'เกลียด กลัว หนี' คาถาป้องกัน 'ยาเสพติด'

by kadocom @5-10-54 08.40 ( IP : 203...35 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 71,483 bytes.

จากข้อมูลของเอแบคโพลล์ที่ได้มีการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ของเยาวชนไทยใน 17 จังหวัด พบว่ามีการใช้ยาเสพติดประเภทต่างๆ ที่ไม่นับรวมเหล้าและบุหรี่ มากถึง 1,715,447 คน โดยเสพกัญชามากที่สุด รองลงมาก็คือยาบ้า ซึ่งจากผลสำรวจเป็นที่น่าตกใจว่าเด็กอายุเพียง 7ขวบก็เริ่มเสพยากันแล้ว และข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างคือเด็กที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่จะเสพยาหรือทดลองใช้สารเสพติดมากถึง 5เท่าเลยทีเดียว


จากสถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหายาเสพติดกำลังเป็นภัยคุกคามเด็กและเยาวชนที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งแก้ไข ซึ่ง นพ.วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ ได้สะท้อนผ่านมุมมองและประสบการณ์ในการทำงานด้านการบำบัดผู้ที่ติดสารเสพติดได้อย่างน่าสนใจว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เยาวชนไทยเริ่มใช้สารเสพติดเร็วขึ้นเพราะสารเสพติดประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และเครื่องดื่มชูกำลังได้รับอนุญาตในการโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างเปิดเผยในสังคมไทย ทำให้เด็กและเยาวชนทดลองได้ง่าย จึงเป็นประตูนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ จนเกิดภาวะสมองติดยา


การใช้ยาเสพติดจะมีผลต่อสมอง 2 ส่วน คือสมองส่วนนอกหรือสมองส่วนคิด (Cerebral Cortex) และสมองส่วนที่อยู่ชั้นในหรือสมองส่วนอยาก (Limbic System) สมองส่วนคิดทำหน้าที่ควบคุมสติปัญญา ใช้ความคิดแบบมีเหตุผล ขณะที่สมองส่วนอยากเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกเวลาคนเราเสพยาเสพติด ตัวยาจะไปกระตุ้นทำให้สมองสร้างสารเคมีชื่อโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกมีความสุข แต่ยาเสพติดทำให้สมองสร้างโดปามีนมามากกว่าที่ธรรมชาติกำหนดจนทำให้รู้สึกเป็นสุขมากขึ้นกว่าปกติ สมองจึงมีการปรับตัวด้วยการลดการหลั่งสารเคมีนั้นลง เมื่อหมดฤทธิ์ของยาเสพติด จึงเสมือนว่าร่างกายมีอาการขาดสารโดปามีน มีอาการหงุดหงิด หรือซึมเศร้า


ผู้เสพพยายามแสวงหายามาใช้ซ้ำ ทำทุกวิถีทางให้ได้ยาเสพติดมาเสพ และเมื่อสมองไม่ได้รับการกระตุ้นจากยาเสพติด โดปามีนตามธรรมชาติก็ไม่พอสร้างความสุขจนเกิดอาการทุรนทุราย เมื่ออยากมีความสุขก็ต้องพึ่งยาเสพติด สมองจึงจะหลั่งโดปามีนมามากพอจนเกิดความสุขได้ อาการเช่นนี้เรียกว่า สมองติดยา ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นโรคจิตเภทเต็มขั้นได้ในที่สุด เนื่องจากสมองได้ถูกทำลายไปแล้ว

เมื่อใช้ยาเสพติดบ่อยๆ ก็จะทำให้สมองส่วนคิดถูกทำลาย การใช้ความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลจะเสียไปแล้วสมองส่วนอยากจะอยู่เหนือสมองส่วนคิด จนทำอะไรตามใจตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล เรียกง่ายๆ ว่าความเป็นคนหายไป เหลือแต่สัญชาตญาณ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ทำให้ผู้ที่ใช้ยามักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีอารมณ์ก้าวร้าว หงุดหงิด ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น การปล้น จี้เด็กเป็นตัวประกันลักขโมย หรือก่อเรื่องที่ผิดศีลธรรมผิดกฎหมายขึ้นเพื่อที่จะหาทางเสพยาเสพติด จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคม


นพ.วศิน แนะข้อควรปฏิบัติและวิธีที่จะช่วยทำให้เด็กหลุดพ้นจากยาเสพติดได้ ซึ่งทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์จะต้องช่วยกัน โดยให้ยึดหลัก 3 คาถาป้องกันยาเสพติด คือ "เกลียด กลัว หนี" ดังนี้

  1. เกลียด พ่อแม่และครูจะต้องเน้นย้ำถึงพิษภัยของยาเสพติดให้เข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็กให้ได้ทำให้เด็กรู้สึกเกลียดยาเสพติด ปรับทัศนคติให้มีเชิงลบ ต้องให้เด็กไม่ชอบ ไม่ใช้ แต่ตราบใดที่เด็กยังคิดว่า ยาบ้า ยาไอซ์ กัญชา หรือยาเสพติดที่ถูกกฎหมายอย่าง สุรา บุหรี่ หรือเครื่องดื่มชูกำลัง เมื่อเสพแล้วจะทำให้มีความสุข ฮึกเหิม สนุก ครึ้มอกครึ้มใจ ดื่มนิดดื่มหน่อยคงไม่เป็นไร คงหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นทาสของยาเสพติด


  2. กลัว พ่อแม่และครูจะต้องสอนว่าการใช้ยาเสพติดนอกจากจะเป็นผลเสียต่อร่างกายและอวัยวะส่วนต่างๆ แล้ว ยาเสพติดยังไปทำลายสมองอีกด้วยทำให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์เหตุผลเสียไป ทำให้การเรียน การงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบแย่ลง โดยจะต้องช่วยกันให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เด็กและทำให้เด็กกลัวว่าการใช้ยาเสพติดอาจทำให้เจ็บป่วยได้ เช่น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคจิตเภทติดเชื้อเอชไอวี ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย เป็นต้น โดยอาจจะพาเด็กไปเห็นตัวอย่างผู้ป่วย หรือที่โรงพยาบาลเป็นต้น


  3. หนี คือต้องพยายามพาเด็กหลีกเลี่ยงสังคมที่มียาเสพติดให้ได้ เพราะเด็กบางคนมีเพื่อนที่สนิทกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา อาจถูกชักชวนให้ใช้ยาเสพติด จะต้องพาเด็กหนีออกจากสังคมเพื่อนที่ใช้ยาเสพติดให้ได้ ถ้าคิดจะเลิกและไม่ใช้ยาเสพติดจะต้องหนีไปให้ไกล เพราะถ้าไม่หนีสักวันอาจจะต้องเข้าไปใช้ยาเสพติดได้ ต้องหลีกเลี่ยง ร้านอาหาร ผับ บาร์และสถานที่เที่ยวกลางคืนทั้งหลายที่มียาเสพติดแฝงอยู่ อาจจะทำให้เด็กเข้าไปใช้ยาเสพติดได้ ต้องสร้างสังคมใหม่ๆ ให้กับเด็ก ปรับวิถีชีวิตที่ไม่สุ่มเสี่ยงกับยาเสพติด เช่น พาไปออกกำลังกาย เล่นดนตรี เข้าฟิตเนส แบดมินตัน เทนนิส หรือกิจกรรมสร้างสรรค์กับครอบครัว อ่านหนังสือ ดูต้นไม้ เลี้ยงสัตว์



ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/24642

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล