วุ้นในตาเสื่อม'ภัยจากคอมพิวเตอร์

by kadocom @29-7-53 08.34 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 311x247 pixel , 52,431 bytes.

ในลูกตาของคนเราจะมีวุ้นบรรจุอยู่ ภายใน น้ำวุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Floaters) เป็นภาวะเสื่อมของน้ำวุ้นซึ่งหล่อเลี้ยงลูกตาเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยที่น้ำวุ้นตาจะเริ่มละลายเป็นน้ำตรงกลางก่อน (Viteous Liquefaction) เมื่อเป็นมากขึ้นจะเกิดการร่อนตัวของน้ำวุ้นออกจากจอประสาทตา (Posterior Vireous Detachment) ระยะนี้มักพบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป น้ำวุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับตาทั้ง 2 ข้างแต่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาต่างกัน

สาเหตุการเกิด

ในอดีตเราเชื่อว่าภาวะนี้ทุกคนหนีไม่พ้นอยู่แล้ว จะเป็นเร็วหรือช้าเท่านั้นเองเพราะเป็นความเสื่อมที่เกิดเมื่อวัยที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับผมหงอก หรือรอยตีนกา แต่ในปัจจุบันเราพบว่าปัจจัยบางอย่างซึ่งส่งผลให้เกิดความเสื่อมของน้ำวุ้นในตาเร็วกว่าปกติ เช่น คนที่สายตาสั้นมากๆ คนที่มีการอักเสบในลูกตา คนที่เคยได้รับการผ่าตัดตาหรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะมาก่อน

แม้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกว่าวุ้นในตาเสื่อม เกี่ยวกับการใช้สายตาหรือจอชนิดใดๆ ก็ตามแต่ก็มีรายงานว่าโรคนี้จะเกิดกับผู้สูงอายุ หรือคนที่มีอาชีพใช้สายตามากๆ เช่น ช่างเจียระไนพลอยเพราะต้องใช้สายตาเพ่งมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้เราพบว่าคนที่ใช้สายตามากๆ โดยเฉพาะกับคนที่เล่นอินเทอร์เน็ต หรือใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานแต่ละครั้งเป็นเวลานานต่อเนื่อง

เป็นโรควุ้นในตาเสื่อมกันมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการเล่นอินเทอร์เน็ต เล่นเกม อ่านบทความ หรือ อ่านอะไรก็ตามที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์ ล้วนทำให้สายตาเสียได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากการอ่านหนังสือที่เป็นแผ่นกระดาษธรรมดาๆ ระยะห่างระหว่างตากับตัวหนังสือจะคงที่ เพราะขอบของตัวหนังสือจะคมชัด ทำให้สมองกะระยะโฟกัสได้ถูกต้องแน่นอน กล้ามเนื้อและประสาทตา จึงทำงานค่อนข้างคงที่ แต่ตัวหนังสือบนจอคอมพิวเตอร์มีลักษณะเป็นจุดๆ ประกอบกันเหมือนแขวนลอยบนจอ ขอบของตัวหนังสือไม่ได้ติดอยู่ด้านบนเหมือนอยู่บนแผ่นกระดาษ

การปรับระยะโฟกัสจึงไม่แน่นอน นอกจากนี้ลักษณะการอ่านหนังสือในคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องใช้เม้าส์จิ้มลากแถบด้านข้างจอ เพื่อเลื่อนบรรทัดหนังสือขึ้นลง เพื่อจะอ่านบรรทัดด้านล่างได้ แต่การเลื่อนบรรทัดนี้ไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือจากแผ่นกระดาษ ที่แขนกับคอจะปรับการมองขึ้นลงโดยอัตโนมัติ มีระยะที่แน่นนอนสัมพันธ์กัน แต่การเลื่อนบรรทัดด้วยแถบด้านข้างหรือลูกกลิ้งบนเม้าส์นั้นจะมีลักษณะการเลื่อนแบบกระตุกๆ จึงทำให้ปวดตาได้ เพราะกล้ามเนื้อตาจะต้องบังคับลูกตาให้เลื่อนตามบรรทัดที่กระตุกๆ นั้น ไปตลอด

รวมทั้งการพิมพ์ตัวหนังสือนั้น บางครั้งต้องก้มเพื่อมองนิ้วว่ากดตัวตำแหน่งบนแป้นพิมพ์ถูกตัวอักษรหรือไม่ การก้มและเงยบ่อยๆ ทำให้ตาต้องปรับโฟกัสบ่อยขึ้น เป็นเหตุให้ตาทำงานหนักนอกจากนี้ในการพิมพ์ตัวหนังสือในคอมพิวเตอร์มักนิยมใช้พื้นที่เป็นสีสว่างๆ คือ ตัวหนังสือสีดำ พื้นสีขาว สีพื้นที่สว่างขาว การพิมพ์ติดต่อกันนานๆ และต้องจ้องจอสีขาวนานเกินไป ทำให้ตาเกิดอาการแพ้แสงได้

อาการของน้ำวุ้นในตาเสื่อม คือเราจะมองเห็นจุดหรือเส้นรูปร่างต่างๆ เช่น คล้ายหยากไย่ลอยไปมา เหมือนคราบที่ติดกระจกนั่นแหละ จะเห็นชัดมากขึ้นเมื่อมองไปยังบริเวณที่มีสีสว่าง เช่น ท้องฟ้าขาวๆ ฝาห้องขาวๆ จะเห็นเป็นคราบดำๆ ลอยไปลอยมา จุดหรือเส้นเหล่านี้เกิดจากขณะที่น้ำวุ้นตาละลาย บางส่วนจะจับตัวกันเป็นตะกอน อาการเห็นจุดหรือเส้นรูปร่างต่างๆ ลอยไปมานั้นไม่เป็นอันตรายและไม่จำเป็นต้องรักษาและไม่ต้องทำอะไร นานวันเข้าก็มักจะชินไปเอง

แต่ก็ควรจะไปตรวจตาเป็นครั้งคราวตามที่แพทย์แนะนำนะคะหรือกรณีที่มีความผิดปกติมากขึ้น เช่น ถ้าเห็นจุดดำ เส้นดำ หยากไย่ เพิ่มมากขึ้นจนผิดสังเกต (มากกว่า 10 จุด) ตามัวลงอย่างรวดเร็ว การเห็นภาพเหมือนมีม่านสีดำ เทามาบังส่วนหนึ่งส่วนใดของลานสายตา เห็นแสงคล้ายแสงฟ้าแลบเกือบตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนซึ่งมักจะเห็นทางด้านหางตา หรือมองเห็นแสงแฟลชในที่มืด ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา อาการเหล่านี้แสดงว่าขณะที่น้ำวุ้นตาร่อนตัวออกจากจอประสาทตาอาจเกิดการฉีกขาดของจอรับภาพ เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบพบจักษุแพทย์อย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจดูจอประสาทตาเพราะถ้าจอรับภาพหลุด ก็จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยากและเป็นกรณีเร่งด่วน กรณีจอรับภาพหลุดซึ่งเป็นอันตรายเพราะอาจทำให้ตามบอดได้นั้นเราจะนำมาพูดคุยกันในโอกาสต่อไปนะคะ

การดูแลตนเอง เมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นก็ควรพักสายตา พยายามอย่าเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าออกแรงหนัก อย่าหักโหมงานพยายามอย่าหันหน้าเร็วๆ ให้ทำอะไรช้าๆ ลงบ้างและทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่าให้ขาดวิตามินและเกลือแร่นะคะ สำหรับคนที่ยังไม่มีอาการนี้ก็ขอแนะนำว่าอย่าใช้สายตา โดยเฉพาะกับจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรเว้นช่วงพักสายตาเป็นพักๆ อาจใช้วิธีหลับตาสักครู่ หรือจะใช้มือคลึงเบาๆด้วยก็ได้ หรือให้พักสายตาโดยมองออกไปไกลๆ เกินกว่า6 เมตรขึ้นไป โดยเลือกมองบริเวณที่มีต้นไม้สีเขียวหรือวัตถุสีเขียวธรรมชาติ จะทำให้สายตาได้รับการพักผ่อนได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามกีฬา

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล