บุหรี่..ก่อมะเร็งหน้าใหม่สตรี-เด็ก

by kadocom @19-5-54 08.57 ( IP : 203...34 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 250x250 pixel , 18,535 bytes.

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก”...World No Tobacco Day 2011 ในปีนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญว่า “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ (The WHO Framework Convention on Tobacco Control)”

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมรณรงค์ ที่โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เชิญชวนให้ไปชมนิทรรศการ “ปลอดบุหรี่ ปลอดมะเร็ง” บูธบริการทางการแพทย์ ตรวจมะเร็งช่องปาก และงานเสวนา ถาม-ตอบโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง งานนี้...ฟรีทุกรายการ สอบถามรายละเอียด ลงทะเบียนได้ที่ 0-2354-7025 ต่อ 2215

กิจกรรมที่จัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี มุ่งเน้นเพื่อให้เล็งเห็นถึงอันตรายของบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ รวมถึงผู้ที่ไม่สูบ...แต่ต้องได้รับควันบุหรี่ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เลิกสูบ...ให้รัฐบาล รวมทั้งประชาชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม และเพื่อป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่

ปมเหตุสำคัญ ภัยจากบุหรี่...ก่อให้เกิดความสูญเสียกับชีวิตของคนทั่วโลก และยังสร้างภาระโรคที่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล

รายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1.3 พันล้านคนทั่วโลก และมีประชากรประมาณ 5 ล้านคนเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่

ประเด็นสะท้อนใจ พบอีกว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคน ในปี 2573 หรืออีก 19 ปีข้างหน้า และหากทั่วโลกไม่มีมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่มีประสิทธิภาพ ในศตวรรษที่ 21 จะมีประชากรทั่วโลกราว 1,000 ล้านคน เสียชีวิตเนื่องจากการสูบบุหรี่

ตัวเลขนี้ ต้องถามถึงมาตรการรับมือ...องค์การอนามัยโลกได้เสนออนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งมีมาตรการที่สำคัญๆ เช่น มาตรการด้านราคาและภาษีของบุหรี่ มาตรการควบคุมสารต่างๆ ในบุหรี่ การสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน มาตรการการควบคุมไม่ให้มีการโฆษณาบุหรี่ และการส่งเสริมการขาย อีกทั้งการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบุคคล

สำหรับประเทศไทยมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2535 โดยประกาศกำหนดเขตปลอดบุหรี่อย่างชัดเจนและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในบ้านเรายังมีพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีการห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 2,000 บาท และห้ามการโฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลพวงจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทำให้สถิติในภาพรวมการสูบบุหรี่เมืองไทยลดลงเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน ก็พบว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่มากขึ้น ในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และสตรี

ภัยร้ายจากบุหรี่ คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่า... “บุหรี่” ทำให้เกิดโรคอันตรายหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือโรคมะเร็ง พบว่าร้อยละ 30 ของการเกิดมะเร็งทั้งหมดเกิดจากการสูบบุหรี่

บุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดลม มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งตับ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด myeloid lukaemia หรือแม้แต่ผู้ที่ได้ควันบุหรี่จากคนรอบข้าง หรือควันบุหรี่มือสอง ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยง

ในผู้ใหญ่พบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด และในผู้หญิงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในเด็กจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และเสี่ยงเป็นเนื้องอกในสมองได้อีกด้วย

ดูจากพิษภัยทั้งหมดเหล่านี้...การรณรงค์งดสูบบุหรี่จึงถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง เพราะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งได้ถึง 1ใน 3

ขีดวงเฉพาะประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรณรงค์งดสูบบุหรี่อย่างเข้มแข็ง แต่ข้อมูลในปี 2552 ก็ตอกย้ำความน่าเป็นห่วง เพราะพบว่าคนไทยราว 10 ล้านคน ยังสูบบุหรี่อยู่ เป็นบทสะท้อนสำคัญท้าทายมาตรการทั้งหมดที่จะทำให้สังคมไทยปลอดจากบุหรี่อย่างแท้จริง

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา www.cueid.org บอกว่า สารก่อมะเร็งในบุหรี่.....มีมากกว่าที่คิด สารกัมมันตรังสีมีในบุหรี่มีจริงและจะเข้าไปกับควันที่อัดเข้าไปในปอด ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ แต่นักสูบบุหรี่หน้าเก่า หรือหน้าใหม่ที่สูบเพื่อความเท่ ควรที่จะยับยั้งชั่งใจก่อนจะอัดมวนต่อไป

“อัดควันแต่ละอึกเข้าไปในปอดจะได้สารกัมมันตรังสี Polo-nium 210 พร้อมกับสารพิษก่อมะเร็งที่ทราบกันดีอยู่แล้วอีกมากมาย ประมาณว่าถ้าสูบวันละ 1 ซองครึ่ง คือ 30 ตัวต่อวัน จะได้ขนาดรังสี เท่ากับไปเอกซเรย์ปอด 300 ครั้งต่อปี...”

คุณหมอธีระวัฒน์ บอกว่า ข้อมูลนี้เป็นบทความที่เขียนโดย Brianna Rego ในวารสาร Scientific American ฉบับเดือน มกราคม 2554 และรายละเอียดจาก ดร.รีโกได้นำไปเป็นหลักฐานให้สมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ...

ความจริงบริษัทบุหรี่ทราบเกี่ยวกับ Polonium 210 มาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่นิ่งเฉยและเก็บเป็นความลับมาตลอด ผลจากการค้นคว้าศึกษาทำให้เกิดความกังวลถึงอันตรายที่ Polonium จะก่อให้เกิดมะเร็งทั้งในปอดและในที่ต่างๆ เนื่องจากได้รับสารกัมมันตรังสีต่อเนื่องเป็นเวลานานเป็นปีๆ จากการสูบบุหรี่ แม้ว่า Polonium จะมีในบุหรี่แต่ละตัวไม่มากก็ตาม

ในปี 2517 เป็นที่ยืนยันในสัตว์ทดลอง โดยที่ร้อยละ 94 ของตัวหนูแฮมสเตอร์ที่ได้รับ Polonium เข้าในทางเดินหายใจจะเกิดเนื้องอกในปอด ทั้งนี้ ปริมาณของ Polonium ที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก โดยไม่ก่อให้มีการอักเสบของเนื้อเยื่อด้วยซ้ำ

หลังจากปีนี้เองได้มีการค้นพบสารก่อมะเร็งต่างๆ ในบุหรี่ อาทิ Polycyclic aromatic hydrocarbons และ Nitrosamines แต่เป็นที่ประมาณการว่า Polonium 210 เป็นตัวการทำให้เกิดมะเร็งปอด อย่างน้อยร้อยละ 2

ที่สำคัญ...เป็นไปได้ที่ทั้ง Polonium และสารก่อมะเร็งตัวอื่นๆ อาจจะเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกันอีกด้วย ทำให้เกิดเป็นมะเร็งในอัตราที่สูงขึ้นไปอีก

ในข้อมูลเป็นล้านชิ้น มีอยู่หลายพันรายการที่แสดงว่า Polonium เป็นหัวข้อที่บริษัทบุหรี่ให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่บริษัทต้องติดคำเตือนบนซองบุหรี่ และในโฆษณาว่าการสูบบุหรี่เป็นภัยต่อสุขภาพ นอกจากนี้ บริษัทบุหรี่ในสหรัฐฯยังคงศึกษาต่อถึงกระบวนการที่จะกำจัด Polonium

อาทิ ใส่สารบางอย่างในยาสูบซึ่งจะทำปฏิกิริยากับตะกั่ว และ Polonium เพื่อกันไม่ให้แพร่เข้าไปในควันบุหรี่ หรือมีตัวกรอง Polonium ในควันบุหรี่ หรือการล้างในยาสูบด้วย hydrogen peroxide

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญมากกว่า 90% ของการตายจากมะเร็งปอดในคนประมาณ 1.3 ล้านคนในปีหนึ่งๆ ถึงแม้ในอนาคตเราจะสามารถขจัด Polonium ได้แล้ว แต่แน่นอนสารก่อมะเร็งมากหลายยังอยู่ในบุหรี่

คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ทิ้งท้ายสั้นๆว่า “เลิกดูดบุหรี่เถอะครับ อาจยังไม่สาย”

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล