต่อย่างใด อาการปวดศีรษะชนิดไมเกรนนี้จะลดความรุนแรงลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเลยวัยหมดระดูไปแล้ว จะพบผู้ป่วยไมเกรนน้อยมาก

โรคไมเกรน เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ไม่มีวิธีการวินิจฉัยทางอื่นใด ดังนั้นการเจาะเลือด เอกซเรย์ หรือการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรค

การปวดศีรษะจากโรคไมเกรนนี้ มักรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาที่ได้ผลดีคือ ยาแก้ปวดแอสไพริน ขนาด 2 เม็ด ในขณะปวด แต่ข้อระวังห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด อาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้ ในผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่า จะมีโรคกระเพาะหรือไม่ ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือนมร่วมด้วย ป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล