ไขข้อข้องใจสารพัดข้อมูลบน ‘ฉลากอาหาร’

by kadocom @5-1-53 08.51 ( IP : 202...24 ) | Tags : มุมวิชาการ
photo  , 200x200 pixel , 79,185 bytes.

ทุกครั้งเวลาที่เราไปเดินช็อปปิ้งเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มตามซูเปอร์มาร์เก็ต เชื่อว่าใครที่เป็นคนฉลาดซื้อ ฉลาดใช้

    ต้องหยิบบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นขึ้นมาพลิกอ่านข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจบนฉลากอาหารอย่างถี่ถ้วนจนเป็นนิสัย การเสียเวลาสักแค่ 2 นาที เพื่อรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเรา มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ถึงอย่างนั้นสารพัดข้อมูลบนฉลากอาหารที่มีมากมายเหลือเกิน จะรู้ได้ยังไงว่าเรากำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเอง

    วันนี้ มีเคล็ดลับในการดูฉลากอาหารบนบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเราเอง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการลดโลกร้อนอีกด้วย

อย่าไว้ใจคำว่า ‘ธรรมชาติ’
    ฉลากที่ระบุว่า “ธรรมชาติ” หรือ “ผลิตในครัวเรือน” “บริสุทธิ์” “สด” หรือ “แบบพื้นบ้าน” จะต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะความหมายคลุมเครือไม่บอกมาตรฐานใดๆ และไม่มีเกณฑ์แจ่มแจ้งชัดเจนเหมือนสินค้าออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์ที่ระบุถ้อยคำเหล่านี้บนฉลากอาหารต้องมีคำอธิบาย เช่น ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ที่โฆษณาว่า “ธรรมชาติ” ก็จะต้องระบุว่า เป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้รับฮอร์โมนหรือยาปฏิชีวนะ ผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า “ธรรมชาติ” ไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบ ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาด้วยตัวเองอย่างรอบคอบ

รู้จักอาหาร ‘ออร์แกนิก’
    อาหาร “ออร์แกนิก” (Organic) หรืออาหารเกษตรอินทรีย์ หมายถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช การฉายรังสี และไม่ใช้สายพันธุ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม การปศุสัตว์แบบออร์แกนิกก็ต้องเลี้ยงด้วยอาหารสัตว์ชนิดออร์แกนิกด้วยเช่นกัน ห้ามเจือปนอาหารจากแหล่งอื่นและห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ

    ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกอาจมีส่วนผสมที่ไม่ใช่ออร์แกนิกได้ไม่เกิน 5% ถ้ามีส่วนประกอบที่เป็นออร์แกนิกเพียง 70-95% ผลิตภัณฑ์นั้นห้ามติดฉลากว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกโดยเด็ดขาด แต่สามารถระบุปริมาณส่วนประกอบออร์แกนิกบนฉลากได้ (ในเมืองไทยมีสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นหน่วยงานตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายตลาดนัดสีเขียวที่ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์)

    ข้อดีของผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก คือ เราสามารถแน่ใจได้ว่าปลอดจากยาฆ่าแมลง ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในผักและผลไม้แทบทุกชนิด แต่เนื่องจากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกอาจจะราคาแพงกว่าอาหารทั่วไป และวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายก็คือ เลือกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เมื่อคุณซื้อผักและผลไม้ที่มักใช้สารเคมีมากๆ ส่วนอาหารที่มีการใช้สารเคมีไม่มากเท่าไหร่ ก็สามารถซื้อจากร้านค้าทั่วไปได้

เลือกซื้ออาหารจาก ‘ธัญพืช’
    ผู้บริโภคส่วนใหญ่สนใจเลือกซื้อธัญพืชแบบไม่ขัดสีมากกว่า เพราะมีสารอาหารที่ครบถ้วนกว่าแบบที่ขัดสี และการเลือกซื้อาหารจากธัญพืช เคล็ดลับก็คือ ให้มองหาฉลากที่ระบุว่า “โฮลวีต” หรือ “โฮลเกรน” เพราะทำจากธัญพืชทั้งเมล็ด

‘ซีเรียล’ ที่มีคุณค่า
    ถ้าอยากกินซีเรียลเป็นอาหารเช้าที่มีคุณค่า ควรอ่านฉลากให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ ดูรายการส่วนประกอบ อย่าเลือกชนิดที่ผลิตจากธัญพืชเต็มเมล็ดและไม่เติมน้ำตาล และขั้นตอนต่อไปให้ดูตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการ ผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องมีใยอาหารอย่างน้อย 3 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ดู ‘หน่วยบริโภค’
    ฉลากอาหารทั่วไปจะระบุปริมาณวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารต่อปริมาณอาหาร 100 กรัม หรือ 100 มล. แต่ผู้ผลิตบางรายอาจบอกปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภค แต่ “หน่วยบริโภค” ในความหมายของผู้ผลิตและผู้ซื้ออาจไม่ตรงกัน การเทียบคุณค่าทางโภชนาการระหว่างผลิตภัณฑ์สองยี่ห้อ ควรเทียบปริมาณต่อหน่วยที่เท่ากันชัดเจน เช่น 100 กรัม หรือ 100 มล.

‘ส่วนประกอบ’ น้อยดีกว่า
    ถ้าเราอ่านส่วนประกอบอาหารบนฉลากทุกครั้ง หากพบว่ามีรายการที่ยาวเหยียดก็แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และมีสารเจือปนหลายชนิด แต่ละชนิดมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น สารกันบูด ช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย จึงช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษ สารช่วยละลาย หรือสารคงรูป อาจช่วยให้ไขมันต่ำมีเนื้อละเอียดไม่จับตัวเป็นก้อน แต่สารปรุงแต่งบางชนิด เช่น สีสังเคราะห์ อาจทำให้แพ้อาหาร เกิดภูมิแพ้ และโรคหอบหืด เป็นต้น

อย่าหลงเชื่อคำโฆษณา
    หากอ่านฉลากอาหารแล้วพบคำว่า “ไม่มีคอเลสเตอรอล” หรือ “ไขมันลดลง 90%” อย่าด่วนตัดสินใจ เพราะคอเลสเตอรอลคือไขมันที่มีในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น เนื้อ ปลา ไข่ และนม อาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ เช่น ซีเรียลจึงไม่จำเป็นต้องระบุบนฉลากว่าไร้คอเลสเตอรอล เว้นแต่ผู้ผลิตตั้งใจระบุไว้เพื่อเป็นจุดขาย เพราะรู้ดีว่ามีผู้บริโภคไม่มากนักที่รู้ข้อเท็จจริง ส่วนอาหารที่ระบุว่า “ไขมันลดลง 90%” แสดงว่ายังมีไขมันผสมอยู่ 10% ซึ่งขนมขบเคี้ยวและเค้กบางยี่ห้อใช้คำนี้หลอกให้เชื่อว่าสินค้าของเขาดีต่อสุขภาพ แต่ที่จริงอาจมีไขมันไม่ต่างจากยี่ห้ออื่นเลย

อย่าหลงเชื่อ ‘อาหารมหัศจรรย์’
    มีอาหารและผลไม้บางชนิดได้รับความนิยมเพราะคำโฆษณาว่าเป็น “อาหารมหัศจรรย์” แต่นักโภชนาการเตือนว่าอย่าด่วนหลงเชื่อ เพราะคำว่า “อาหารมหัศจรรย์” ที่ถูกนำไปกล่าวอ้างอยู่เสมอยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนเชิงกฎหมาย การกินอาหารและผักผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้ในพริบตา  รู้แล้ว ก็อย่าลืมอ่านฉลากอาหารบนผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อทุกครั้ง






ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์

http://www.thaihealth.or.th/node/13296

นายแพทย์ธวัช ลาพินี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล