รับรู้รับมือกับความเครียดด้วยปัญญา

by kadocom @12-5-54 08.49 ( IP : 203...34 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 311x212 pixel , 30,727 bytes.

ทุกครั้งที่เกิดความเครียดขึ้นมา เคยสังเกตตัวเองไหมคะว่า เรารับรู้และจัดการกับมันอย่างถูกวิธีเหมาะสมหรือไม่ ความเครียด เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกาย จิต สังคม ที่มีความสำคัญทุกส่วนและส่งผลซึ่งกันและกันเมื่อประสาทรับความรู้สึกทั้งห้ารวมทั้งสัญชาตญาณส่วนตัวกำลังเผชิญกับบางสิ่งบางอย่าง จนทำให้จิตใจไม่สงบ วุ่นวายใจ สับสน กดดัน ไม่พึงพอใจ ทุกข์ใจ ในที่สุดก็เกิดความแปรปรวนทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เมื่อความเครียดมาเยือน จะมีอาการหลายอย่างแตกต่างกันตามระดับของความเครียด ให้สังเกตตัวเราหรือคนรอบข้างดังนี้

ระดับแรก ความเครียดต่ำๆ ช่วยให้มีความตื่นตัว การรับรู้เฉียบคม ฉับไว

ระดับที่สอง ตึงเครียด ปวดศีรษะ พลังเริ่มถดถอย

ระดับที่สาม สมาธิลดลง หงุดหงิด โกรธ มีความรู้สึกต่อต้าน

ระดับที่สี่ ตัวสั่น ใจเต้นแรงและเร็ว มือเย็น เหงื่อออกชุ่ม มีอาการคล้ายจะเป็นลม

ระดับที่ห้า เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ หมดความอดทน รู้สึกไร้ค่า ไร้ความสามารถ ขมขื่น มีปัญหาสุขภาพได้จากทุกระบบของร่างกาย ระดับนี้ต้องได้รับการรักษา

จะว่าไปแล้ว ความเครียดระดับต้นเป็นสิ่งที่ดี ทำให้คนเราไม่เฉื่อยชา และเป็นแรงขับให้มีกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามีมากขึ้น กลับจะไปลดภูมิต้านทานของร่างกายให้น้อยลง ยิ่งเครียดมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาทางกายและสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะความเครียดที่เกิดกับโรคทางกายต่างๆ หรือทำให้โรคประจำตัวมีอาการมากขึ้น และถ้าผู้นั้นมีความเครียดเรื้อรัง ก็ยิ่งเป็นอันตรายต่อโรคความดันโลหิตสูง หัวใจวาย เส้นเลือดในสมองแตก และโรคซึมเศร้า จนอาจฆ่าตัวตายในที่สุด

อย่ากระนั้นเลย เรามีกลยุทธ์ป้องกันความเครียดได้ เริ่มจากพูดหรือระบายออกมากับคนคุ้นเคยหรือผู้เชี่ยวชาญ แทนที่จะเก็บกดหรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่า เป็นคนไม่ดี ถ้าบอกให้รู้ว่าเราไม่ชอบหรือไม่พอใจ โดยที่เราต้องเลือกว่าจำเป็นไหมที่จะต้องหน้าชื่นอกตรม มีใครบ้างที่เกิดมาสมบูรณ์แบบหรือไม่เคยมีปัญหาควรเรียนรู้ที่จะปฏิเสธ คนที่จะมีสุขภาพจิตดีได้ ต้องสามารถรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่น

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเครียด ต้องหนีจากเรื่องที่เครียดนั้นๆ ไปชั่วคราว เช่น หาที่สงบเป็นส่วนตัวแล้วใช้จินตนาการเพื่อความผ่อนคลาย คิดถึงสิ่งที่ทำให้มีความสุขและให้รู้สึกถึงภาวะผ่อนคลายนั้นจริงๆ เมื่อรู้สึกได้แล้วจำเรื่องหรือสิ่งนั้นไว้เป็นคาถาประจำตัว เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกเครียดก็ให้นึกถึงบรรยากาศนั้น จะเป็นทางลัดทำให้เกิดความรู้สึกดีๆและผ่อนคลายได้ทันที ทั้งนี้ เพราะการออกไปจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นั้น ก็เพื่อตั้งหลักให้แข็งแรงขึ้น ก่อนที่จะกลับมาเผชิญและแก้ไขปัญหา ดีกว่าการประจันหน้าทั้งๆ ที่ไม่พร้อม และฝึกทักษะการแก้ปัญหา เช่น ลองจัดลำดับความสำคัญหรือความเร่งด่วนของสิ่งที่จะต้องทำก่อน แล้วทำไปทีละอย่างตามความเหมาะสม น่าจะช่วยให้ไม่เครียดหรือลนลาน จะได้ผลดีกว่า

เมื่อเกิดความเครียดในคราวต่อไป ลองปรับความเครียดด้วยปัญญา รู้เท่าทันตามความเป็นจริง จะทำให้มีโอกาสพบกับทางเลือกหรือช่องทางออกที่สามารถแก้ไขและปรับตัวได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น ลองทำตามนะคะ

  1. ฟังเสียงจากภายในตัวเองอย่างซื่อสัตย์เพราะเป็นสัญญาณบอกว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร
  2. ทบทวนหาสาเหตุที่แท้จริงของความเครียดนั้นๆ โดยทำตัวสบายๆ เดินสายกลาง รู้จักยืดหยุ่น
  3. ยอมรับสภาพความเป็นจริงของชีวิตในปัจจุบัน พร้อมและเต็มใจที่จะแก้ไขและพัฒนาตัวเอง
  4. บอกตัวเองว่าแม้จะแก้ไม่ได้ดังใจก็ไม่เป็นไร แต่ก็ไม่ท้อ เรื่องบางเรื่องต้องการเวลาและโอกาสที่ยังไม่มีในขณะนี้ วันหนึ่งโอกาสก็จะเวียนมาหา
  5. ช่วยเหลือคนอื่นเท่าที่ทำได้ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเรายังมีคุณค่า
  6. เปลี่ยนแปลงสภาพรอบๆ ตัวให้ดูดีขึ้น เช่น จัดตกแต่งบ้านหรือสวนให้สวยงามแปลกตา น่าดู
  7. ถามตัวเองว่าถ้าไม่ทำเพื่อตัวเองแล้ว จะรอใครมาทำให้ และถ้าไม่ลงมือเดี๋ยวนี้ จะเริ่มเมื่อไหร่ทุกข์ของใคร ต้องดับด้วยคนคนนั้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ โดย รศ.กนกรัตน์ สุขะตุงคะ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล