ปฏิบัติธรรมะ 9 ข้อช่วยให้สุขกายสุขใจ

by kadocom @27-1-54 08.43 ( IP : 203...38 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 285x145 pixel , 9,625 bytes.

ร่วมชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพื่อต้อนรับศักราชใหม่กันด้วยการฟังบรรยายธรรมภายใต้หัวข้อ "ธรรมบรรณาการ ขับขานปีกระต่าย"

จากพระครูสิริธรรมภาณ เจ้าอาวาสวัดละหาร จังหวัดนนทบุรี กิจกรรมดีๆ ที่ทางโรงพยาบาลนครธนได้จัดขึ้น เพื่อช่วยทำให้จิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ ผ่านธรรมะ 9 ข้อ ที่หากน้อมนำไปใช้แล้วจะนำมาซึ่งความสุขกายสุขใจต่อผู้ปฏิบัติ พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวถึงธรรมะ 9 ข้อที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถมีความสุขได้ตลอดไปนั้น เริ่มจากธรรมะข้อแรกคือ "การยิ้มให้ออก" สำหรับการยิ้มให้ออกนั้นประกอบด้วยสองเรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง การมองโลกในแง่ดี เพราะการมองโลกในแง่ดีนั้น จะช่วยทำจิตใจเป็นสุขและสามารถยิ้มออกได้ พร้อมกันนี้ พระครูสิริธรรมภาณได้ยกตัวอย่างชายขาเป๋ ที่มักชอบโทษตนเองว่าทำไมเกิดมาขาเป๋ แต่ขณะเดียวกันหากชายขาเป๋รู้จักมองโลกในแง่ดี เขาก็จะรู้สึกว่าอย่างน้อยตนเองก็เกิดมามีขาครบทั้ง 2 ข้าง ไม่ได้พิการหรือเกิดมามีขาข้างเดียว หรือพิการทั้งแขนและขาอย่างเช่นคนพิการซ้ำซ้อน เป็นต้น และหากชายขาเป๋คิดได้เช่นนั้นเขาก็จะยิ้มออกมาได้

ส่วนเรื่องที่ 2 นั้น คือ การปลงให้เป็น เพราะทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีดีและชั่วปะปนกันไป เช่นเดียวกับเหรียญบาทที่มี 2 ด้าน ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านร้ายนั่นเอง ดังนั้น หลักของการปลงคือ หากมีสิ่งใดที่ทำให้เราไม่พอใจและไม่ถูกใจก็ควรปล่อยวาง และคิดว่าทุกอย่างนั้นย่อมมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายปะปนกันไป หรือพูดง่ายๆ ว่า มีเกิดก็ย่อมต้องมีดับ เป็นต้น เมื่อคิดได้เช่นนั้นจิตใจของเราก็จะไม่เป็นทุกข์ พระครูสิริธรรมภาณกล่าว

ธรรมะข้อที่ 2 คือ "กินให้อิ่ม" ซึ่งมีสองความหมาย คือ

  1. การหาหรือการออมทรัพย์ไว้เพื่อให้พอกินในยามแก่ชรา โดยที่เราไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

  2. การเลือกกิน ซึ่งการเลือกกินนั้น พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวว่า คือการที่เราเลือกรับประทานในสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ผักหรือผลไม้ที่สามารถหาได้ภายในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ของเรา โดยไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาหรือรับประทานอาหารเลิศรสจากประเทศใดๆ เลย

ธรรมะข้อที่ 3 คือ "งานให้อึด" พระครูสิริธรรมภาณกล่าวถึงการทำงานในแต่ละช่วงวัยว่า จะมีลักษณะและหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่การทำงานให้อึดในที่นี้ หมายถึงการทำบุญและทำทานเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกหลาน ซึ่งถือเป็นงานที่ปู่ย่าตายายควรที่จะปลูกฝังให้ลูกหลานปฏิบัติสืบต่อไปนั่นเอง

ธรรมะข้อที่ 4 คือ "เงินให้ออม" โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีอายุมากแล้วนั้น ควรเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามแก่ชรา และหากจำเป็นต้องมีการแบ่งทรัพย์สินต่างๆ พ่อแม่ไม่ควรแบ่งให้ลูกหลานหมด แต่ควรเหลือไว้ส่วนหนึ่งสำหรับที่ตนเองจะใช้ประกอบอาชีพหรือทำกิจการต่างๆ ในยามที่ต้องอยู่ห่างไกลลูกหลาน

ธรรมะข้อที่ 5 คือ "อบายมุขให้อด" สำหรับอบายมุขที่กล่าวมานี้มี 6 อย่างด้วยกัน

  1. การดื่มเหล้า
  2. การเที่ยวยามค่ำคืน
  3. การชอบดูหนังหรือละครโขนต่างๆ
  4. การคบคนชั่ว
  5. การเล่นการพนัน
  6. การขี้เกียจทำกิน ซึ่ง อบายมุขทั้ง 6 ข้อนี้ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงให้ห่างไกล ไม่เช่นนั้นจะนำมาซึ่งความเสื่อมและทำให้ชีวิตตกต่ำได้ โดยเฉพาะเรื่องของการเล่นการพนัน

ธรรมะข้อที่ 6 คือ "โทสะให้อั้น" พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวว่า ความโกรธนั้นสามารถทำลายล้างทุกสิ่งได้ ดังนั้น ผู้ที่โกรธควรระงับความโกรธด้วยการไม่โกรธ และพยายามตั้งสติคิดหาเหตุผลหรือที่มาของความโกรธ ขณะเดียวกันพยายามมองโลกในแง่ดีแล้วความโกรธก็ค่อยๆ ลดลง

ธรรมะข้อที่ 7 คือ "ครอบครัวให้อบอุ่น" กล่าวได้ว่ารถทุกคันย่อมมีนอตไว้คอยยึดส่วนต่างๆ ของรถยนต์ไว้ ครอบครัวก็เช่นเดียวกัน เพราะครอบครัวจะอบอุ่นได้ทุกคนในบ้านไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็ต้องรักใคร่สมัครสมานกลมเกลียวประนีประนอมซึ่งกันและกัน เฉกเช่นรถยนต์กับนอตที่ต้องประกอบและเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน รถยนต์จึงจะวิ่งได้

ธรรมะข้อที่ 8 คือ "มีดีให้อวด" สำหรับสิ่งใดที่เป็นเรื่องดีควรทำให้ลูกหลานได้เห็น เช่น การทำบุญทำทานหรือการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกๆ ขณะเดียวกันถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น การที่พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ควรทำในห้องหรือที่ลับเพื่อไม่ให้ลูกหลานได้ยินและเห็นในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือเมื่อพ่อแม่กำลังดื่มสุราอยู่นั้น ก็ไม่ควรให้ลูกหลานไปซื้อให้ เพราะจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กซึมซับและเสพอบายมุขเข้าไปโดยไม่รู้ตัว

ธรรมะข้อที่ 9 คือ "มีศาสนามาอิง" สำหรับธรรมะข้อสุดท้ายนั้น พระครูสิริธรรมภาณ กล่าวว่า ควรน้อมนำแนวทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ โดยเฉพาะเรื่องของความไม่ประมาท โดยการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามหากเราตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาท ความเสียหายหรือความผิดพลาดก็จะไม่เกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน.

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล