'เหล้า'เหตุสร้างความรุนแรง

by kadocom @21-7-53 13.27 ( IP : 202...18 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 225x215 pixel , 54,698 bytes.

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดื่มสุรานั้นเป็นสาเหตุหลักที่นำมาสู่การกระทำรุนแรงในผู้หญิงและเด็ก ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติของการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในผู้ชายจำนวน 22,925 คน

จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉลี่ยวันละ 63 คน หรือชั่วโมงละ 3 คน นายจะเด็จ เชาว์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทำการวิจัยปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนั้น พบว่า ประมาณ 70% ของผู้ชายที่ดื่มสุรานั้นมักจะนำความรุนแรงมาสู่ครอบครัว ขณะเดียวกันแนวคิดที่ว่าผู้ชายเป็นใหญ่นั้นยังไม่ถูกลบเลือนไปจากสังคมไทย

จึงทำให้โลกของผู้ชายอยู่กับการดื่มสุราเป็นหลัก และสาเหตุสำคัญที่ผู้ชายดื่มสุรานั้น 1.มาจากความต้องการเพื่อน 2.ต้องการแสดงความมีอำนาจ ความเป็นใหญ่ และเมื่อสุราถูกอธิบายให้ออกมาในลักษณะนี้ในขณะที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับแนวคิดผู้ชายเป็นใหญ่ จึงทำให้ผู้ชายส่วนใหญ่หันไปดื่มสุรา และเมื่อดื่มแล้วก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงแสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงด้วยการทุบตีภรรยา โดยมีสุราเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรง

สถิติของผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากข้อมูลของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกทำร้ายในปี 2552 พบว่า มีผู้เข้ารับบริการทั้งหมด 22,925 คน ถ้าคิดโดยเฉลี่ยแล้วตกวันละ 63 คนหรือชั่วโมงละ 3 คน โดยแบ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 12,031 คน

และผู้หญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป 10,894 คน และเพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึง 228% ขณะเดียวกัน ทางด้านมูลนิธิเพื่อนหญิงทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ พบว่า มีผู้หญิงและเด็กถูกระทำรุนแรง โดยได้มาเข้ารับการช่วยเหลือเฉลี่ยปีละ 2,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 40% ซึ่งสาเหตุหลักที่ผู้หญิงและเด็กเหล่านี้ถูกทำร้ายมาจากการดื่มสุราในผู้ชายนั่นเอง

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหานั้น นายจะเด็จกล่าวว่า คิดว่าสิ่งที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรกคือ การเชิญชวนและรณรงค์ให้ผู้ชายนั้นหันมาเลิกดื่มสุรา และใช้ผู้ชายที่เคยดื่มสุรามาเป็นต้นแบบ โดยนำประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ดื่มสุรา มาถ่ายทอดให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นผลเสียหรือด้านลบในการดื่มสุราทั้งต่อตนเองและครอบครัว

โดยการเข้าไปทำความคุ้นเคยและคลุกคลีกับผู้ที่ชอบดื่มสุรา และใช้หลักปรับทุกข์ผูกมิตร คอยรับฟังปัญหา และให้คำปรึกษา ตลอดจนการให้กำลังใจในผู้ดื่มสุรา และโน้มน้าวใจจนนำมาสู่การเลิกดื่มสุราในที่สุด แต่วิธีนี้จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อาศัยความสนิทคุ้นเคยในการเข้าไปมีส่วนรับรู้ปัญหาและคอยอยู่เคียงข้าง

ส่วนแนวโน้มในอนาคตนั้น การถูกกระทำรุนแรงในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ นายจะเด็จกล่าวว่า คิดว่าเพิ่มขึ้น เพราะจากสถิติที่เราได้รับทราบกันนั้นมันมีลักษณะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยจะเห็นได้จากการที่ในปัจจุบัน มีผู้หญิงจำนวนมากออกมาร้องทุกข์จากการถูกทำร้ายกันเป็นจำนวนมาก ผ่านทางบริการสายด่วน หรือการเข้ามาขอความช่วยเหลือจากบ้านพักฉุกเฉินที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งถ้าคิดเป็นเป็นเปอร์เซ็นต์นั้น จะเพิ่มประมาณ 5% และคงไม่มากไปกว่า นี้

แต่ในระยะยาวถ้าหากเราช่วยกันป้องกันโดยวิธีที่กล่าวมา คิดว่าแนวโน้มการที่ผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงอาจจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ชายได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติในเรื่องของการดื่มสุราให้ลดน้อยลง ฉะนั้น ปัญหาในเรื่องของการถูกกระทำรุนแรงที่เกิดจากผู้ชายก็จะลดลงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้เวลาและคาดว่าคงอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าจึงจะเห็นผล

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล