ปรึกษาก่อนสมรส อนาคตสดใสกว่า

by kadocom @15-1-53 08.57 ( IP : 202...24 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 52,298 bytes.

การที่คู่รักมาปรึกษาก่อนสมรสนั้น เป็นการวางแผนครอบครัวที่เป็นมิติใหม่ ถือเป็นการป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หลังจากสมรสหรือตั้งครรภ์แล้ว สูตินรีแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวยังให้คำแนะนำในหลายๆ ด้าน โดยคู่รักที่มาปรึกษานั้นอาจมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วแต่ต้องการตรวจก่อนปล่อยให้มีครรภ์ ซึ่งการดูแลทั้ง 2 กรณี จะคล้ายคลึงกันดังต่อไปนี้

ตรวจสุขภาพร่างกาย

เริ่มจากการซักประวัติแยกทีละคน โดยไม่เปิดเผยให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ในเรื่องเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง และเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ยกเว้นคู่รักยอมเปิดเผยหรือรู้แล้ว ซักประวัติรอบประจำเดือนและการปวดประจำเดือนด้วย ซึ่งประวัติเหล่านี้จะมีประโยชน์มากในการให้คำปรึกษาในขั้นต่อไป จากนั้นจะตรวจร่างกายทั่วไป อาทิ ชีพจร ความดันโลหิต โดยไม่จำเป็นต้องตรวจภายใน ยกเว้นคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์เกิน 3 ปี และยินยอมให้ตรวจ
ตรวจเลือด

รายการเลือดที่ตรวจมีดังนี้

  1. ระดับน้ำตาลในเลือด

  2. กรุ๊ปเลือด ABO และ Rh

  3. โรคธาลัสซีเมีย(โรคเลือดจางกรรมพันธุ์) ที่ถ่ายทอดไปสู่บุตรได้ เรียกว่าตรวจ hemoglobin typing

  4. เชื้อไวรัสตับอักเสบบีและภูมิต้านทานเชื้อไวรัสตับอักเสบบี( HBs Ag และ HBs Ab )

  5. โรคซิฟิลิส (VDRL )

  6. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (anti HIV) ก่อนการเจาะเลือด จะให้คำแนะนำ ( pretest counseling ) สำหรับการตรวจ anti HIV และต้องให้ลงนามในใบยินยอมที่จะบอกผลเลือดที่ผิดปกติต่อหน้าทั้ง 2 ฝ่าย

  7. ภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ( Rubella Ig G )ในบางราย

ให้คำปรึกษา

1. ผลเลือด ให้การปรึกษาตามแต่ละชนิด

1.1 กรุ๊ปเลือด กรุ๊ปเลือด D คนไทยไม่ค่อยรู้จัก เป็นคนละชนิดกับกรุ๊ป ABO ถ้าเม็ดเลือดแดงมีกรุ๊ป D เรียกว่ากรุ๊ปเลือดอาร์เอช(Rh)บวก แต่ถ้าไม่มีกรุ๊ป D เรียกว่ากรุ๊ปเลือดอาร์เอช(Rh)ลบ คนไทยส่วนมากมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอช(Rh)บวก มีส่วนน้อยมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอช(Rh) ลบ (ไม่มี กรุ๊ป D) ในหญิงตั้งครรภ์เม็ดเลือดของทารกสามารถผ่านรก ผ่านมดลูก และเข้าไปในกระแสเลือดมารดาได้ โดยเฉพาะในระยะเจ็บครรภ์และคลอดบุตร ถ้าฝ่ายหญิงเป็นRh ลบและบุตรในครรภ์เป็น Rh บวก เม็ดเลือดของทารกที่มีกรุ๊ป D จะกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานต่อกรุ๊ป D ในมารดาในครรภ์แรก แต่บุตรครรภ์แรกจะยังไม่รับผลของภูมิต้านทานนี้ แต่ถ้าบุตรครรภ์ที่สองมี Rhบวก จะมีการกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานสูงขึ้นมากและผ่านรกไปทำลายเม็ดเลือดแดงในทารก ทำให้ทารกมีเลือดจางมากจนหัวใจวายและตัวบวมมาก ดังนั้นถ้าฝ่ายหญิงเป็นRhลบ และตั้งครรภ์แรก ควรจะต้องฉีดยาป้องกันไม่ให้สร้างภูมิต้านทานต่อกรุ๊ปเลือด Rh ในช่วงครรภ์ 7 เดือน และในระยะคลอด ถ้าฝ่ายหญิงเป็น Rh บวกถือว่าปกติ ไม่มีการกระตุ้นภูมิต้านทานในระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนกรุ๊ป ABO ไม่มีผลในการตั้งครรภ์

1.2 โรคธาลัสซีเมีย(โรคเลือดจางกรรมพันธุ์) กรณีคู่รักเป็นพาหะของธาลัสซีเมียคนเดียว บุตรไม่มีโอกาสเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรง ไม่ต้องตรวจทารกในครรภ์ กรณีคู่รักเป็นพาหะของธาลัสซีเมียทั้ง 2 คน จะต้องพิจารณาดูว่าบุตรมีโอกาสเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรงหรือไม่ ถ้ามีโอกาสก็ต้องตรวจทารกในครรภ์ในระยะแรกๆ โดยการดูดเนื้อรกหรือดูดเลือดทารกมาตรวจ ถ้าทารกเป็นโรคเลือดชนิดรุนแรงจึงพิจารณาทำแท้งเพื่อยุติการตั้งครรภ์

1.3 เชื้อไวรัสตับอักเสบบี จากการสำรวจคู่รักพบว่า บางรายเป็นพาหะคือ มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีโดยไม่มีอาการ ถ้าอีกฝ่ายไม่มีภูมิต้านทาน ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันก่อน ทั้งหมด 3 เข็ม ( 0, 1, 6 เดือน ) ในกรณีที่ทั้งคู่ไม่มีเชื้อและไม่มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โอกาสเป็นโรคนี้น้อย แต่คู่รักอยากฉีดวัคซีนก็ได้ ถ้ากลัวติดต่อจากทางอื่น เช่น ได้รับเลือด ฉีดยาเสพติดหรือมีเพศสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น เชื้อไวรัสตับอักเสบบีไม่ติดต่อทางรับประทานอาหารร่วมกัน ปัจจุบันเด็กแรกเกิดจะได้รับการฉีดวัคซีนโรคนี้ทุกคนแล้ว ทั้งนี้เพื่อต้องการกำจัดโรคนี้ให้หมดไป

1.4 โรคซิฟิลิส ( VDRL ผลบวก ) ปัจจุบันพบน้อย แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เชื้อแบคทีเรียนี้สามารถติดเชื้อที่สมองและหลอดเลือดแดงใหญ่จนทำให้เสียชีวิตได้

1.5 โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง พบ anti – HIV บวก พบต่ำกว่า 1 % แต่เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องรับการแนะนำอย่างดี และอาจมีผลต่อการสมรส คู่รักที่มีเลือดบวกนี้ จะต้องรับคำแนะนำอย่างดีและอาจมีผลต่อการสมรส ดังนั้นถ้าจะให้ดีควรมาปรึกษาก่อนสมรสและตรวจให้รู้ผลเลือดก่อนจะแจกบัตรเชิญงานสมรสเป็นดีที่สุด

1.6 ถ้าไม่มีภูมิต้านทานโรคหัดเยอรมัน ควรฉีดวัคซีนป้องกันก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน ฉีดเพียง 1 เข็ม ถ้าติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ทารกมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิดความพิการทางสมองและหัวใจ และมักแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์

2. การฉีดวัคซีนเอชพีวี

จากการที่ค้นพบว่าเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก จึงได้มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี เชื้อไวรัสเอชพีวีมีประมาณ 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกมี 15 สายพันธุ์ วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีในปัจจุบันสามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกเพียง 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18 แต่ 2 สายพันธุ์นี้เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70 วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีขณะนี้มีจำหน่ายอยู่ 2 ชนิด คือ Cervarix และ Gardasil ซึ่งได้ผลดีทั้ง 2 ชนิด วิธีฉีดคือฉีดเข้ากล้ามเนื้อจำนวน 3 ครั้ง โดยฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน (แล้วแต่ชนิดของวัคซีน) และเข็มที่ 3 ฉีด 6 เดือนนับจากฉีดเข็มที่ 1 ภายหลังเริ่มฉีดวัคซีน ไม่ควรตั้งครรภ์ 8 เดือน ( 2 เดือนหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ) ควรใช้ถุงยางคุมกำเนิดป้องกันติดเชื้อและเพื่อรอให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงเต็มที่ก่อน ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องฉีดกระตุ้นซ้ำอีกหรือไม่ จากข้อมูลปัจจุบันพบว่า ระดับภูมิต้านทานยังคงป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีได้นานอย่างน้อย 6.4 ปี

3. การคุมกำเนิด

คู่รักฝ่ายหญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ถ้าอยากมีบุตรอาจไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิดหรือคุมในระยะสั้นๆ ส่วนคู่รักฝ่ายหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี แนะนำให้คุมกำเนิดอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้คู่รักปรับตัวเข้าหากัน ถ้าคู่รักไม่เคยอยู่ด้วยกันมาก่อน นอกจากนี้ให้คู่รักได้มีโอกาสใช้ชีวิตคู่ให้คุ้มค่าซึ่งอาจจะหลายๆปีก็ได้ เพราะถ้าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ ชีวิตคู่ก็จะหมดไป วิธีคุมกำเนิดที่แนะนำคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวมและฮอร์โมนต่ำ เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก โดยเริ่มยาวันแรกที่ประจำเดือนมาก่อนวันสมรส ในกรณีที่คู่รักจะมีประจำเดือนช่วงวันสมรสและช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ก็สามารถเลื่อนประจำเดือนได้โดยการให้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดต่อโดยไม่ต้องหยุดยาให้มีประจำเดือน

4. เพศศึกษา

ในคู่รักที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน แนะนำให้ศึกษาเพิ่มเติมจากตำราเพศศึกษาที่มีจำหน่ายแพร่หลายหรือใน website มากมาย ฝ่ายชายควรรู้ว่าฝ่ายหญิงต้องมีความพร้อมก่อนที่ฝ่ายชายจะมีเพศสัมพันธ์จริง ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 20-30 นาที และควรเตรียมเจลหล่อลื่นสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกๆ นอกจากนี้คู่รักควรจะคุยกันเปิดเผยได้ในเรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างกัน ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถึงจุดสุดยอดหรือไม่ ส่วนในคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์กันแล้วถ้ามีปัญหาก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้ ในหญิงที่มีประวัติปวดประจำเดือนมากในช่วงหลัง ให้ระวังสังเกตว่ามีอาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ถ้ามีให้รีบปรึกษาแพทย์เพราะอาจมีโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งต้องให้การรักษาจึงจะหายปวดและหายเจ็บ

5. การเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

มีการแนะนำให้รับประทานวิตามิน folic acid วันละ 5 มิลลิกรัม(1เม็ด ) ก่อนการตั้งครรภ์ 1 เดือน และตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสเกิดความพิการทางสมองในทารก ให้ฝ่ายหญิงรับประทาน folic acid ก่อนการหยุดคุมกำเนิด 1 เดือนและรับประทานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งครรภ์

6. ภาวการณ์เจริญพันธุ์

หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปกติ เช่น ขาดประจำเดือนบ่อย หรือ 2-3 เดือน มีประจำเดือนมาสักครั้ง หญิงกลุ่มนี้มักมีปัญหาการมีบุตรยาก ดังนั้นให้มาปรึกษาแพทย์แต่เนิ่นๆ ถ้าต้องการมีบุตรเร็ว

7. การใช้ชีวิตคู่

แนะนำว่าการมีชีวิตคู่ จะมีปัญหาการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เสมอ ขอให้คู่รักใช้เหตุผลในการตกลงกัน อย่าใช้อารมณ์ พยายามปรับตัวเข้าหากันให้มากที่สุด ควรคุมกำเนิดก่อนในช่วงแรกอย่างน้อย 1 ปี เผื่อมีปัญหาจริงๆ และมีการหย่าร้าง จะได้ไม่มีปัญหากับบุตรที่เกิดมา

เห็นมั้ยว่าการปรึกษาก่อนสมรสนั้น คู่รักได้ประโยชน์มาก เพราะได้เตรียมตัวเตรียมการเกือบทั้งหมดเป็นอย่างดี ซึ่งค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ไม่สูงนัก ถ้ามาปรึกษาที่สถานพยาบาลของรัฐครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล