อัดบุหรี่จัด เสี่ยงสมองเสื่อมเพิ่มเท่าตัว

by kadocom @17-11-53 08.49 ( IP : 203...38 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 300x244 pixel , 43,887 bytes.

นักวิจัยเตือนการสูบบุหรี่จัดในช่วงวัยกลางคนอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมถึงเท่าตัวในอีก 2 ทศวรรษให้หลัง

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตนับล้านรายในแต่ละปีจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ

“งานศึกษาของเราบ่งชี้ว่า การสูบบุหรี่จัดระหว่างช่วงวัยกลางคนจะทำให้ความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองสำหรับผู้ชายและผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว” ราเชล วิตเมอร์ นักวิจัยจากไคเซอร์ เพอร์มาเนนต์ในโอ๊กแลนด์ แคลิฟอร์เนีย และเพื่อนนักวิจัยร่วมกันรายงานไว้ในอาร์ไคฟ์ส ออฟ อินเทอร์นอล เมดิซิน

นักวิจัยทีมนี้ระบุว่า การสูบบุหรี่ยังเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ และสำหรับการค้นพบครั้งใหม่นี้แสดงถึงภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต เมื่อคนเรามีแนวโน้มเป็นโรคสมองเสื่อมอยู่แล้ว

ทีมของวิตเมอร์วิเคราะห์ข้อมูลจากสมาชิกแผนสุขภาพ 21,123 คนที่มีส่วนร่วมในการสำรวจขณะอายุ 50-69 ปี

รายงานกล่าวว่า อาสาสมัคร 5,367 คน หรือ 25% ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมบางประเภทระหว่างการติดตามผลนานกว่า 20 ปี ในจำนวนนี้รวมถึง 1,136 คนที่ถูกระบุว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์เป็นอาการที่พบมากที่สุดในกลุ่มอาการสมองเสื่อม และเป็นโรคทางสมองที่อันตรายมากโดยที่ผู้ป่วยจะค่อยๆ สูญเสียความทรงจำและความสามารถในการอธิบายเหตุผลและดูแลตัวเอง ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 26 ล้านคน

งานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า คนที่สูบบุหรี่วันละ 2 ซองขึ้นไปมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองเพิ่มขึ้น

“ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่สูบบุหรี่จัดเท่านั้น หรือพูดอีกอย่างได้ว่า ไม่ใช่ว่าถ้าคุณสูบบุหรี่น้อยแล้วคุณจะปลอดภัย อย่าได้แน่ใจอย่างนั้น”

วิตเมอร์อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่วันละ 2 ซองขึ้นไปมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 114% และเพิ่มขึ้น 157% สำหรับโรคอัลไซเมอร์ และ 172% ในส่วนโรคสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมอง

วิตเมอร์เสริมว่า เป็นการยากที่จะศึกษาผลจากการสูบบุหรี่ที่ต่อสุขภาพสมอง เนื่องจากผู้ที่สูบบุหรี่จัดมักเสียชีวิตจากโรคอื่นก่อน

“นี่เป็นครั้งแรกที่บางคนสามารถมองเห็นผลในระยะยาวได้จริงๆ เรารู้กันมานานแล้วว่าการสูบบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพโดยรวม แต่ผลศึกษานี้จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าสมองได้รับความเสี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่าทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ถึง 5 ล้านราย และประชากรวัยผู้ใหญ่ 430,000 รายเสียชีวิตจากการหายใจเอาควันบุหรี่ของผู้อื่นเข้าปอดในแต่ละปี

นอกจากนั้น รายงานที่ออกมาเมื่อเดือนที่แล้วยังระบุว่า ต้นทุนการรับมือกับโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะสูงถึง 604,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือมากกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลก 1% และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นต่อไปตามจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าเมื่อถึงปี 2050

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล