บุหรี่ภัยร้ายลึก ยิ่งห้ามยิ่งสูบ

by kadocom @1-6-54 10.51 ( IP : 203...38 ) | Tags : งานวิจัยของศูนย์ฯ
photo  , 285x145 pixel , 54,589 bytes.

"บุหรี่" ใครจะรู้ว่ามันเป็นภัยร้ายใกล้ตัว ที่ผ่านมาโครงการรณรงค์ต่างๆมักให้ความรู้อยู่เป็นประจำว่าสามารถทำให้เกิดโรคได้สารพัดโรคตั้งแต่โรคในช่องปาก ฟันผุ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด เป็นต้น นอกจากที่เจ้าตัวผู้สูบจะป่วยแล้วยังเป็นผู้นำโรคร้ายไปสู่คนใกล้ชิดอีกด้วย


"บุหรี่มือสอง" ที่เรียกว่า ผู้ที่ไม่ได้สูบแต่ได้รับกลิ่นก็ต้องได้รับโรคร้ายไปโดยปริยาย  แม้ว่าจะมีการรณรงค์กันมาอย่างต่อเนื่องทั้งปี สถิติผู้สูบดูเหมือนจะไม่ลดลงแถมขยายกลุ่มไปสู่ผู้หญิงและเด็กด้วยซ้ำไป "31 พฤษภาคม" และทุกวันที่ ของทุกปีจะเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" เหล่าสิงห์อมควันทั้งหลายคงอึดอัดในวันนี้


สถานการณ์ยังน่าห่วง


"น.พ.ชัย กฤติยาภิชาติกุล"  ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย บอกว่า วันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2554นี้จะเน้นการรณรงค์ "พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่" โดยองค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการตามพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก


ประเทศไทยเอง แม้ดำเนินการตามข้อกำหนดในอนุสัญญาไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่สถานการณ์ล่าสุดที่สำรวจเมื่อปี 2552 พบว่าคนไทยสูบบุหรี่สูงถึง 12.5 ล้านคน เป็นเพศชาย 45.6% และ เพศหญิง 3.1% และผู้ไม่สูบบุหรี่ยังได้รับควันบุหรี่จากที่ต่างๆ ในระดับสูง ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้เป็นที่ห้ามสูบ เช่น 54% ของผู้ไม่สูบได้รับควันบุหรี่บริเวณตลาด 23.6% ได้รับควันในอาคารที่ทำงาน และ 34.2% ได้รับจากที่บ้าน


สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยที่เคยลดลงมาก่อนหน้านี้ กลับเพิ่มขึ้นระหว่าง ปี 2549 - 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งการควบคุมยาสูบของไทยควรต้องเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องอีกมาก เพื่อให้ทันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้กับกลยุทธ์การตลาดรูปแบบต่างๆ ของธุรกิจยาสูบที่พัฒนาไปอย่างมาก เพื่อมุ่งทำให้มีผู้สูบเพิ่มขึ้นโดยเฉพะกลุ่มเยาวชนและสตรี


กลยุทธ์ผู้ผลิตจูงใจหนัก


เมื่อคนรณรงค์ให้ละเลิกสูบกันแต่ทำไมจึงลดลงไม่ได้ "ศ.น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ"  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เล่าว่า สาเหตุสำคัญที่การสูบบุหรี่ของคนไทยไม่ลดลงเพราะบริษัทบุหรี่ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาผู้สูบบุหรี่ไว้ และเพิ่มจำนวนผู้ติดบุหรี่ใหม่ขึ้นมา ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ทั้งโรงงานยาสูบและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ มีการกระทำที่เข้าข่ายโฆษณา และส่งเสริมการขายทั้งทางตรงและทางอ้อม และกิจกรรมที่อ้างว่าทำเพื่อสังคม เช่น สนับสนุนเงินทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับโรงเรียน สมาคมและมูลนิธิต่างๆ องค์กรท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานราชการ รวมถึงการบริจาคสิ่งของให้แก่หน่วยงานต่างๆ


ซึ่งกิจกรรมนั้นๆ บริษัทบุหรี่ทำด้วยเหตุผล เพียงเพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ขององค์กรที่เสียหาย  จากการขายสินค้าเสพติดที่ทำลายสุขภาพ สร้างความสัมพันธ์กับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อยับยั้งมาตรการควบคุมยาสูบ ลดความกระตือรือร้นควบคุมยาสูบ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับสื่อทำให้สื่อไม่กระตือรือร้นสนับสนุนการควบคุมยาสูบ เพื่อลดทอนกระแสการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ของสังคม ปิดปากบุคคล องค์กรที่รับการสนับสนุนด้วยการบริจาค เบี่ยงเบนความสนใจของสังคมและผู้กำหนดนโยบายจากธุรกิจหลักของบริษัท และสร้างการยอมรับการสูบบุหรี่ (Mental framing about smoking)


ด้าน "ผศ.ดร.กิตติ กันภัย" นักวิชาการจาก คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าบริษัทบุหรี่ข้ามชาติและโรงงานยาสูบไทย ได้ละเมิดกฎหมายควบคุมยาสูบโลก หรือ FCTC มาตรา 13 อย่างแน่นอน ซึ่งมาตราดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า "การโฆษณาและการส่งเสริมการขายยาสูบ" คือ  รูปแบบใดก็ตามของการสื่อสาร การแนะนำ หรือการกระทำเชิงพาณิชย์ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม รวมถึง "การเป็นสปอนเซอร์ของยาสูบ" คือ "รูปแบบใดก็ตามของการอุดหนุนแก่เหตุการณ์พิเศษ กิจกรรม หรือบุคคลใดๆ โดยมีจุดมุ่งหมาย ผล หรือผลที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือการใช้ยาสูบ ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม"


"การกระทำแบบนี้ของบริษัทบุหรี่เท่ากับเป็นการท้าทายกฎหมาย สวนกระแสโลกและสังคมที่ต้องการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น การออกบูธตามงานเทศกาลต่างๆ ใช้พริตตี้ตามผับ บาร์ จัดทัวร์ดนตรี การทำแบบนี้ไร้คุณธรรมและไม่ยุติธรรมต่อสังคม เพราะบริษัทบุหรี่ต้องการรักษาการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดบริษัทบุหรี่ต้องการรักษายอดขายและเป้าหมายในการทำกำไร จึงอยากเรียกร้องให้บริษัทบุหรี่หยุดการกระทำเหล่านี้อย่างสิ้นเชิงและโดยทันที และขอให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ โรง เรียน สมาคม มูลนิธิต่างๆ รู้ให้ทันบริษัทบุหรี่และยุติการรับเงินจากบริษัทบุหรี่" ผศ.ดร.กิตติบอก


รุกตลาดขายบนสื่อออนไลน์


นอกจากการขยายภาพมาในลักษณะกิจกรรมแล้ว "ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช" นักวิชาการ นักวิจัย จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากการศึกษาข้อมูลการสำรวจตลาดบุหรี่ออนไลน์พบว่า มีการทำตลาดบุหรี่ออนไลน์อยู่เป็นจำนวนมาก หลากหลายรูปแบบ ที่ท้าทายการควบคุมยาสูบของไทย ซึ่งบริษัทบุหรี่ได้ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างผิดกฎหมายในไทย


โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านทางอินเตอร์เน็ตอย่างเปิดเผยและมีจำนวนมาก แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายห้ามโชว์บุหรี่ตามร้านค้า เพื่อป้องกันการโฆษณาบุหรี่เข้าถึงเยาวชน แต่ยังคงมีการเปิดเว็บไซต์ขายบุหรี่ผ่านอินเตอร์เน็ต จึงเปรียบได้กับการเปิดตู้บุหรี่ โชว์สินค้าบุหรี่ผ่านทางออนไลน์ ทำให้ผู้ขายบุหรี่ ได้โฆษณาสินค้า ด้วยซองที่สวยงาม สีสันสะดุดตา ไม่มีคำเตือนบนซอง ราคาถูก และซื้อขายได้ง่าย เพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ และโอนเงินผ่าน ATM นอกจากนี้ยังมีทั้งการโฆษณาผ่าน Social Marketing ในรูปแบบเกมบน Facebook วิดีโอคลิปผ่าน YouTube และอื่นๆ อีกมากมาย"


ควรช่วยกันเฝ้าระวังสื่อเหล่านี้และร่วมแจ้งข้อมูลการตลาดบุหรี่ออนไลน์ไปยังมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ หรือผ่าน http://www.facebook.com/TobaccoIndustrywatch เพื่อช่วยให้มีนโยบายห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องบนสื่อออนไลน์ และเพื่อไม่ให้เยาวชนไทยจำนวนมหาศาลต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาสินค้าบุหรี่ออนไลน์"


ศ.น.พ.ประกิต ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากส่งเสริมการขายและการสร้างภาพเพื่อลดกระแสการควบคุมยาสูบแล้ว บริษัทบุหรี่ยังเข้าแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐโดยตรง โดยการคัดค้านการเพิ่มขนาดคำเตือนบนซองบุหรี่ การคัดค้านการเปิดเผยส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ การลดทอนประสิทธิภาพของนโยบายขึ้นภาษีโดยการออกบุหรี่ยี่ห้อถูก ๆ เพื่อรักษาลูกค้าไว้ไม่ให้เลิกสูบ และล่าสุดการคัดค้านการขึ้นภาษีและการปรับ


โครงสร้างภาษียาสูบ


"พฤติกรรมของบริษัทบุหรี่ทั้งหมดที่กล่าวแล้วเป็นเรื่องที่น่าละอายอย่างยิ่ง เพราะแม้บุหรี่จะเป็นสินค้าถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่บริษัทบุหรี่ทำเป็นการฝ่าฝืนและท้าทายอนุสัญญาควบคุมยาสูบทั้งสิ้น สังคมไทยควรจะร่วมกันประณามและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการทำผิดเจตนารมณ์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จะทำจดหมายชี้แจงกับโรงเรียน องค์กรต่างๆ หลายร้อยแห่งที่รับทุนและร่วมกิจกรรมกับบริษัทบุหรี่ ทั้งที่ได้รับหรือร่วมกิจกรรมมาแล้ว กับที่จะมีการเปิดเผยในอนาคต เพื่อให้รู้ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบริษัทบุหรี่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการไปร่วมกิจกรรมกับบริษัทบุหรี่" ศ.น.พ.ประกิตกล่าว


เครือข่ายฯ ลุยป้องนักสูบหน้าใหม่


"ศ.พ.ญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์" ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เล่าว่าการรณรงค์เรื่องการสูบบุหรี่ของกลุ่มเครือข่ายที่มีประมาณ 20 องค์กร อาทิ กลุ่มแพทย์ เทคนิคการแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เป็นต้น จะเน้นไปที่การรักษา การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษภัยของบุหรี่ รวมถึงข้อดีของการงดสูบบุหรี่ ที่ผ่านมาในกลุ่มของแพทย์สถิติการสูบลดลงจากเดิมที่ทำการสำรวจปี 2547 มีจำนวน 40,000 คนประมาณ 6% และปี 2552 ลดเหลือ 2.4% และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ


ซึ่งการรณรงค์นั้นจะมีการดำเนินการทั้งปี แต่ในวันที่ 31 พ.ค. จะเป็นวันที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการตรวจร่างกายจนถึงการให้ความรู้ เพราะปัจจุบันการรณรงค์งดสูบบุหรี่ต้องต่อสู้กับบริษัทผู้ผลิตอย่างมาก ทั้งนำบุหรี่ไร้ควัน และรสชาติมาโฆษณาล่อใจ ทั้งที่ภัยของบุหรี่ที่เรียกว่าควันบุหรี่มือสองมีอันตรายสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้างมาก จึงทำการอบรมให้ความรู้กับอสม.ในต่างจังหวัดให้นำความรู้ไปบอกกล่าวกับชาวบ้าน ที่ผ่านมาสถิติคนสูบบุหรี่ปี 2552 มีจำนวน 12 ล้านคนลดลงจากช่วงที่ไม่มีการรณรงค์ที่มีสูงถึง 30 ล้านคน แต่สถิตินี้ยังเป็นการทรงตัวเพราะนักสูบเดิมจะมีทั้งเลิกสูบและบางส่วนเสียชีวิตไปแล้ว


สิ่งที่เป็นเป้าหมายของเครือข่ายคือการป้องกันการเกิดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ขึ้นมา เพราะกลุ่มใหม่นี้มีอายุน้อยลงทุกที นอกจากนี้แล้วต้องการให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจ เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งการให้ความรู้ สอนสนับสนุนและเตือนภัย ทั้งที่ข้อดีของการไม่สูบบุหรี่คือทำให้มีสุขภาพดี แข็งแรงและมีอายุยืนมากขึ้นเพราะมีผลสำรวจที่ชัดเจนว่าภัยของบุหรี่นอกจากเกิดสารพัดโรคทั้งโรคไม่ร้ายแรงจนถึงมะเร็งที่เกินเยียวยาแล้วยังทำให้สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเสื่อมด้วย  จึงควรเร่งให้ความรู้กันจะได้เลิกสูบบุหรี่คนใกล้ตัวไม่เกิดโรคและไม่ได้รับความเดือดร้อนและรำคาญใจด้วย....








ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/22566

Relate topics

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล