ลืมบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องปกติ

by kadocom @11-4-54 15.02 ( IP : 203...34 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 262x193 pixel , 22,163 bytes.

ในชีวิตคนเราอย่างน้อยจะมีสักครั้งที่เราลืม หรือจำไม่ได้ ในสิ่งที่ผ่านเข้ามา บางคนลืมบ่อยจนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าการที่เราลืมบ่อยหรือจำไม่ได้นั้นเป็นสิ่งผิดปกติหรือไม่ เพราะหากสิ่งที่ลืมหรือจำไม่ได้มีลักษณะดังต่อไปนี้ อาจเสี่ยงกับโรคสมองเสื่อมได้ เช่น

  1. ลืมเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นนาที เป็นต้น เป็นสัปดาห์
  2. สิ่งที่ลืมมักเป็นสิ่งที่มีผลกระทบกับตัวเอง ไม่ว่าในด้านชีวิตประจำวัน การงาน การเข้าสังคม และกระทบต่อคนอื่น เช่น ครูลืมว่า ชั่วโมงต่อไปต้องเข้าสอน ลืมรับประทานอาหาร นึกว่ารับประทานแล้ว
  3. ถ้าย้อนนึก หรือพยายามลำดับเหตุการณ์สิ่งที่ลืมก็ไม่สามารถระลึกได้ พูดง่ายๆ ก็คือนึกเท่าไรก็นึกไม่ออก
  4. สิ่งที่ลืมต้องเป็นสิ่งที่เราจดจ่อ หรือมีสติอยู่กับสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่จดจ่อกับสิ่งหนึ่งแล้วลืมสิ่งหนึ่ง เช่น เอาหนังสือไปวางไว้ และรีบวิ่งเข้าห้องสอบ พอสอบเสร็จจำไม่ได้ว่า วางอยู่ที่ไหน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ปกติ
  5. สิ่งที่ลืมเกิดขึ้นแล้วซ้ำอีก ดังนั้นต้องสังเกตตัวเอง

ถ้ามีลักษณะของการลืม หรือจำไม่ได้ตาม 5 ข้อข้างต้น ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อ ให้สงสัยว่าอาจจะมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ ให้สังเกตคนรอบข้างหรือตัวเองว่าเป็นโรคสมองเสื่อมได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. พูดประโยค หรือคำซ้ำๆ
  2. จำชื่อลูก หลาน เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งเรียกชื่อสิ่งของไม่ได้ เช่น สามารถบรรยายลักษณะรูปร่างหน้าตาได้ แต่บอกชื่อไม่ได้
  3. หลงทางบ่อยๆมักเริ่มต้นที่ในบ้านก่อน เช่น เดินหาห้องน้ำไม่เจอ เมื่อออกนอกบ้านหาทางกลับบ้านไม่ถูก หรือเดินในห้างสรรพสินค้าที่เดินอยู่ประจำแล้วหาทางออกไม่ได้
  4. หลง หรือไม่รู้ วัน เวลา หรือสถานที่ เช่น จำไม่ได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันไหน และที่ยืนอยู่เป็นที่ใด มักแสดงออกในลักษณะ เช่น ผู้ป่วยถามลูกว่า ทำไมวันนี้ไม่ไปทำงาน ทั้งที่เป็นวันหยุด ถ้าไม่สนใจก็จะคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ น่าจะผิดปกติ
  5. หวาดระแวงคนรอบข้างมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น บ่นว่าเงินในธนาคารหายไป ภรรยาเอาแอบเงินไป ลูกชอบขโมยเงิน ระแวงลูกๆ หวังจะเอามรดก
  6. อารมณ์เปลี่ยนแปลง มักมีอารมณ์เศร้าเหงาหงอย หดหู่ท้อแท้นั่งซึมไม่ทำอะไร จากเดิมเป็นคนร่าเริง อารมณ์แปรปรวนขึ้นเร็วลงเร็ว เช่น คุยอยู่ดีๆ ก็หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ด่ารุนแรง บุคลิกก้าวร้าว บางครั้งก็ลงไม้ลงมือ

คนเราสามารถลืมได้ โดยที่ไม่ได้เป็นโรคอะไรเลยแต่ในสภาพสังคมทุนนิยมที่รีบเร่ง ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง เรามีสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น ชีวิตซับซ้อนมากขึ้นการลืมก็จะมากขึ้นได้ เพราะสิ่งที่ต้องจำมากกว่าเดิมพักผ่อนที่น้อยลง เราจึงได้ยินคนรอบข้างบอกว่าขี้ลืมมากขึ้น ดังนั้น เราจึงควรดูแลสุขภาพ ทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ มีอารมณ์มีสดใสอยู่เสมอ และการมองโลกในแง่ดีก็ช่วยให้ความจำดีขึ้นได้อีกด้วย

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล