เล่นเฟซบุ๊กมากไป ทำเด็กสาวเสี่ยงกินอาหารผิดปกติ

by kadocom @28-2-54 09.43 ( IP : 203...34 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 306x231 pixel , 33,162 bytes.

นักวิจัยเตือนเด็กหญิงวัยทีนที่ใช้เวลากับเฟซบุ๊กเป็นชั่วโมง มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ งานศึกษาล่าสุดเผยว่า ยิ่งใช้เวลาท่องเว็บไซต์เครือข่ายสังคมมากเท่าไหร่ ยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นที่เด็กสาวจะป่วยเป็นโรคบูลีเมียและอะนอเร็กเซีย

การศึกษาเด็กหญิงอายุ 12-19 ปี พบว่าถ้าเล่นเฟซบุ๊กมากๆ เด็กมักหมกมุ่นกับการอดอาหารขั้นรุนแรง การตามเทรนด์แฟชั่นและดนตรีในเว็บ ยังส่งเสริมให้เด็กสาวมองตัวเองในแง่ลบมากขึ้น และมีทัศนคติที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในเรื่องอาหาร

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไฮฟาในอิสราเอลพบว่า ความเสี่ยงอาจลดลงหากพ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการใช้อินเทอร์เน็ตของลูก ความผิดปกติในการกินอาหารครอบคลุมกว้างขวางทั้งความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและน้ำหนักตัว

งานศึกษาล่าสุดจาก ศาสตราจารย์เยล แลตเซอร์ ต้องการตรวจสอบผลกระทบจากสองปัจจัยที่มีต่อพัฒนาการในความผิดปกติในการกินอาหารในหมู่เด็กสาวคือ การรับสื่อและการเพิ่มอำนาจและศักยภาพให้ตัวเอง เด็กหญิง 248 คนที่เข้าร่วมการศึกษาถูกสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเล่นอินเทอร์เน็ตและการดูทีวี รวมถึงถูกสอบถามว่ารายการทีวียอดฮิตสร้างมาตรฐานที่สุดโต่งเกินไปในด้านภาพลักษณ์และรูปร่างมากน้อยเพียงใด

กลุ่มตัวอย่างยังต้องทำแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบทัศนคติเกี่ยวกับการลดความอ้วน โรคบูลิเมีย ความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ แนวโน้มทั่วไปในการกินอาหาร ความรู้สึกที่มีต่อการพัฒนาตัวเอง ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า แฟชั่นและดนตรีบ่งชี้แนวโน้มคล้ายกัน แต่นำไปสู่ความผิดปกติในการกินอาหารไม่กี่รูปแบบเท่านั้น

นักวิจัยพบความเชื่อมโยงโดยตรงที่เหมือนกันระหว่างการดูซีรี่ส์ทางทีวี เช่น กอสสิป เกิร์ล กับความผิดปกติในการกินอาหารในวัยรุ่นหญิง กระนั้น ข่าวดีสำหรับพ่อแม่คือ หากเข้าไปดูแลการใช้เวลาว่างของลูกอย่างใกล้ชิดจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญและมีศักยภาพมากขึ้นหากพ่อแม่รู้ว่าตนดูอะไรในเว็บ และพูดคุยเรื่องพฤติกรรมการท่องเน็ตด้วยกัน แต่จะรู้สึกในทางตรงกันข้ามถ้าพ่อแม่ไม่เข้ามารับรู้พฤติกรรมการรับสื่อโดยตรง แต่พยายามห้ามหรือจำกัดเวลาในการเล่นเฟซบุ๊ก

นักวิจัยกล่าวว่า แนวโน้มความสำเร็จในการวิจัยในอนาคตและการป้องกันความผิดปกติในการกินอาหาร ขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจว่าการตัดสินใจของพ่อแม่ส่งผลต่อความรู้สึกในการมีศักยภาพและความสำคัญของลูกอย่างไร เนื่องจากการส่งเสริมความรู้สึกดังกล่าวจะทำให้เด็กรู้สึกดีกับภาพลักษณ์ของตัวเอง

“การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่มีศักยภาพอย่างมากในการป้องกันความผิดปกติในการกินอาหารของลูก”

ด้านโฆษกเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นต่องานศึกษานี้ว่า แม้เด็กถูกแวดล้อมด้วยภาพนางแบบหรือดาราที่ตัดแต่งด้วยโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อให้หุ่นและหน้าตาสวยงามกว่าความเป็นจริง แต่ขณะเดียวกัน เด็กยังได้อยู่กับเพื่อนในโลกจริง ดังนั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าเฟซบุ๊กทำให้เด็กมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะมีพฤติกรรมการกินผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่างานวิจัยนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 200 กว่าคนเท่านั้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล